รอยเตอร์ - นักวิทยาศาสตร์พบซากฟอสซิลคล้ายกับกุ้ง ซึ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 520 ล้านปีก่อน โดยมีระบบหัวใจและหลอดเลือด ถูกรักษาไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม ถือเป็นระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยทราบกันมา
ซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตนี้ได้รับการขนานนามว่า Fuxianhuia protensa มีขนาดยาวประมาณ 11เซ็นติเมตร จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ขาปล้อง (arthropod) ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่มีโครงร่างแข็งภายนอก พวกเดียวกับสัตว์น้ำ ที่มีเปลือกแข็ง เช่นปู กุ้งก้ามกราม และกุ้งฝอย ตลอดจนแมลง แมงมุม และกิ้งกือ
ซากฟอสซิล อันน่าทึ่งถูกค้นพบในทะเลสาบในมณฑลหยุนหยัน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดย Fuxianhuia มาจากชื่อของทะเลสาบนี้
ผลการศึกษาซากฟอสซิลดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารเนเชอร์ คอมมูนิเคชันส์ ( Nature Communications) โดยนักบรรพชีวินวิทยาของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในกรุงลอนดอน ( Nature History Museum) ซึ่งเป็นนักวิจัยคนหนึ่งในการศึกษาระบุว่า ซากฟอสซิลนี้มีอายุย้อนไปตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “ Cambrian Explosion ซึ่งสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่มากมายถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อกว่า 500 ล้านปีก่อน
ซากฟอสซิล Fuxianhuia protensa ผิดแผกไปจากซากฟอสซิลอื่น ๆ ที่เคยพบและหาได้ยากมากๆ ตรงที่ระบบอวัยวะ อันละเอียดอ่อนยังถูกรักษาไว้ได้ในซากฟอสซิล ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดซากหนึ่ง และมีรายละเอียดน่าทึ่งมาก โดยมีโพรงหัวใจอยู่ในช่วงกลางของร่างกาย พร้อมด้วยระบบของหลอดเลือดที่ประณีต ยอดเยี่ยม หลอดเลือดเชื่อมต่อไปถึงดวงตา หนวด สมอง และขาของสิ่งมีชีวิตนี้
ระบบหัวใจและหลอดเลือดเป็นระบบอวัยวะ ที่สำคัญ ซึ่งทำให้เลือดหมุนเวียนในร่างกาย เพื่อส่งอ็อกซิเจนและอาหารไปหล่อเลี้ยงทั่วร่าง และสัตว์ส่วนใหญ่มีระบบเช่นนี้ ยกเว้นพวกที่ไม่มีโพรงร่างกาย เช่นแมงกะพรุน และหนอนตัวแบน
ซากฟอสซิลFuxianhuia protensa ได้ช่วยให้ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการขององค์ประกอบร่างกายของสัตว์ และแสดงให้เห็นว่า แม้แต่สิ่งมีชีวิตในยุคแรกสุดของโลกบางจำพวกก็ยังมีความคล้ายคลึงกับญาติพี่น้องของมัน ที่มีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้