รอยเตอร์ส - คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ เผยซากฟอสซิลยุคดึกดำบรรพ์ชิ้นใหม่ที่ขุดพบในจีน เป็นของสัตว์เลื้อยคลานบินได้ ที่คล้ายคลึงกับ “อิกราน” พาหนะทรงพลังในภาพยนตร์ “อวตาร”
ไซแอนซ์ทิฟิค รีพอร์ทส (Scientific Reports) วารสารวิทยาศาสตร์สัญชาติอังกฤษ ตีพิมพ์ผลการศึกษาซากฟอสซิลสองชิ้น ที่ขุดพบในมณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ฟอสซิลดังกล่าวเป็นของสิ่งมีชีวิตจำพวกเทอโรซอร์ (pterosaur) หรือสัตว์เลื้อยคลานบินได้ ซึ่งอาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 120 ล้านปีก่อน
ลักษณะเด่นทางกายภาพของ "อิกรานดราซี อวตาร" เทอโรซอร์สายพันธุ์ใหม่นี้ คือ ถุงพักอาหารใต้คางเหมือนกับนกกระทุง โดยยามออกหาอาหาร ที่เป็นปลาตัวเล็กๆ ในทะเลสาบ มันจะโฉบบินต่ำเหนือผิวน้ำ ก่อนใช้ขากรรไกรล่างจับเหยื่อมากักเก็บไว้ในถุงดังกล่าว
ขณะที่ความคล้ายคลึงของอิกรานดราซี อวตาร (Ikrandraci avatar) ที่หมายถึง “มังกรอิกราน” (Ikran dragon) กับสัตว์เลื้อยคลานบินได้ทรงพลัง พาหนะสุดโดดเด่นของตัวละครเอกในภาพยนตร์อวตาร ปี 2552 ก็สร้างความประหลาดใจไม่น้อย
“โครงสร้างหัวนั้นคล้ายคลึงกับมังกรอิกรานในอวตาร” หวัง เสี้ยวหลิน นักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาและสัตว์มีกระดูกสันหลัง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ในนครหลวงปักกิ่ง กล่าว “แน่นอนว่าไม่มีใครขึ้นไปขี่เจ้าเทอโรซอร์นี้ได้”
อย่างไรก็ดี มันไม่ได้มีจงอยแหลมคมดังมีดดาบใต้ขากรรไกรล่างและหงอนใหญ่เหนือหัว เหมือนกับอิกรานในภาพยนตร์ของผู้กำกับชื่อดังเจมส์ คาเมรอน
ด้านอเล็กซานเดอร์ เคลล์เนอร์ นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ณ มหาวิทยาลัยสหพันธรัฐแห่งริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล สำทับปนอารมณ์ขันว่า “ได้โปรด ยุคครีเตเชียสคงไม่มีโฮมินิด (Hominids – สิ่งมีชีวิตยุคแรกของสายวิวัฒนาการจากลิงใหญ่มาเป็นมนุษย์) ตัวสีน้ำเงินอย่างในหนังหรอก”
“เมื่อมันกางปีกทั้งสองข้างเต็มที่แล้ว จะมีความกว้างกว่า 8 ฟุต หรือราว 2.5 เมตรเลยทีเดียว” เคลล์เนอร์ระบุ
ทั้งนี้ หวังคาดว่า เทอโรซอร์ยักษ์นี้น่าจะมีชีวิตอยู่ในเขตอบอุ่น เมื่อราว 220-65 ล้านปีก่อน ที่แวดล้อมด้วยสิ่งมีชีวิตมากมาย ทั้งไดโนเสาร์มีขน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กบ เต่า นก และต้นไม้พืชพรรณนานาชนิด โดยจัดเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังบินได้ ที่กำเนิดก่อนนกและค้างคาว ทว่าก็สูญพันธุ์ไปพร้อมกับไดโนเสาร์หลังดาวหางพุ่งชนโลก
คลิปมังกรอิกรานจากภาพยนตร์เรื่องอวตาร