xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋ง! นักเรียน ร.ร.อนุบาลสตูลค้นพบแหล่งฟอสซิลแห่งใหม่ จากกระบวนการเรียนการสอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - เจ๋ง! นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ร.ร.อนุบาลสตูล ค้นพบแหล่งฟอสซิลแห่งใหม่ใน อ.เมือง จ.สตูล จากกระบวนการเรียนการสอน เจ้าของพื้นที่เล็งหารือเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของจังหวัด

วันนี้ (22 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนอนุบาลสตูล ลงพื้นที่แหล่งค้นพบฟอสซิลแห่งใหม่ บริเวณบ้านปอเกาะยามู หมู่ 4 ต.ควนขัน อ.เมือง จ.สตูล พร้อมด้วย นายสุทธิ สายสุนีย์ ผอ.โรงเรียนอนุบาลสตูล และคณะครูที่ปรึกษา ผู้ปกครองนักเรียน เพื่อเก็บข้อมูลฟอสซิลสรุปกิจกรรมขั้นตอนสุดท้าย ในการจัดทำกระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอน ของโจทย์ “ฟอสซิลในอำเภอเมืองมีหรือไม่”

นายสุทธิ สายสุนีย์ ผอ.โรงเรียนอนุบาลสตูล กล่าวว่า โรงเรียนอนุบาลสตูล ได้เข้าสู่โรงเรียนมาตรฐานสากลตั้งแต่ปี 2553 และก็มีหลักสูตรที่ว่าการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ด้วนตนเองตรงนี้ใช้นวัตกรรมการเรียนรู้โดยการวิจัยกระบวนการ 10 ขั้น ดำเนินการต่อเนื่องตลอดตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน แต่ละปีเด็กทุกห้องก็จะมีโครงงานเป็นของตนเอง และโครงงานเรื่องฟอสซิลเองก็เป็นโครงงานที่ตรงใจเด็กๆ แล้วแต่เด็กจะสนใจเรื่องอะไร
 

 
เพราะฉะนั้น จะมีเรื่องค่อนข้างที่จะหลากหลายที่เด็กได้เรียนรู้ในแต่ละปี ระยะเวลาที่เด็กเรียนก็เกิน 1 ปีการศึกษา กระบวนการวิจัย 10 ขั้น ตั้งแต่เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว และพัฒนาโจทย์ไปสู่โจทย์วิจัย หลังจากนั้น ก็ไปสู่การเก็บข้อมูล ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม และก็พัฒนา จากนั้นเด็กก็จะนำข้อมูลไปเผยแพร่สู่สาธารณชน อย่างเช่นกรณีของเด็กชั้น ป.4/6 ที่กำลังศึกษาเรียนรู้ เรื่องการตามรอยฟอสซิลในพื้นที่ อ.เมือง จ.สตูล เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาต่อยอดให้เป็นที่รู้จักของสังคมต่อไปนี้

สำหรับกรณีของนักเรียนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นเรื่องดี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ค้นพบฟอสซิลในพื้นที่ตรงนี้ และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้าง ไม่ใช่ในกรอบของการเรียนเพียงอย่างเดียว และนักเรียนกลุ่มนี้ก็มีความรู้ลึก รู้จริง รู้จักชื่อฟอสซิลแต่ละชนิด รู้วิธีการดูแล และเห็นคุณค่าของฟอสซิล สามารถส่งต่อความรู้ถึงน้องๆ ได้ในโอกาสต่อไป
 

 
ด.ญ.บัซลา เกปัน และ ด.ช.อัซกัส กุลโรจนสิริ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กล่าวว่า ก่อนที่จะเลือกเรื่องมาทำโครงงานในครั้งนี้ จะมีการโหวตเพื่อเลือกหัวข้อในการทำวิจัย ซึ่งเรื่องฟอสซิลเป็นเรื่องที่ได้รับเลือก จากนั้นจึงตั้งโจทย์ขึ้นมาว่า “ฟอสซิลในพื้นที่อำเภอเมืองมีหรือไม่” ด้วยเหตุผลเป็นที่ทราบกันดีว่า ฟอสซิลถูกค้นพบในพื้นที่ อ.ทุ่งหว้า อ.ละงู เมื่อได้โจทย์แล้วเพื่อนนักเรียนก็ได้ไปศึกษาฟอสซิลในพื้นที่ดังกล่าว ก่อนลงพื้นที่ อ.เมือง เพื่อค้นหาฟอสซิล

