เอเจนซี--ศาลจีนสร้างความประหลาดใจเหลือล้น โดยได้คว่ำคำตัดสินประหารชีวิตหญิงที่กลายเป็นฆาตกรสังหารโหดสามีด้วยเหตุที่สุดทนต่อความรุนแรงในบ้าน
ศาลประชาชนสูงสุดได้ประกาศคว่ำการรับรองคำพิพากษาประหารชีวิตนาง หลี่ เยี่ยน โทษฐานสังหารสามีของตน ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของน้องชายนางหลี่ คือ นาย หลี่ เต๋อหวย โดยนายหลี่กล่าวว่าเขาได้รับจดหมายกลับคำตัดสินฯนี้จากพี่สาวที่ถูกจองจำในคุก
กัว เจี้ยนเหม่ย ทนายของนางหลี่ บอกเมื่อวันอังคาร(24 มิ.ย.) ว่าเธอยังไม่ได้รับแจ้งการกลับคำตัดสินฯนี้จากศาลสูงสุด
“เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า คำตัดสินถูกส่งกลับมาในเดือนพ.ค.” นายหลี่กล่าว
ทั้งนี้ศาลประชาชนสูงสุดมีหน้าที่รับรองคำตัดสินประหารชีวิตในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้าที่เพชฌฆาตจะลงดาบจำเลย นายหลี่กล่าวว่าเขาไม่รู้เหตุผลที่ศาลประชาชนสูงสุดล้มคำตัดสินฯนี้ เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก เนื่องจากกรณีกลับคำตัดสินประหารชีวิตเช่นนี้ แทบไม่เคยปรากฏมาก่อน
คดีนางหลี่ เยี่ยนได้กลายเป็นคดีหลักหมายในกระแสเรียกร้องการผลักดันกฎหมายความรุนแรงภายในครอบครัว
นาง หลี่ เยี่ยนวัย 43 ปี ชาวซื่อชวน (เสฉวน) เป็นหนักงานในวิสาหกิจรัฐที่ถูกปลดออกจากงาน เคยหย่ามาก่อน ต่อมาได้แต่งงานกับนาย ถัน หย่ง ระหว่างอยู่กินกันนั้นนายถันได้ใช้กำลังทำร้ายนางหลี่อย่างทารุณ กระทั่งถูกตัดนิ้วชี้ ใช้บุหรี่จี้ใบหน้าเธอ และขังเธอไว้ที่ระเบียงในช่วงฤดูหนาว
นางหลี่พยายามหลายครั้งในการแจ้งฟ้องร้องกับตำรวจ และขอความช่วยเหลือจากสมาพันธ์สตรีแห่งจีน (All China Women’s Federation) ประจำเขตอันเย่ว์ เมืองจือหยัง แต่ก็ไร้ผล
จนกระทั่งวันที่ 3 พ.ย. 2553 นายถันเมากลับมาบ้าน เตะนางหลี่และยังขู่ว่าจะยิงเธอด้วยปืนไรเฟิล ครู่ต่อมานางหลี่ได้ใช้ปืนอีกระบอกยิงนายถันเสียชีวิต จากนั้นก็ใช้มีดทำครัวหั่นร่างนายถันเป็นชิ้นๆ นำส่วนศีรษะไปต้ม และนำชิ้นส่วนศพไปทิ้ง นางหลี่กล่าวว่าเธอทำเพื่อปกป้องตัวเอง
ต่อมานางหลี่ก็ถูกจับกุมตัวหลังจากที่เธอได้บอกความลับเรื่องสังหารสามีกับเพื่อนของตน ศาลท้องถิ่นตัดสินนางหลี่ มีความผิด “เจตนาสังหาร” และพิพากษาโทษประหารชีวิต ศาลประชาชนระดับสูงปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์ของเธอ ในปีที่แล้ว (2556) ศาลประชาชนสูงสุดก็รับรองโทษประหารชีวิต แต่ยังไม่ประกาศกำหนดประหารชีวิต
กลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษยชนได้ยื่นจดหมายร้องเรียนพร้อมรวบรวมลายเซ็นของประชาชนหลายพันคน ร้องขอให้ศาลทบทวนคำตัดสินโดยให้พิจารณาความทุกข์ทนของนางหลี่ก่อนสังหารสามี
จอห์น คัมม์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิตุ้ยฮว่า (Duihua Foundation) กลุ่มพิทักษ์สิทธิทางกฎหมายที่มีฐานในสหรัฐฯ ร้อยละ 10-20 ของคำตัดสินโทษประหารชีวิตที่ถูกส่งไปยังศาลประชาชนสูงสุด ได้รับการกลับคำตัดสินนับจากปี 2550 “ในประเทศจีน เมื่อผู้หญิงถูกทำร้ายซ้ำๆซากๆ และได้ลุกขึ้นมาสังหารสามีเป็นการโต้ตอบ พวกเธอจะถูกตัดสินโทษประหาร ดังนั้นการคว่ำคำตัดสินนี้จึงเป็นแนวโน้ม ผมไม่คิดว่าศาลสูงที่เสฉวนจะตัดสินประหารชีวิตนางหลี่อีก”
จากการสำรวจที่ได้รับทุนจากรัฐบาล จัดทำโดยสมาพันธ์ผู้หญิงแห่งจีน (All China Women’s Federation)เมื่อปีที่แล้ว(2556) พบว่า 1 ใน 4 ของผู้หญิงในจีน ต้องทนทุกข์ทรมานจากความรุนแรงในครอบครัว เกือบครึ่งของหญิงเหล่านี้ ทนกับการทำร้าย ราว 10 ครั้ง หรือมากกว่า.