xs
xsm
sm
md
lg

หลักนโยบายต่างประเทศของผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ยังมีบทบาทมาถึงจีนทุกวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพหญิงจีนกำลังเยี่ยมชมนิทรรศการรำลึกอดีตผู้นำสูงสุด เติ้ง เสี่ยวผิงในฮ่องกงเมื่อวันที่ 21 ส.ค. โดยนิทรรศการฯนี้จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 110 ของผู้นำเติ้ง ซึ่งตรงกับวันศุกร์ 22 ส.ค. ทั้งนี้ ในด้านนโยบายต่างประเทศ ผู้นำเติ้ง เตือนให้จีน “ถ่อมตัว” หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าบนเวทีโลก แต่ยืนหยัดหลังชนฝาในการรักษาผลประโยชน์หลัก (ภาพรอยเตอร์ส)
เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์--เมื่อสองปีที่แล้วเมื่อนาย สี จิ้นผิง ครองอำนาจสูงสุดในประเทศจีน กินตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดี ก็เริ่มบริหารกำลังอำนาจกองทัพ และมุ่งรุกนโยบายพัวพันกับกิจการภายในภูมิภาค

ทำเอากลุ่มนักวิเคราะห์หลายคนสงสัยกันว่าประมุขแดนมังกรคนใหม่จะหันเหไปจากแนวนโยบายต่างประเทศของผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ที่เตือนจีน มิให้สร้างบทบาทที่จะเป็นเป้าความสนใจ ให้ “ถ่อมตัว” และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าบนเวทีระหว่างประเทศ เพื่อทุ่มเทให้กับกิจการภายใน

แม้ในหลายครั้งที่กลุ่มผู้นำชาติอื่นออกมาชี้ว่าจีนกำลังใช้อำนาจบาตรใหญ่ แสวงและรักษาผลประโยชน์ของตน แต่ในที่สุดแล้วกลุ่มนักวิเคราะห์และนักเฝ้ามองจีนทั้งหลายต่างก็เห็นพ้องกันว่า หลักทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยวผิง ยังคงเป็นหลักแนะแนวการดำเนินกิจการระหว่างประเทศของจีน สียังไม่ไปถึงขั้นแตกแถวไปจากหลักที่เติ้งแนะไว้

จีนไม่พร้อมเป็นจ้าวใหญ่บนเวทีระหว่างประเทศ เหตุค่าใช้จ่ายสูงเกิน
แม้ไม่กี่ปีมานี้ จีนรุกแผ่อำนาจควบคุมดินแดนพิพาทในทะเลจีนใต้ แต่กลุ่มนักเฝ้ามองจีนก็ยังมองกันว่าจีนไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำโลกบนเวทีความมั่นคง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเล่นบทผู้นำนี้สูงเกินไป

“ทุกวันนี้เราเห็นจีนรุกเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น การประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศในดินแดนพิพาททะเลจีนใต้” เทย์เลอร์ เฟรเวล (Taylor Fravel) ผู้ช่วยอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งสถาบันแมสซาซูแซ็ทท์สเทคโนโลยี (Massachusetts Institute of Technology) ในสหรัฐอเมริกา กล่าวพร้อมกับชี้ว่า อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวเพื่อแผ่อำนาจครอบงำก็มีขีดจำกัด เพราะการเป็นจ้าวใหญ่บนเวทีระหว่างประเทศนั้น มีค่าใช้จ่ายสูงมาก จีนอาจต้องการมีเสียงใหญ่ขึ้นในองค์กรระหว่างประเทศ แต่ก็ยังไม่พร้อมเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาต่างๆของโลก

สำหรับยุทธศาสตร์เชิงการทูตของเติ้ง เสี่ยวผิง ผุดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 หลังจากที่มหาอำนาจโซเวียตล่มสลาย และเป็นช่วงที่จีนต้องยืนหยัดฝ่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์อันเชี่ยวกราดจากนานาชาติต่อกรณีเหตุการณ์นองเลือดในการปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี พ.ศ. 2532 เติ้งมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างไม่วอกแวก โดยทายาทผู้คุมหางเสือนาวารัฐจีนในยุคต่อมา ได้แก่ เจียง เจ๋อหมิน และหู จิ่นเทา ต่างก็ยึดถือหลักการของเติ้งไม่แปรเปลี่ยน

“บางประเทศในกลุ่มโลกที่สามต้องการให้จีนขึ้นมาเป็นผู้นำ แต่เราก็ไม่อาจเป็นได้ และนี่ก็เป็นนโยบายพื้นฐานของประเทศเรา” เติ้ง กล่าวกับกลุ่มผู้นำจีนในเดือนธ.ค. ปี พ.ศ.2533

