xs
xsm
sm
md
lg

ทัพพญามังกรทดลองจรวดไฮเปอร์ฯ บินเร็วกว่าเสียง 10 เท่า!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ Falcon HTV-2 ยานไฮเปอร์โซนิก พัฒนาโดยสหรัฐฯ ขณะนี้สหรัฐฯยังคงเป็นประเทศเดียวที่สามารถบรรลุเทคโนโลยีนี้ (ภาพ เอเจนซี)
Astvผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี--สื่อฮ่องกงเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานกองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือพีแอลเอ ทำการทดลองจรวดความเร็วเหนือเสียง 10 เท่า เป็นครั้งที่สอง แต่ไม่สำเร็จ วงในเผยจีนพยายามพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อยิงหัวรบนิวเคลียร์ในอัตราเร็วสูงเพื่อหลบระบบโล่ขีปนาวุธสหรัฐฯ

เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ อ้างแหล่งข่าววงในการทหารที่ไม่เผยนาม ระบุในรายงานข่าวเผยแพร่วันนี้(22 ส.ค.) ว่ากองทัพจีนทดลองยาน (จรวด)ความเร็วเหนือเสียงรุ่นไฮเปอร์ฯ (hypersonic glider vehicle/HGV) เมื่อวันที่ 7 ส.ค.(2557) โดยทำการทดลองยิงจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมในมณฑลซานซี ซึ่งอยู่ห่างราว 300 กิโลเมตรจากเมืองเอกไท่หยวน แต่ไม่สำเร็จ จรวดเดี้ยงตกลงมาหลังจากที่ยิงออกไปไม่นาน

กองทัพจีนทดลองจรวดความเร็วเหนือเสียงระดับไฮเปอร์ฯครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สอง โดยก่อนหน้าได้ทำการทดลองฯไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค.(2557) และแถลงว่าการทดลองฯครั้งแรกประสบความสำเร็จ

จรวดความเร็วเหนือเสียงรุ่นไฮเปอร์ฯ ถูกออกแบบมาสำหรับใช้ยิงขีปนาวุธนำวิถีพิสัยข้ามทวีป เมื่อจรวดบินออกไปที่ระดับใต้เส้นวงโคจรที่ไม่เปิดเผยจึงปล่อยหัวรบออกไป จรวดความเร็วเหนือเสียงที่จีนกำลังพัฒนานี้มีอัตราเร็ว เท่ากับ 10 มัค (Mach)* หรือ 10 เท่าของความเร็วเสียง หรือกว่า 12,000 กม./ชม. จัดเป็นรุ่นไฮเปอร์โซนิก

สื่อออนไลน์ในวอชิงตัน ฟรี เบคอน (Free Beacon) ระบุหลังจากที่จีนทดลองจรวดไฮเปอร์โซนิกครั้งแรก ว่าจรวดรุ่นนี้สามารถยิงหัวรบนิวเคลียร์ ด้วยอัตราเร็วเหนือเสียง 10 มัค หรือ 12,359 กม./ชม.

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกล่าวว่าจรวดไฮเปอร์โซนิกเป็นอาวุธที่จะพลิกเกมสถานการณ์เนื่องจากความสามารถในการโจมตีถึงเป้าหมายก่อนที่ระบบโล่ขีปนาวุธใดจะโต้ตอบได้ทัน
ข่าวฮือฮาในวงการทหารเมื่อกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา(10 ส.ค.2557) จีนกำลังพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล คือ ตงเฟิง-41 (Dongfeng-41/DF-41) สามารถซัดหัวรบนิวเคลียร์ในคราวเดียวถึง 10 ลูก พุ่งไกลถึง 12,000 กม. ซึ่งสามารถโจมตีเขตต่างๆในสหรัฐฯทั่วประเทศ (ภาพกราฟฟิก เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
สหรัฐอเมริกาจ้องตาไม่กระพริบตามการพัฒนาความทันสมัยเขี้ยวเล็บกองทัพจีน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนทากอน ใช้รหัสเรียกยานไฮเปอร์ฯของกองทัพจีนว่า “WU-14”

