xs
xsm
sm
md
lg

ฮ่องกงระอุ คลื่นฝูงชนนับหมื่นร้องสิทธิเลือกตั้ง-เสรีภาพ รับวันครบรอบ 17 ปี ภายใต้การปกครองจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี--ในโอกาสครบรอบ 17 ปี ที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษส่งมืออำนาจปกครองเกาะฮ่องกงคืนสู่จีนในวันนี้(1 ก.ค.) กลุ่มประท้วงหลายหมื่นคนหลั่งไหลออกมารวมพลใจกลางฮ่องกงท่ามกลางสายฝน เรียกร้องการเปิดกว้างประชาธิปไตยและเสรีภาพจากผู้นำจีน ด้านทางการฮ่องกงระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4,000 นายลาดตระเวน นอกจากนี้ยังมีกองทหารปลดแอกประชาชนจีน ยืนยามตามจุดต่างๆ คอยคุมเชิงอยู่ด้วย
 
ผู้ประท้วงถือป้ายประท้วงระบุ “วันที่ 1 ก.ค. 2557 การชุมนุมของมวลชน” เพื่อเรียกร้องการออกเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นสากล ในวันครบรอบ 17 ปี ที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีน (1 ก.ค. 2557) โดยผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ต่างพากันออกมารวมตัวกันกลางเกาะฮ่องกง มีทั้งการจุดไฟเผารูปพ่อเมืองฮ่องกงและเรียกร้องให้ไล่เขาออกจากตำแหน่ง เหตุดังกล่าวถือเป็นความท้าทายที่สุดสำหรับการปกครองภายใต้รัฐบาลปักกิ่งที่ดำเนินมาสิบกว่าปี (ภาพ: รอยเตอร์ส)
ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายแต่เช้าวันนี้ (1 ก.ค.) ฮ่องกงได้ทำพิธีเชิญธงชาติจีนขึ้นสู่ยอดเสา ณ จัตุรัสโกลเด้น โบฮีเนีย ฉลองครบรอบ 17 ปี ที่ฮ่องกงกลับสู่อำนาจปกครองจีนหลังจากที่อยู่ใต้การปกครองเจ้าอาณานิคมอังกฤษ 99 ปี

ด้านพ่อเมืองฮ่องกง เหลียง เจิ้นอิง กล่าวคำปราศรัยรับวัน “ขอให้นึกถึงความมั่นคงและเสถียรภาพของเกาะเป็นหลัก”

ขณะเดียวกัน นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยหลายกลุ่มเคลื่อนพลออกมาเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งสากลในการเลือกหัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฯ พร้อมกับต่อต้านสมุดปกขาวของผู้นำในปักกิ่งที่ยืนยันอำนาจปกครองของจีน

สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งประชาธิปไตยสังคมฮ่องกง (League of Social Democratsหรือ LSD) ราว 20 คน ออกมาแสดงจุดยืนเรียกร้องการเลือกตั้งแบบเปิด และเผารูปสมุดปกขาวรวมทั้งรูปภาพของนายเหลียง เจิ้นอิง หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยกลุ่มผู้ประท้วงระบุว่า ปักกิ่งโกหกว่าจะยอมให้ฮ่องกงปกครองตนเองอย่างอิสระ ตามข้อตกลงระบบการปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ”
ประชาชนฮ่องกงหลายหมื่นคนที่ต้องการประชาธิปไตย ออกมาชุมนุมในวันที่ 1 ก.ค. 2557 เรียกร้องให้มีลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นสากล (ภาพ: รอยเตอร์ส)
บรรยากาศการประท้วงในจุดต่างๆ เมื่อตอนเย็น ฝูงชนที่มาชุมนุมที่วอตอเรียพาร์ค เริ่มโกรธที่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อม ต่างร้องตระโกน “เปิดทางด้วย” ขณะที่ฝนก็ตกไม่ขาดสาย ด้านหัวหน้าจัดการชุมนุมในเขตหวั่นไฉ (Wan Chai) นาย Leung Sai-kau กล่าวว่ารถของผู้จัดการชุมนุมคืบคลานไปได้ช้ามาก บางทีก็หยุดชะงัก

