ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ ค้นพบพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด ในตระกูลค้างคาว และกระรอกบิน พร้อมเร่งศึกษาเพื่อวางแนวทางในการอนุรักษ์ร่วมกับทุกภาคส่วน และเก็บรวมรวมข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวิจัย
วันนี้ (27 ม.ค.) ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้เปิดเผยถึงผลการค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของทีมงานนักวิจัยนานาชาติจากประเทศไทย ลาว และสหราชอาณาจักร
ประกอบด้วย ค้างคาวจมูกหลอดบาลา หรือ Bala Tube-nosed Bat ซึ่งเป็นค้างคาวกินแมลง และสามารถพบได้ในพื้นที่ป่าดิบชื้น และที่ราบต่ำบริเวณผืนป่าบาลา อ.แว้ง จ.นราธิวาส เพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยลักษณะเด่นอยู่ที่ขนด้านหลังเป็นสีทอง ขนด้านท้องเป็นสีเทา ขนาดลำตัวประมาณ 28-31 มิลลิเมตร และมีแง่ง หรือ Cingulr cusp ที่ฟันเขี้ยวบน ส่วนจมูกที่เป็นหลอดกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาในเชิงลึกว่ามีประโยชน์อย่างไรกันแน่
นอกจากนั้น ยังมีการค้นพบซากฟอสซิลค้างคาวชนิดใหม่ที่มีชิวิตอยู่เมื่อปลายยุค “ไพลสโตซีน” หรือเมื่อประมาณ 16,350 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทีมวิจัยได้ค้นพบภายในถ้ำหินปูนใน อ.สะเดา จ.สงขลา และได้ตั้งชื่อว่าค้างคาวท้องสีน้ำตาล อาจารย์จุฑามาส หรือ Chutamas’s Serotine เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ รศ.ดร.จุฑามาส ศตสุข ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย โดยค้างคาวชนิดนี้เบื้องต้นพบว่าเป็นค้างคาวขนาดเล็กเช่นเดียวกับค้างคาวจมูกหลอดบาลา และปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
สุดท้ายคือ การค้นพบพญากระรอกบินลาว หรือ Laotian Giant Flying Squirrel ซึ่งเป็นพญากระรอกบินชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณแขวงบอลิคำไซ ทางตอนกลางของประเทศลาว หลังจากที่พญากระรอกบินชนิดแรกของสกุลนี้ถูกค้นพบที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.2524 โดยพญากระรอกบินลาวเป็นกระรอกบินขนาดใหญ่ มีความยาวจากหัวถึงหาง 107.5 เซนติเมตร หนัก 1.8 กิโลกรัม ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าลึกหา และหาพบได้ยากมาก
ทั้งนี้ ทางทีมวิจัยได้ทำการตั้งชื่อชนิด และสายพันธุ์ทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ชนิดใหม่ที่ค้นพบอย่างละเอียด เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการนำเสนอ และส่งต่อไปยังเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เผยแพร่ และหาแนวทางในการร่วมกันอนุรักษ์สัตว์หายากเหล่านี้ให้คงอยู่ เนื่องจากพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นที่อาศัย และหากินได้ถูกมนุษย์บุกรุกแผ้วถางอย่างต่อเนื่อง