xs
xsm
sm
md
lg

นศ.ฮ่องกงหลายพัน ไม่เข้าห้องเรียนฯ ประท้วงประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักศึกษาหลายพันคนมีแผนหยุดเรียนประท้วงหนึ่งสัปดาห์ โดยเป็นการรวมตัวของนักศึกษาหลายพันคนจากสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยมากกว่า 20 แห่ง ซึ่งมีอาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยประมาณ 400 คน เข้าร่วมการชุมนุมด้วย ส่วนใหญ่ต่างสวมเสื้อยีดสีขาวและติดริบบิ้นสีเหลือง อันเป็นสีสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และเริ่มต้นนั่งประท้วงอยู่ภายในมหาวิทยาลัยจีน ในย่านชา ถิ่น (ภาพเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์)
เอเจนซี - นักศึกษาหลายพันคนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฮ่องกง พากันออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ประกาศหยุดเรียนหนึ่งสัปดาห์ โดยรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยจีนในฮ่องกง

สื่อต่างประเทศรายงาน (22 ก.ย.) ว่านักศึกษาหลายพันคนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฮ่องกง พากันออกมาชุมนุมประท้วงโดยรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยจีนในฮ่องกง เพื่อประท้วงต่อต้านอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่แทรกแซงการบริหารเกาะฮ่องกงทั้งที่เคยให้คำมั่นว่าจะยอมให้ชาวฮ่องกงสามารถเลือกตั้งผู้ว่าการฯ ได้โดยตรงในปี 2560

รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 22 ก.ย. นักศึกษาหลายพันคนมีแผนหยุดเรียนประท้วงหนึ่งสัปดาห์ โดยเป็นการรวมตัวของนักศึกษาหลายพันคนจากสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยมากกว่า 20 แห่ง ซึ่งมีอาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยประมาณ 400 คน เข้าร่วมการชุมนุมด้วย ส่วนใหญ่ต่างสวมเสื้อยีดสีขาวและติดริบบิ้นสีเหลือง อันเป็นสีสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และเริ่มต้นนั่งประท้วงอยู่ภายในมหาวิทยาลัยจีน ในย่านชาถิ่น โดยนอกจากการหยุดเรียนประท้วงแล้ว นักศึกษาฮ่องกง ยังมีแผนรณรงค์ให้มีการอารยะขัดขืนทั่วฮ่องกงเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ด้วยการนัดชุมนุมใหญ่ และการเดินขบวนประท้วง กระจายปิดถนนสายธุรกิจใจกลางเมืองด้วย

ด้านกลุ่ม ‘อ็อคคิวพาย เซ็นทรัล’ (Occupy Central) แกนนำการชุมนุมประท้วงเรียกร้องการเลือกตั้งในฮ่องกง ก็ยังได้ประกาศนัดชุมนุมครั้งใหญ่ ในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้ โดยจะมีการระดมกำลังผู้ชุนนุมให้ออกมามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อต่อต้านท่าทีของรัฐบาลจีน ที่เข้ามาครอบงำการเมืองในฮ่องกง จำกัดสิทธิไม่ยอมให้เขตบริหารพิเศษฮ่องกงสามารถจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบตามระบอบประชาธิปไตยได้ หลังจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ประกาศว่า จะเป็นผู้คัดสรรผู้ที่เข้ารับการคัดเลือกเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกงคนต่อไปเอง

กระทรวงศึกษาธิการฮ่องกง แถลงว่า กระทรวงศึกษาธิการฮ่องกงไม่มีนโยบายสนับสนุนการรวมตัวประท้วงของนักศึกษา แต่ก็จะไม่แทรกแซงกิจกรรมนี้เช่นกัน

นายเลสเตอร์ ชุม สมาชิกสหพันธ์นักศึกษาฮ่องกง กล่าวว่า การตัดสินใจเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมของรัฐบาลปักกิ่ง ที่จะเลือกผู้ว่าฯ ฮ่องกงเองนั้น เสมือนทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเมืองขึ้นของลัทธิอาณานิคมจีน ไม่ได้มีความเป็นดินแดนที่มีสองระบอบการปกครองพิเศษอย่างเจตนาเดิมที่เคยประกาศเมื่อครั้งคืนกลับจากสหราชอาณาจักร