“เราไม่สามารถเป็นผู้นำได้ และเราก็ไม่มีอำนาจมากพอ”

จีนจึงมุ่งแต่ดำเนินมาตรการปฏิรูปเร่งอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งสี่ปีหลังจากที่เติ้งถึงแก่อสัญกรรม ในปี พ.ศ. 2544 จีนก็ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และเริ่มขยายอำนาจสู่ต่างแดน จนกระทั่งในปี 2554 จีนอนุมัติเงินช่วยเหลือแก่ฮังการี หนึ่งพันล้านยูโร

ในเดือนพ.ค. นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ให้คำมั่นเปิดวงเงินกู้และความช่วยเหลือแก่แอฟริกา กว่า 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับโครงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและโครงการถไฟความเร็วสูง สื่อของรัฐจีนระบุเงินก้อนนี้เป็นความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากเงินกู้ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่สี จิ้นผิง สัญญาจะให้แอฟริการะหว่างปี 2556-2558

นอกไปจากนี้ จีนยังได้ขยายบทบาทในภารกิจรักษาสันติภาพ สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งกรุงสต็อกโฮล์ม ระบุในปี 2543 จีนส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ น้อยกว่า 100 นาย จนล่าสุดข้อมูลเมื่อเดือนก.ค. ระบุ จีนได้ส่งกำลังช่วยเหลือ ได้แก่ ตำรวจพลเรือน ผู้สังเกตการณ์ทหาร วิศวกร และเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาล รวมเกือบ 2,200 คน ไปประจำการที่แอฟริกา

ฟรังซัวส์ ก็อดเมนท์ ( Francois Godement ) ผู้กำหนดนโยบายอาวุโสแห่งสำนักงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสภายุโรป ชี้ว่าเติ้งได้ย้ำให้จีนหลีกเลี่ยงบทบาทนำในสนามการเมืองระหว่างประเทศ แต่จะต้องปกป้องผลประโยชน์หลักของชาติอย่างสุดฤทธิ์ ตัวอย่างเช่น เติ้งปฏิเสธหลังชนฝาเมื่ออังกฤษขอต่ออายุอำนาจปกครองอาณานิคมฮ่องกงในทศวรรษที่ 1980

ในต้นปี 2522 จีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามหลังจากที่ฮานอยรุกรานกัมพูชาและไล่บดขยี้เขมรแดงที่จีนให้การสนับสนุน นอกจากนี้เวียดนามยังยึดครองหมู่เกาะสเปรตลีย์ ที่ปักกิ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนอยู่เช่นกัน เติ้งซึ่งต่อมาได้เป็นรองนายกรัฐมนตรียังได้ต้านอำนาจสหสภาพโซเวียต และได้วางกองกำลังตามแนวชายแดนจีน-โซเวียตเพื่อสกัดกั้นพญาหมีขาวปกป้องเวียดนาม ความขัดแย้งกัมพูชาและเวียดนามยุติลงเมื่อเวียดนามถอนทหารในปี 2532

เดี๋ยวรุก เดี๋ยวหมอบ... จีนควรกำหนดแนวนโยบายต่างประเทศใหม่ที่ชัดเจนเสียที

มาถึงยุคจีนนี้ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ปักกิ่งเริ่มนโยบายเกี่ยวพันกับเพื่อนบ้าน โดยมีบางครั้งที่ต่างชาติมองว่าเป็นการรุกกร้าว

ในสัปดาห์นี้ จีนก็เยือนมองโกเลีย นับเป็นการเยือนที่น่าสนใจ เนื่องจากประธานาธิบดีจีนเยือนมองโกเลียครั้งสุดท้ายเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ระหว่างการเยือน สีได้ลงนามข้อตกลงโครงการโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน

ขณะเดียวกัน จีนก็ดูต้องการมีบทบาทชี้นำเชิงการทูตในภูมิภาค โดยระหว่างการประชุมว่าด้วยความมั่นคงในเดือนพ.ค.ที่นครเซี่ยงไฮ้ สีได้เรียกร้องให้ที่ประชุมของเหล่าชาติเอเชียถกเถียงประเด็นการป้องกันดินแดนโดยไม่มีสหรัฐฯร่วมวงอยู่ด้วย โดยชี้ว่าความมั่นคงของเอเชียก็ควรเป็นเรื่องของชาติเอเชียจัดการกันเอง

แต่แล้วจีนก็กระทำการหลายอย่างที่ถูกมองว่า “ยั่วยุชาติที่เล็กกว่า” รวมทั้งสหรัฐฯด้วย ในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา(2556) ปักกิ่งลุกขึ้นมาประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ในทะเลจีนตะวันออก สหรัฐฯและญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่กรณีวิวาทะกรรมสิทธิดินแดนในทะเลจีนตะวันออก ออกมาประณามจีนจุดชนวนความตึงเครียด