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเตือนกลุ่มผู้จัดการชุมนุม Civil Human Rights Front ว่า เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามกฎหมายหากกลุ่มประท้วงไม่สนใจคำสั่งตำรวจ “ตำรวจผิดหวังมาก กับการที่ผู้จัดการชุมนุมไม่ให้ความร่วมมือ และอาจจะต้องดำเนินการบางอย่างตามกฎหมาย”

นอกจากนี้ พ่อเมืองเหลียวยังปฏิเสธกลุ่มผู้จัดฯ ที่ปิดถนนเฮนเนสซีทั้งสายเพื่อเปิดทางสะดวกแก่ผู้ประท้วง โดยให้เหตุผลว่าการทำเช่นนั้นจะกระทบต่อภาคบริการ เหตุฉุกเฉินและผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ
ผู้ประท้วงหลายหมื่นคน ออกมารวมตัวกันก่อนเดินประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริงให้แก่ฮ่องกง ในวันที่ 1 ก.ค. 2557 หลังจากที่กระแสความไม่พอใจการแทรกแซงของรัฐบาลปักกิ่งทวีขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันที่ 1 ก.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันแห่งการประท้วงของชาวฮ่องกง และยังเป็นวันเฉลิมฉลองการที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีนเมื่อปี 2540 ภายใต้นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (ภาพ: เอเอฟพี)
ผู้ประท้วงชูธงฮ่องกงเมื่อครั้งอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษ ระหว่างการประท้วงของคลื่นมหาชนฮ่องกงหลายหมื่นคน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริงให้แก่ฮ่องกง ในวันที่ 1 ก.ค. 2557 และเป็นวันเฉลิมฉลองการที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีนเมื่อปี 2540 (ภาพ: รอยเตอร์ส)
กลุ่มหนุนประชาธิปไตยเคลื่อนขบวนใหญ่ ทางการจัดกำลังตร.-ทหารคอยรับมือ

คลื่นผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนทัพแต่เช้า โดยเดินจากจากตึกสมาคมวางแผนครอบครัวในย่านหวั่นไฉ ไปตามสะพานลอย มุ่งหน้าไปยังหอนาฬิกา มีการแบกโลงศพ ร่วมขบวนประท้วงด้วย เพื่อ “ระลึกถึงเหยื่อ 4 คน ที่เสียชีวิตเซ่นระบอบเผด็จการ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา” นาย Koo Sze-Yiu สมาชิกสันนิบาตฯ ระบุ “และเพื่อให้รู้ว่า เมื่อปักกิ่งออกสมุดปกขาวมา ก็เท่ากับว่านโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ เป็นอันจบเห่ลง

ระหว่างการเดินประท้วง รัฐบาลฮ่องกงก็ส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลความเรียบร้อย และคอยกันไม่ให้กลุ่มผู้ประท้วงเข้าไปยังจตุรัสโบนีเฮีย สถานที่จัดงานอันเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาได้ กลุ่มผู้ประท้วงจึงได้แต่ถือป้ายประท้วง พร้อมร้องตะโกน “เราต้องการผู้สมัครรับการเลือกที่มาจากประชาชน” และ “เราไม่กลัวสมุดปกขาว”
ผู้ประท้วง โชว์ป้ายประกาศ ระบุ “ออกไปโดยด่วน” บนรูปหน้าของหัวหน้าคณะบริหารเกาะฮ่องกง นายเหลียง เจิ้นอิง ระหว่างการประท้วงของคลื่นมหาชนฮ่องกงหลายหมื่นคน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริงให้แก่ฮ่องกง ในวันที่ 1 ก.ค. 2557 และเป็นวันเฉลิมฉลองการที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีนเมื่อปี 2540 (ภาพ: รอยเตอร์ส)
ในช่วงบ่าย สมาชิกพรรคสันนิบาตฯ พร้อมประชาชนฮ่องกงหลายหมื่นคน ก็ออกประท้วงตามถนนชาเตอร์และประกาศจะอยู่จนกระทั่งถึงเที่ยงคืนของวันนี้ ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ทางสันนิบาตฯ ออกมาประท้วงโดยไร้ผู้นำ นายเหลียง กว็อก ฮัง ผู้มีฉายา “ผมยาว” ซึ่งต้องโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับการประท้วงเมื่อปี 2554