นายอเล็ก โจวหยงคัง เลขาธิการทั่วไปสหพันธ์นักศึกษา กล่าวว่า การรวมตัวครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องของนักศึกษา แต่เป็นเรื่องของชาวฮ่องกง และเรียกร้องให้ประชาชนฮ่องกง ออกมาร่วมต่อสู้ และจะกระจายไปที่สวนสาธารณะทามาร์ บริเวณสำนักงานใหญ่รัฐบาล กดดันผู้ว่าฯ เหลียง เจิ้นอิ่ง และคณะผู้บริหารรัฐบาลฮ่องกง

แทมมี่ ยิ่ว นักศึกษาปีหนึ่ง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ซูว์เหยิน กล่าวว่า เขาจะไม่เงียบนิ่งเฉย และเมื่อสังคมต้องแบ่งฝ่าย เขาก็ไม่ต้องการจะเลือกยืนผิดข้าง

ดร. ชาน คินมั่น นักสังคมวิทยาฯ มหาวิทยาลัยจีน ซึ่งเป็นผู้ประสานงานการประท้วง กล่าวว่าตนเองไม่ได้เป็นคนขอร้องให้นักศึกษาออกมาชุมนุม แต่รู้สึกดีใจที่นักศึกษาในคณะสังคมฯ ของตนนั้นร่วมออกมาชุมนุมเกินกว่า 2 ใน 3

ขณะที่รัฐบาลฮ่องกง ได้แถลงว่า เคารพสิทธิในการชุมนุมทางการเมืองของบรรดานักศึกษา แต่ก็เชื่อมั่นว่าการบริหารฯ ของรัฐบาลเป็นไปในทางที่ดีต่อทุกฝ่าย และพัฒนาการเมืองไม่ให้ย่ำอยู่กับที่

ก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายเดือนก.ค. ที่ผ่านมา นักวิจัยของมหาวิทยาลัยหลิงหนัน ได้ทำรายงานสำรวจในหัวข้อว่า ชาวฮ่องกงต้องการให้มีการเลือกตั้งแบบหนึ่งเสียงกาได้เบอร์เดียว ( one-man, one-vote election) ในการเลือกตั้งหัวหน้าคณะผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงปี 2560 อยู่อีกหรือไม่ แม้จะไม่พอใจกระบวนการเสนอชื่อผู้ลงสมัครแข่งขันของรัฐบาลจีนก็ตาม โดยมีการสำรวจความเห็นกันทางโทรศัพท์

จากจำนวนผู้ถูกสำรวจทั้งหมด 1,017 คน พบว่า ร้อยละ 55 ยอมรับ และร้อยละ 36.5 ไม่ยอมรับ ที่เหลือเป็นพวกที่ไม่แน่ใจ โดยผลสำรวจนี้คล้ายคลึงกับการสำรวจเมื่อเดือนพ.ค. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำถามเดียวกัน

นอกจากนั้น ยังพบว่า ความเห็นของชาวฮ่องกงเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งดังกล่าวเริ่มมีการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยผู้ถูกสำรวจ ซึ่งเคยเป็นกลางและไม่เลือกข้างทั้งฝ่ายนักการเมืองที่สนับสนุนจีน และฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย เริ่มจะเอนเอียงสนับสนุนวิธีการเลือกตั้ง ซึ่งชาวฮ่องกงไม่พอใจนี้ และเริ่มมีความเห็นเดียวกับฝ่ายสนับสนุนจีนมากขึ้น โดยพบว่า คนกลุ่มนี้ยอมรับวิธีการเลือกตั้งนี้ถึงร้อยละ 61.3 ซึ่งมากกว่าเมื่อเดือนพ.ค. ซึ่งมีร้อยละ 50.6

ในขณะที่พวกสนับสนุนประชาธิปไตยเริ่มแข็งกร้าวมากขึ้น และพร้อมจะปฏิเสธระบบการเลือกตั้ง ที่ไม่น่าพอใจนี้เช่นกัน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้สังคมฮ่องกงเกิดการเผชิญหน้ากันมากขึ้น










กำลังโหลดความคิดเห็น