กระทั่งเห็นมีการขุดดินบนเนินเขาจึงขออนุญาตเจ้าของพื้นที่เข้ามาดู จากกระบวนการสังเกตจึงพบว่า มีฟอสซิลอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่พบเป็นหอยกาบคู่ พลับพลึงทะเล ปลาหมึก และอื่นๆ อีกหลายชนิด จึงสันนิษฐานได้ว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นทะเลมาก่อนเมื่อหลายร้อยล้านปี

จากการเลือกที่จะศึกษาแก้โจทย์เรื่องฟอสซิล ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะว่าฟอสซิลมีข้อมูล และมีความสำคัญ และยังมีประโยชน์ต่อทรัพยากรอีกด้วย ทำให้ทราบถึงเรื่องราวประวัติ ยุค ประเภท และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การศึกษาเรื่องฟอสซิลเป็นการใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าการใช้เวลาไปเล่นเกมต่างๆ
 

 
ทั้งนี้ หลังจากนักเรียนได้ค้นพบฟอสซิลในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ของบริษัท เซอตูล ดารุล อมาน จำกัด ซึ่งมี นายอามัน หมันยามีน เป็นเจ้าของ ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง นายธรรมรัตน์ นุตะธีระ อาจารย์ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา นายมูเร๊าะ จิเบ็ญจะ นายก อบต.ควนขัน อ.พงศ์จักรกฤษณ์ สิทธิบุศย์ ประธานชมรมอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำหมู่บ้าน (ทสม.) จ.สตูล และคณะทีมงานจาก อบต.กำแพง นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผอ.ธรณีวิทยาสตูล เข้าตรวจสอบก่อนจะหาแนวทางในการอนุรักษ์ และสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ต่อไป

ด้าน นายธรรมรัตน์ นุตะธีระ อาจารย์ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ของ ต.ควนขัน ก็ได้ค้นพบฟอสซิลกลุ่มหอยกาบ ในสกุลโพสิโดโนเมีย (Posidonomya) ที่อยู่ในหินยุคคาร์บอนิฟอรัส และสิ่งที่น่าสนใจของฟอสซิลหอยกาบคือ มันสามารถระบุอายุของหินในยุคนั้นได้ หรือเรียกชื่อฟอสซิลอีกชื่อหนึ่งว่า ฟอสซิลดัชนี ซึ่งหมายความว่า สิ่งมีชีวิตบางชนิดเกิดขึ้นในช่วงอายุสั้นๆ และมันตายลง สำหรับฟอสซิลที่เจอในจุดนี้มีอายุประมาณ 350 ล้านปี
 

 
นายอามีน มันยามีน ประธานบริษัทเซอตูล ดารุล อมาน จำกัด (เจ้าของที่ดิน) กล่าวว่า หลังจากที่ได้ทราบข่าวมาว่า ได้มีการค้นพบซากฟอสซิลในที่ดินพื้นที่นั้นก็ได้เรียกคณะกรรมการ และคณะผู้ถือหุ้นของบริษัทเข้าประชุมว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และได้มีมติในที่ประชุมว่า ให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 คน เพื่อที่จะเป็นตัวแทนจากบริษัท และตัวแทนจากผู้ถือหุ้นลงไปสำรวจดูในส่วนของการค้นพบซากฟอสซิลว่า ได้พบเจอฟอสซิลมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้แล้ว ทางด้านเจ้าของพื้นที่ได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า หากว่ามีหน่วยงานราชการที่มีความประสงค์จะดำเนินการเปิดสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ ก็ขอให้ติดต่อกับทางบริษัทโดยตรง ซึ่งทางบริษัทก็จะส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยเพื่อหาแนวทางในการจัดการเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงการอนุรักษ์ และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของ อ.เมือง จ.สตูล อีกด้วย
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น