ด้านรัฐบาลฮ่องกงจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 4,000 นาย รับมือการประท้วงครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มทหารจากกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) กระจายปฏิบัติการตามจุดต่างๆ

นอกจากนี้ แหล่งข่าวระบุเพิ่มเติมว่า นักเคลื่อนไหวกลุ่ม “อ็อกคิวพาย เซ็นทรัล” (Occupy Central) ซึ่งเป็นโต้โผจัดทำประชามติอย่างไม่เป็นทางการไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เตรียมออกมาเคลื่อนไหว นั่งประท้วงกลางเมืองฮ่องกง หากคณะผู้บริหารเกาะฯ ซึ่งนำโดยนายเหลียง ไม่สามารถเสนอแผนงานการเลือกตั้งหัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฯ คนใหม่ ที่มีกำหนดจัดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้าได้ ทั้งนี้ กลุ่มอ็อกคิวพาย เซ็นทรัล เรียกร้องให้แผนงานดังกล่าวให้สิทธิเลือกตั้งแก่ชาวฮ่องกงโดยเป็นเลือกผู้สมัครรับการเลือกตั้งได้เองแทนระบบเดิมที่รัฐบาลปักกิ่งเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครฯ

และนอกเหนือจากกลุ่มอ็อกคิวพายฯ ก็ยังมีกลุ่มสมาพันธ์นักศึกษา สกอล่าริซึม (Scholarism) ที่ออกมาร่วมแสดงจุดยืน โดยหลังจากเดินประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่ถนนชาเตอร์ในวันนี้เสร็จสิ้นลง ทางกลุ่มจะไปนั่งประท้วงด้านนอกที่ทำการหัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฯ ในเขตแอดมิรอลที จนกระทั่งถึง 8 โมงเช้าของวันพรุ่งนี้ (2 ก.ค.)

ด้านรัฐบาลฮ่องกง หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการเชิญธงชาติสู่ยอดเสา นายเหลียง เจิ้นอิง พ่อเมืองฮ่องกง ก็กล่าวระหว่างพิธีการเลี้ยงต้อนรับ โดยระบุว่า พลเมืองฮ่องกงควรหลีกเลี่ยงการกระทำต่างๆที่อาจทำลาย “โอกาสและเสถียรภาพ” ของฮ่องกง โดยชี้ว่า ตอนนี้ระดับรายได้ของประชาชนฮ่องกงกลุ่มที่ยากจนที่สุดกำลังเพิ่มขึ้น ส่วนราคาบ้านและค่าเช่าก็ “อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล เพราะรัฐบาลช่วยอุดหนุนราคาอยู่”

“ทุกคนต้องช่วยกันปกป้องบรรยากาศที่ดีแบบนี้ไว้ ไม่ควรทำอะไรที่กระทบกับความมั่นคง และทำลายโอกาสฮ่องกง” นายเหลียงกล่าว

