xs
xsm
sm
md
lg

6 ชาติแถบอ่าวเปอร์เซียบังคับใช้กม. “ห้ามใช้แรงงานตอนกลางวัน” รับสภาพอากาศร้อนระอุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี - หลายประเทศในคาบสมุทรอาหรับเริ่มประกาศใช้ “ข้อห้ามทำงานตอนกลางวัน” ประจำปีในเดือนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้คนงานก่อสร้าง และแรงงานที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้งได้รับอันตรายจากการสัมผัสแสงแดดโดยตรง และอุณหภูมิที่พุ่งสูงสุดขีด ในช่วงเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดในฤดูร้อน

ข้อห้ามดังกล่าวซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในกฎหมายที่เข้มงวดที่สุด มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องแรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ แถบอ่าวเปอร์เซีย และสะท้อนให้เห็นว่า แรงงานอพยพหลายล้านคนซึ่งเป็นกำลังมหาศาลของประเทศต้องเผชิญกับสภาวะการทำงานที่ยากลำบากบ่อยครั้ง โดยพวกเขาทุ่มเทแรงกายเพื่อสร้างตึกสูงระฟ้า ห้างสรรพสินค้า และทางหลวง ตลอดจนโครงการก่อสร้างเมกกะโปรเจ็กต์อื่นๆ ที่ผุดขึ้นทั่วภูมิภาคแห่งนี้

บรรดาผู้รับเหมา และบริษัทที่ถูกจับได้ว่าละเมิดข้อห้ามจะถูกปรับเป็นเงินหลายพันดอลลาร์ และถูกสั่งระงับการดำเนินงานชั่วคราว โดยคณะผู้ตรวจสอบจากกระทรวงแรงงานของประเทศต่างๆ จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ก่อสร้างนับหมื่นแห่ง โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพื่อตรวจดูว่านายจ้างปฏิบัติตามข้อห้ามดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้บังคับใช้ข้อห้ามทำงานตอนกลางวันมาเป็นปีที่ 10 แล้ว ขณะที่ชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เซียอื่นๆ ก็ประกาศใช้มาหลายปีแล้วเช่นกัน

ข้อห้ามดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ 2 ถึง 3 เดือน ได้รับการประกาศใช้ในคูเวตและโอมาน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน, กาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ขณะที่บาห์เรน และซาอุดีอาระเบียจะเริ่มบังคับใช้ในในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ กาตาร์เป็นประเทศที่ประกาศห้ามทำงานในเวลากลางวันนานที่สุดคือ 5 ชั่วโมง ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คือประเทศที่ให้ช่วงพักทำงานสั้นที่สุดคือ 2.5 ชั่วโมง

ในที่ประชุมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ที่นครเจนีวาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บรรดาผู้แทนได้ร่วมหารือกันถึงสนธิสัญญาฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ เพื่อปกป้องพวกเขาไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบและทำร้ายทารุณ กระนั้น ถึงแม้จะมีความพยายาม เป็นต้นว่า การประกาศห้ามทำงานตอนกลางวัน แต่บรรดาประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียก็ยังไม่ยอมออกเสียงสนับสนุนมาตรการใหม่ของนานาชาติ ที่มุ่งป้องกันการบังคับใช้แรงงาน

เกณฑ์วิธีเพื่อป้องกันการบังคับใช้แรงงานได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามจากคณะผู้แทน 437 คน ขณะที่ในบรรดาผู้แทนที่งดออกเสียง 27 คน มีบางส่วนมาจากชาติเศรษฐีน้ำมันแถบอ่าวเปอร์เซีย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย โดยไอแอลโอชี้ว่า ในแต่ละปีการบังคับใช้แรงงานสามารถทำกำไรผิดกฎหมายได้ถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.87 ล้านล้านบาท) และในจำนวนนี้มี 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.76 แสนล้านบาท) มาจากการบังคับใช้แรงงานในภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะที่ภูมิภาคที่ทำกำไรผิดกฎหมายจากการขูดรีดแรงงานได้สูงที่สุดคือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยยอด 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท)



กำลังโหลดความคิดเห็น