และสิ่งที่ผู้นำต่างชาติวิตกมากกว่านั้น ก็คือจีนรุกอำนาจควบคุมดินแดนในทะเลจีนใต้โดยไม่แยแสการอ้างกรรมสิทธิ์ของชาติอื่นๆ จนเกิดกระแสประท้วงจีนในหมู่ประเทศเพื่อนบ้าน ฟิลิปปินส์กล่าวหาจีนว่า “มีวาระขยายอำนาจ” และไม่สนใจให้คณะกรรมการระหว่างประเทศเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง

ในเดือนพ.ค.จีนได้ติดตั้งอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมันใกล้หมู่เกาะพาราเซล จุดชนวนการเผชิญหน้าระหว่างจีนและเวียดนาม จนเกิดการประท้วงต่อต้านจีนในภาคใต้ของเวียดนามที่บานปลายเป็นจลาจล ทางเวียดนามรายงานมีผู้เสียชีวิต 3 คน ขณะที่จีนระบุผู้เสียชีวิต 4 คน นอกไปจากนี้สื่อจีนยังได้เสนอข่าวสี จิ้นผิง ไปเยี่ยมหน่วยทหารและเจ้าหน้าที่ เรียกร้องให้กองทัพ “เตรียมพร้อมการรบ”

จีนยังขยายบทบาทอำนาจไปถึงภาคการเงิน เมื่อเดือนที่แล้ว ปักกิ่งลุกขึ้นมาเป็นผู้เล่นใหญ่ในการเสนอทางเลือกทางภาคการเงินให้กลุ่มตลาดเกิดใหม่โดยควักกระเป๋าลงขัน 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นทุนการก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนารายใหม่ โดยมีหุ้นส่วนรายอื่นได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) จะเป็นคู่แข่งบทบาทกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ กับธนาคารโลก ซึ่งสององค์กรหลังนี้ มียุโรปและสหรัฐฯกุมอำนาจครอบงำอยู่

ไช่ ฟางไป๋ เอกอัครราชทูตจีนประจำฝรั่งเศสในปี 2533 กล่าวว่าจีนยึดหลัก "ถ่อมตัว" ในการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศ เนื่องจากจีนวางตัวเองเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีจีดีพีต่อหัวประชากร ปัจจุบันอยู่ที่ราว 6,800 เหรียญสหรัฐ เทียบกับตัวเลขของญี่ปุ่น ราว 37,000 เหรียญสหรัฐ

“เราไม่อาจรับบทบาทผู้นำ จีนยังต้องมุ่งการพัฒนาเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง” ไช่ สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศ สังกัดกระทรวงต่างประเทศ กล่าว

นักวิเคราะห์ นาย เฟรเวลชี้ถึงการจัดตั้งบทบาทนำของจีน จะต้องเชือดเฉือนอิทธิพลสหรัฐฯในเอเชียแปซิฟิก และจะต้องใจปล้ำพอในการควักกระเป๋าจ่ายมหาศาล อาทิ การส่งกองกำลังประจำการในต่างแดน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเจ้าหน้าที่และนักวิชาการ ก็เรียกร้องให้จีนกำหนดยุทธศาสตร์การทูตใหม่ ที่บ่งชัดว่าจีนต้องการสร้างอิทธิพลอำนาจแบบไหน

หวัง เจี้ยนเหว่ย อาจารย์รัฐประศาสนศาตร์ มหาวิทยาลัยมาเก๊า ผู้เขียนหลักทฤษฎีทางการทูตของเติ้ง เสี่ยวผิง กล่าวว่า “ไม่มีเหตุผลใด ที่จีนจะต้องเดินตามหลักแนะแนวของเติ้งอีกต่อไป มันถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศใหม่ ระบุจุดยืนท่าทีแนวทางของตัวเอง และความปรารถนาให้นานาชาติมองตนเช่นไร

“จีนต้องเปลี่ยนแปลง มีไม่กี่คนนักหรอก ที่จะเห็นดีเห็นงามในการรักษาแนวนโยบายต่างประเทศแบบเดิมๆไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเวลานานถึง 20 ปี เช่นนี้” .
เติ้ง เสี่ยวผิง พบปะพูดคุยกับมาร์กาแร็ต แทตเชอร์ ผู้นำเติ้ง ยืนกรานหลังชนฝาไม่ตกลงกับอังกฤษ ที่ตื้อขอต่ออายุอำนาจปกครองอาณานิคมฮ่องกง (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
เติ้ง เสี่ยวผิง กับ อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ เจรัลด์ ฟอร์ด (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
เติ้ง เสี่ยวผิง กับ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต มิฮาอิล กอร์บาเชฟ (แฟ้มภาพ เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น