“ส่วนประเด็นที่ว่าคนแผ่นดินใหญ่กว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง และผู้ค้าคู่ขนาน (parallel-good traders) ก็แก้ได้โดยอาศัย “การทำความเข้าใจทั้งสองฝ่าย” นายเหลียงกล่าวเพิ่มเติม
 (ที่สองจากซ้าย) นายจาง เสี่ยวหมิง ผู้อำนวยการประสานงานรัฐบาลกลาง นายตุง ชี หวา อดีตหัวหน้าคณะบริหารเกาะฮ่องกง นายเหลียง เจิ้นอิง หัวหน้าคณะบริหารเกาะฮ่องกงคนปัจจุบัน นายเจฟฟรีย์ หม่า เต้า ลี หัวหน้างานยุติธรรม และ นายแครรี แลม หัวหน้าเลขาธิการคณะบริหารเกาะฮ่องกง ในพิธีการต้อนรับ ณ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงฮ่องกง ในหวั่นไฉ วันที่ 1 ก.ค. 2557 (ภาพ:โจนาธาน หว่อง)
อนึ่ง สถานการณ์การเมืองในฮ่องกงระอุมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนสู่จีนในวันที่ 1 ก.ค. 2540 ตามสัญญาเช่าเกาะฮ่องกง 99 ปี ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่จีนแพ้อังกฤษในสงครามฝิ่น เมื่อปี 2385

ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ฮ่องกงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย นอกจากนี้ ชาวฮ่องกงยังรับวัฒนธรรมความคิดทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยจากอังกฤษมาใช้ ซึ่งขัดแย้งกันอย่างมากกับการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

อย่างไรก็ตาม ก็มีความพยายามประนีประนอมทางการเมืองเกิดขึ้น เมื่อฮ่องกงเข้าเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรัฐบาลปักกิ่งตกลงใช้นโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ในการปกครองฮ่องกง ตามกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ในการปกครองและบริหารฮ่องกง ซึ่งสภาประชาชนจีนอนุมัติและประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2533 โดยให้สิทธิฮ่องกงในการปกครองตนเองอย่างอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเสรี รวมทั้ง กำหนดให้ฮ่องกงสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540

ทว่า เมื่อต้นเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งกลับออก “สมุดปกขาว” ระบุว่า รัฐบาลกลางกรุงปักกิ่งมีอำนาจในการปกครองและใช้อำนาจบังคับควบคุมฮ่องกงอย่างครอบคลุมทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของอำนาจการปกครองตนเองของฮ่องกงอีกด้วย โดยฮ่องกงมีฐานะเป็นเพียงเขตบริหารท้องถิ่นเขตหนึ่งของจีนเท่านั้น และยังเน้นย้ำว่า แม้ในอนาคตฮ่องกงอาจเลือกผู้นำของตนเองได้ด้วยการใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสากล แต่ชาวฮ่องกงก็ต้องจงรักภักดีต่อประเทศชาติ

ด้วยเหตุนี้ สมุดปกขาว จึงกลายเป็นตัวกระตุ้นให้คนฮ่องกงวิตกกังวลกับอนาคตของตนเองภายใต้การปกครองของรัฐบาลปักกิ่ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งหัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฯ เพราะนั่นหมายความว่า อิสระทางกฎหมายของพวกเขาอาจถูกริดรอนได้

ทั้งนี้ ประชาชนฮ่องกงต้องการสิทธิในการเลือกผู้สมัครรับการเลือกตั้ง เพราะปัจจุบันปักกิ่งจะเป็นผู้คัดสรรผู้สมัครฯ ซึ่งนั่นมิใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสายตาของชาวฮ่องกงที่เคยชินกับการปกครองตนเอง เมื่อครั้นอยู่กับอังกฤษ อีกทั้งยังมีประเด็นไม่ชอบมาพากลเรื่องงบประมาณก่อสร้างเมืองใหม่ในเขตพื้นที่นิว เทอริทอรีส์ ซึ่งสภาฮ่องกงรีบลงมติระหว่างที่ผู้นำฝ่ายค้านถูกจำคุก

ทั้งหมดเหล่านี้ จึงเป็นความท้าทายระลอกใหม่ และระลอกใหญ่ที่รัฐบาลปักกิ่งต้องเผชิญ...อีกนาน
พิธีการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่จีน ด้านซ้าย เป็นรูปธงชาติจีน ในขณะที่ด้านขวามีการปลดธงชาติอังกฤษลง เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2540 ฮ่องกงกลับสู่อ้อมอกการปกครองของจีนหลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ 99 ปี (ภาพ: รอยเตอร์ส)

กำลังโหลดความคิดเห็น