ในวงการทหารระบุปัจจุบันมีเพียงสหรัฐฯที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีจรวดไฮเปอร์โซนิก ขณะที่รัสเซียและอินเดียก็มีแผนพัฒนาฯด้วย

ทั้งนี้ สหรัฐฯทดลองยานความเร็วเหนือเสียงรุ่นไฮเปอร์ฯ คือ Lockheed HTV-2 ซึ่งมีความเร็วเหนือเสียงสูงถึง 20 มัค

หวัง สีว์ต่ง ที่ปรึกษาด้านดาวเทียมของรัฐบาลจีน กล่าวว่าจีนจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีนี้สำหรับระบบป้องปรามดินแดน “การขยายขีดความสามารถขีปนาวุธจีนเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากอาวุธยุทโธปกรณ์ฯของกองทัพปลดแอกจีนนั้น ด้อยกว่าระบบโล่ป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ นอกจากนี้ สหรัฐฯมีระบบข่าวกรองที่เหนือชั้นกว่า คอยสอดแนมการพัฒนาของกองทัพจีน ขณะที่ฝ่ายจีนไม่มีกองกำลังประจำการในต่างประเทศ

“ขีปนาวุธของกองทัพปลดแอกจีนที่ยิงออกจากแผ่นดินใหญ่นั้น จะถูกโล่ขีปนาวุธสหรัฐฯ สอยร่วงลงง่ายๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ”

อาร์เธอร์ ติง ซู-ฟ่าน เลขาธิการแห่งสภาเพื่อการศึกษานโยบายที่ก้าวหน้าในไทเป (Chinese Council of Advanced Policy Studies) กล่าวว่าหากจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนายานไฮเปอร์โซนิก ระบบป้องปรามของสหรัฐฯก็จะตามไม่ทันแล้ว WU-14 จะกลายเป็นจ้าวยุทธจักรแห่งการโจมตีของโลก ที่คุกคามและท้าทายสหรัฐฯมาก"

นอกจากนี้ยังมีรายงานเผยว่าในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา วอชิงตันอัดฉีดงบฯให้แก้โครงการพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก เนื่องจากความวิตกการวิจัยพัฒนาฯของจีน

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญยานไฮเปอร์โซนิก บอกแก่เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ในเดือนม.ค. ว่า จีนระดมทีมผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 รายจากบรรดามหาวิทยาลัยและสถาบันการวิจัยชั้นนำ เข้าร่วมโครงการฯนี้

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวเผยจีนกำลังพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล คือ ตงเฟิง-41 (Dongfeng-41/DF-41) สามารถซัดหัวรบนิวเคลียร์ในคราวเดียวถึง 10 ลูก พุ่งไกลถึง 12,000 กม. ซึ่งสามารถโจมตีเขตต่างๆในสหรัฐฯทั่วประเทศ อันนับเป็นก้าวย่างสำคัญในการปะมือกับแสนยานุภาพกองทัพพญาอินทรี

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายการทหารในจีนเมื่อปีที่แล้ว สูงถึง 145,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กระตุกกระแสความวิตกกลัวแก่เหล่าเพื่อนบ้าน.

*มัค (Mach) เป็นหน่วยวัดความเร็วจรวดและเครื่องบิน หนึ่งมัคเท่ากับหนึ่งเท่าของความเร็วเสียง ซึ่งมีอัตราเร็วประมาณ 343.2 เมตรต่อวินาที หรือเกือบ 1,235 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราเร็วมากกว่าหนึ่งมัค เป็นความเร็วเหนือเสียงระดับซูเปอร์โซนิก (Supersonic speed) ด้วยอัตราเร็วขนาดนี้เครื่องบินออกไปเสียงยังมาไม่ถึง และอัตราเร็วมากกว่า 5 มัค เป็นระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic speed)
คลิปรายงานข่าวจีนยืนยันการทดลองจรวดไฮเปอร์โซนิกครั้งแรกเมื่อเดือนม.ค.2557 (คลิป สถานีโทรทัศน์แห่งจีน /ซีซีทีวี)




กำลังโหลดความคิดเห็น