xs
xsm
sm
md
lg

คสช. จะอยู่กับจีนและเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล



วานนี้ (22 ก.ย.) เป็นวันครบ 4 เดือนเต็มของการเข้าควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช., ผู้บัญชาการทหารบก และนายกรัฐมนตรี ควบ 3 ตำแหน่ง

การเข้าควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของ คสช. มาเป็นระยะเวลาสี่เดือนจนมี รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกำลังจะมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นับว่าเป็นความคืบหน้าในระดับหนึ่งตามโรดแม็ปที่ทาง พล.อ.ประยุทธ์ และคสช. ได้ระบุไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ

อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ไปเหตุผลของการเข้าควบคุมอำนาจเพื่อสร้างเสถียรภาพ และ รักษาความสงบสุขของประเทศและประชาชน คงจะไม่เพียงพอที่จะทำให้การขับเคลื่อนประเทศของ คสช. เป็นไปได้อย่างราบรื่นเหมือนในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ และคสช.จะต้องเผชิญแรงกดดันจากภายในที่เชื่อมโยงกับภายนอก ซึ่งนับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แรงกดดันภายใน ปรากฎชัดว่ากลุ่มเสื้อแดง หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดิม ได้จัดตั้งองค์กรและเครือข่าย ที่มีองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย นำโดย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และนายจักรภพ เพ็ญแขขึ้นมา ซึ่งนับวันเครือข่ายนี้ก็ยิ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับ คสช. มากขึ้นเรื่อยๆ ที่เห็นได้ชัดคือกรณีของ น.ส.กริชสุดา คุณะเสน แนวร่วมคนเสื้อแดงที่หลบหนีออกนอกประเทศไปยังทวีปยุโรป และเป็นหนามยอกอกของ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. อยู่ในปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์ขององค์กรเครือข่ายของคนเสื้อแดงที่มีเงาของ “คนแดนไกล” อยู่เบื้องหลัง ชัดเจนว่า คือ ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศ ที่ใช้ต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 จนกระทั่งถึงยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นการเชิญ นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน สองขั้วมหาอำนาจของโลกมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ หรือการขับเคลื่อนอื่นๆ ที่มีการสอดประสานกันอย่างเป็นระบบ

สถานการณ์หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. ยิ่งปรากฎชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศของกลุ่มเสื้อแดงและคนแดนไกลยังดำรงอยู่ และมีความก้าวหน้ากว่าเดิมอย่างมาก อันปรากฎหลักฐานชัดเจนคือท่าทีของทูตจากประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป อย่างเช่น นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศไทย ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ยอมรับการรัฐประหาร ทั้งพยายามให้การสนับสนุนคนเสื้อแดงและคนของอดีตรัฐบาลในระบอบทักษิณอยู่เนืองๆ หรือ นายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ที่เมื่อเร็วๆ นี้กลับมาเขียนบล็อก โดยอ้างว่าเป็นบล็อกส่วนตัว แต่เน้นเขียนเรื่องปัญหาภายในประเทศไทย โดยหยิบยกปมปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ และกระทบชิ่งไปยังเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 อันมีเนื้อหาทำนองกล่าวเตือน และสั่งสอนคนไทยเรื่องระบอบประชาธิปไตย รวมไปถึงเสรีภาพในความเชื่อ การแสดงความคิดเห็น และสิทธิมนุษยชน

ภายหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. เปลวเพลิงแห่งความขัดแย้งภายในประเทศดูคล้ายว่าจะสงบลงชั่วคราว ด้วยอำนาจจากกำปั้นเหล็กของ คสช. ทว่า เปลวไฟแห่งความขัดแย้งบางส่วนเหมือนว่าจะถูกนำออกไปสุมที่ภายนอกแทน

สี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนดูจะเป็นประเทศมหาอำนาจเพียงชาติเดียวที่สงวนท่าทีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย ตามหลัก “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน” หนึ่งในหลัก 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันเป็นหลักการพื้นฐานทางการทูตที่จีนค่อนข้างยึดถืออย่างเคร่งครัดมาตลอด

นายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล (แฟ้มภาพ)
ท่าทีและการวางตัวที่เป็นมิตรของรัฐบาลจีนรวมถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงต่อ คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อให้เกิดเสียงสนับสนุนและการโยนหินถามทางจากปัญญาชน และผู้นำในสังคมจำนวนไม่น้อยว่า แทนที่จะหันไปพึ่งพามหาอำนาจจากตะวันตกเหมือนกับที่เคยทำมา เราควรใช้โอกาสนี้ในการหันกลับมาคบหาสมาคม สานสัมพันธ์และประสานประโยชน์กับจีนและประเทศเพื่อนบ้านกันให้มากกว่าเดิมดีหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ผมพบว่าความคลุมเครืออันเนื่องมาจากสาเหตุของการรัฐประหาร 22 พ.ค. รวมถึงการขาดความชัดเจนในการดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุความรุนแรงในบ้านเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของทางการจีน รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านของเราในอาเซียนขาดความเชื่อมั่นต่อ การเข้าควบคุมอำนาจของ คสช. และการเข้าบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ผู้สื่อข่าวจากหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งติดตามข่าวในบ้านเรามาตลอดกล่าวกับผมว่า ในสายตาของเขาการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ก่อความรุนแรง ชายชุดดำ กลุ่มคนผู้สะสมและใช้อาวุธทำร้ายและเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ในช่วงการชุมนุมตลอดหลายปีที่ผ่านมา เป็นเพียง “การเล่นละคร” ของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่นำมาสู่ความไม่เชื่อมั่นและเชื่อถือก็คือ “แทบทุกคดียังไม่มีการเชื่อมโยงไปถึงผู้บงการใหญ่เลย!”

เช่นนี้ การที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุม-ดำเนินคดี คนร้ายและชายชุดดำต่างๆ แทนที่จะเป็นจุดแข็ง เพิ่มความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร 22 พ.ค. กลับกลายเป็นว่า การดำเนินการดังกล่าวโดยตัดตอนที่จะกล่าวถึง “ผู้บงการใหญ่” ไม่ให้สื่อและสาธารณชนได้รับทราบนั้นเป็นจุดอ่อนสำคัญที่นับวันจะกลายเป็นบูมเมอแรงกลับมาทำร้าย คสช. เสียเอง

... ประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งที่ คสช. ต้องระวังเป็นประการที่หนึ่ง

ประเด็นที่สองก็คือ ต้องยอมรับว่า “คะแนนนิยม” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เพียงมีแค่ในหมู่คนเสื้อแดง ฐานเสียงทางการเมือง หรือผู้ที่ชื่นชอบในนโยบายของรัฐบาลของคนในตระกูลชินวัตรในประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่าคะแนนนิยมของผู้นำตระกูลชินวัตรในหมู่คนของประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมีอยู่สูง

เพื่อนของผมชาวสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เหลียนเหอเจ่าเป้า เล่าให้ฟังว่า ไม่กี่เดือนก่อน เมื่อครั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขออนุญาตเดินทางไปร่วมงานวันเกิดพี่ชายที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยก่อนเดินทางกลับมาเมืองไทย คนในตระกูลชินวัตรมีการแวะไปทานข้าวที่ร้านอาหารทะเลแห่งหนึ่งชื่อ Ming Kee Live Seafood ซึ่งตั้งอยู่บนถนนแมคเพอร์ซัน ในประเทศสิงคโปร์ จนเป็นข่าวโด่งดังเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ปรากฎว่าหลังจากนั้น ร้านอาหารดังกล่าวกลายเป็นร้านโด่งดังของสิงคโปร์ในชั่วเวลาเพียงข้ามคืน จนคนสิงคโปร์เข้าไปต่อคิวรับประทานกัน


หรือแม้กระทั่งประเด็นเรื่องรูปร่างหน้าตา การแต่งกายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ (โดยไม่กล่าวถึงความสามารถ) ก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญของสื่อมวลชนในหลายประเทศของอาเซียนจนถึงปัจจุบัน

อิทธิพลเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือ Soft Power ที่ตระกูลชินวัตรมี และเป็นข้อเปรียบเทียบซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติและความรู้สึกของประชาชน สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐของประเทศเพื่อนบ้านที่มีต่อผู้นำและรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ คสช. รัฐบาลทหารที่มีภาพลักษณ์ค่อนข้างแข็งกร้าว และเข้าถึงได้ยาก

ประการต่อมา คือ ความชัดเจนของการดำเนินนโยบายที่เชื่อมโยงและเกี่ยวพันกับประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การควบคุมของ คสช. ขึ้นแล้ว ความคาดหวังต่อนโยบายและโครงการที่มีการลงนาม หรือตกลงกันไว้แล้ว แต่ต้องสะดุดลงเนื่องมาจากการรัฐประหาร 22 พ.ค. ก็จะต้องมีการเจรจาและเดินหน้ากันต่อ

ดังที่ผมเคยยกตัวอย่างเอาไว้ว่า ปัญหาโครงการข้าวสารแลกรถไฟความเร็วสูง (大米换高铁) ซึ่งรัฐบาลไทยในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยตกลงกันไว้กับรัฐบาลจีนไว้ เป็นปัญหาที่รัฐบาล คสช. จะต้องรีบเข้าไปแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการที่ รัฐบาลจีนโดยนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ถือเป็นผลสำเร็จสำคัญระหว่างการเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม 2556 ทว่า กลับกลายเป็นโครงการที่ปราศจากความคืบหน้าอย่างสิ้นเชิง และมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องยกเลิกเสียด้วยซ้ำ


บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ที่เชื่อมโยงกับการชำระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าเกษตร (ข้าวและยางพารา) ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ลงนามกับรัฐบาลจีนไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2556 เป็นการผูกมัดเอาโครงการจำนำข้าวที่มีการทุจริตอย่างมโหฬาร และทำให้ประเทศไทยสูญงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท เข้ากับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้เกิดความซับซ้อนของปัญหายิ่งขึ้นไปอีก

ทุกวันนี้ บรรดาเพื่อนๆ นักการทูตและผู้สื่อข่าวชาวจีนเมื่อเจอหน้าผม ต่างสอบถามถึง ความคืบหน้าและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงการข้าวสารแลกรถไฟความเร็วสูงด้วยกันทั้งสิ้น

ช่วงหลายเดือนมานี้ หากใครติดตามข่าวจะเห็นว่าผู้นำและรัฐบาลจีนต่างใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ โดยมีการผลักดันอย่างต่อเนื่องในการนำโครงการถไฟความเร็วสูงออกไปเสนอยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย หรือยุโรป และสหรัฐอเมริกา

นโยบายการทูตรถไฟความเร็วสูง หรือ High-Speed Rail Diplomacy เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน วางแผนเอาไว้หลายปีแล้ว ก่อนที่ผู้นำรุ่นที่ 5 คือ สี จิ้นผิง และหลี่ เค่อเฉียงจะได้รับแต่งตั้งเสียอีก โดยเมกะโปรเจ็กต์เกี่ยวกับเครือข่ายรถไฟ ความเร็วสูงข้ามประเทศ-ข้ามทวีป ของจีนนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงทรัพยากรธรรมชาติจากต่างประเทศเข้ามาหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตของจีน และกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่ในแถบตะวันตกที่สภาพ เศรษฐกิจและสังคมยังล้าหลังอยู่มากให้เกิดเป็นผลสำเร็จภายในปี 2568 (ค.ศ.2025) ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ารัฐบาลจีนต้องการที่จะพูดคุย เพื่อแก้ไขปัญหา และผลักดันเรื่องนี้ต่อไปไม่ว่าไทยจะเอาสินค้าเกษตรแลกหรือไม่ก็ตาม

จากเหตุผลเหล่านี้ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้การกำกับดูแลของ คสช. จึงจำเป็นที่จะต้องทำการบ้านเรื่องการต่างประเทศให้หนักและละเอียดรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และมหาอำนาจอย่างจีน เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับอิทธิพลของมหาอำนาจจากโลกตะวันตก

อ่านเพิ่มเติม :
- วริษฐ์ ลิ้มทองกุล, การทูตรถไฟความเร็วสูง, นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา, เมษายน 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น