xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อซากฟอสซิลไดโนเสาร์บินได้จากจีน อาจช่วยไขความลับสัตว์ปีกยุคปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลอง ฉังอี่ว์แรพเตอร์ หยังอี ไดโนเสาร์บินได้จากแผ่นดินจีน (ภาพ รอยเตอร์ส)
เอเจนซี - นักวิทยาศาสตร์ไขความลับวิวัฒนาการสัตว์ปีกยุคปัจจุบัน ผ่านซากฟอสซิล “ไดโนเสาร์บินได้” จากแดนมังกร

เนเจอร์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (Nature Communications) นิตยสารด้านวิทยาศาสตร์สัญชาติอังกฤษ ตีพิมพ์ (15 ก.ค.) ผลการศึกษาวิจัยซากฟอสซิลโบราณที่พบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน สันนิษฐานว่าอาจเป็นซากฟอสซิสไดโนเสาร์ล่าเนื้อที่ “บินได้” เนื่องจากมีโครงสร้างปีกแข็งแรงและหางยาว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาวิจัยเผยผลการตรวจสอบพบว่ามันน่าจะมีชีวิตอยู่เมื่อราว 125 ล้านปีก่อน โดยเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนคล้ายขนนกขนาดใหญ่ มีปีกสองชุด คือ ปีกคู่หน้าและปีกเท้าคู่หลัง ซึ่งใช้ในการปรับตัวยามร่อนบิน ส่วนหางยาวที่ด้านหลังก็มีไว้ช่วยทรงตัวขณะร่อนลงสู่พื้นดิน

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์แก่ไดโนเสาร์ติดปีกตัวนี้ว่า “ฉังอี่ว์แรพเตอร์ หยังอี” (Changyuraptor Yangi) ซึ่งคำว่า “ฉังอี่ว์” (长羽) ในภาษาจีนกลางหมายถึง ขนนกขนาดใหญ่ โดยฉังอี่ว์แรพเตอร์ถูกจัดเข้ากลุ่มไดโนเสาร์ “คล้ายนก” และเป็นหนึ่งในไดโนเสาร์บินได้ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา

นักวิจัยเสริมว่า ฉังอี่ว์แรพเตอร์ ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักตัวราว 4 กก. และความยาวจากหัวถึงปลายหางประมาณ 1.2 เมตร ได้ช่วยทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจพัฒนาการและการใช้ประโยชน์จากขนของไดโนเสาร์ในช่วงยุคต้นกำเนิดนกอีกด้วย

“สัตว์สิ่งมีชีวิตในขนาดดังกล่าวนั้น ยามถลาบินลงสู่ที่ต่ำ มีทางเลือกว่าถ้าไม่หาทางชะลอความเร็ว ก็ต้องพุ่งชนอย่างแรงเลย” ลูอิส เคียแอพ นักวิจัยร่วมจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาตินครลอสแองเจลิส สหรัฐฯ กล่าว “หางยาวของมันจึงเป็นอวัยวะช่วยปรับเปลี่ยนระดับการร่อนลงพื้นดิน”

นอกจากนี้ ซากฟอสซิลซึ่งขุดพบโดยเกษตรกรแถบชนบทของมณฑลเหลียวหนิง พื้นที่ที่มีชื่อเสียงมากในด้านเป็นแหล่งเก็บซ่อนซากฟอสซิลไดโนเสาร์ แมลง และแมมมอธ ที่มีชีวิตเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน ยังมีลักษณะ “ขน” อันโดดเด่น โดยพบรอยประทับของขนยาวปกคลุมทั่วร่าง และขนส่วนหางที่ยาวราวหนึ่งฟุต หรือ 30 ซม.

แอชลีย์ เฮียส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านขนนกโบราณจากมหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า ฉังอี่ว์แรพเตอร์ ช่วยให้เราเข้าใจต้นกำเนิดและพัฒนาการทางการบินของไดโนเสาร์ได้ดียิ่งขึ้น โดยจากการวิเคราะห์ทางอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) แสดงให้เห็นว่า ฉังอี่ว์แรพเตอร์สามารถชะลอการบินขณะร่อนลงพื้นด้วยการเปลี่ยนทิศทางของหาง

“ขณะเดียวกันความสามารถของฉังอี่ว์ฯ ในการควบคุมวิถีโคจรบนอากาศ ก็น่าจะมีอิทธิพลส่งถึงความสำเร็จของนักล่าบินได้ยุคปัจจุบัน” เฮียส์กล่าว “เหมือนว่ามันได้มีบทบาทสำคัญต่อต้นกำเนิดของสัตว์ปีกบินได้”

เคียแอพ เสริมอีกว่า อาหารของฉังอี่ว์แรพเตอร์น่าจะเป็นนกตัวเล็ก ปลา หรือลูกแมมมอธ ที่อาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติยุคนั้น โดยมันจะล่าเหยื่อด้วยการโฉบโจมตีจากที่สูง

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการตัดสินแน่นอนว่า ปีกทั้งสองคู่นั้นมีไว้เพื่อกระพือบินกลางเวหา หรือแค่เป็นตัวช่วยยามร่อนถลาไปมาเท่านั้น แต่เคียแอพเผยว่า “ผมคิดว่าพวกมันน่าจะบินได้”

ทางด้าน กาเร็ต ไดค์ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมตันของอังกฤษ ให้ความเห็นว่ามันอาจเป็นสัตว์นักร่อนมากกว่า “ขนนั้นมีวิธีการใช้งานมากกว่าแค่เรื่องการบิน ซึ่งเราเห็นได้จากไดโนเสาร์มีขนสายพันธุ์อื่นๆ จำนวนมาก”
ซากฟอสซิสของฉังอี่ว์แรพเตอร์ ซึ่งขุดพบในมณฑลเหลียวหนิงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน (ภาพ รอยเตอร์ส)

กำลังโหลดความคิดเห็น