เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ภูมิภาคซินเจียงเริ่มทดลองวิ่งรถไฟความเร็วสูงสายแรกในเดือนนี้ (มิ.ย.) ซึ่งเจ้าหน้าที่หวังว่า จะช่วยเชื่อมโยงธุรกิจและวัฒนธรรมระหว่างชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่า การทุ่มงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่อาจรับประกันว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาชนเชื้อสายอุยกูร์ ที่ถูกกีดกันการจ้างงานได้
รถไฟความเร็วสูงสายหลันซินเรลเวย์วิ่งระยะทางไกล 1,776 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเมืองอู๋หลู่มู่ฉี (อุรุมชี) ซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ กับเมืองหลันโจว มณฑลกานซู่ นอกจากนั้น ยังย่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่างเมืองต่าง ๆ จาก 12 ชม. เหลือประมาณ 8 ชม.
นายเออร์คิน ตูนิยาซ (Erkin Tuniyaz) รองหัวหน้าคณะผู้บริหารท้องถิ่นของภูมิภาคระบุว่า รถไฟความเร็วสูงสายนี้เป็นโครงการ 1 ในทั้งหมด 10 โครงการ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง หรือมีโครงการจะก่อสร้าง และจะทำให้ซินเจียงมีบทบาทแข็งแกร่งขึ้นในฐานะ “ศูนย์กลางการขนส่งขนานไปกับแนวเศรษฐกิจของเส้นทางค้าไหม” นอกจากนั้น ยังจะช่วยเปิดกว้างสู่ภาคตะวันตก รวมทั้งสร้างสันติภาพและระเบียบในระยะยาวในซินเจียงอีกด้วย
โครงการรถไฟความเร็วสูงสายดังกล่าวจะขยายเครือข่ายการเดินรถไฟในภูมิภาคซินเจียงอีกร้อยละ 18 เป็น 5,800 กิโลเมตร
ภูมิภาคซินเจียงตั้งอยู่ติดกับพรมแดนของทวีปเอเชียกลาง มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร ซึ่งจะเป็นกุญแจไขปัญหาความต้องการใช้พลังงาน ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นของจีน
นายไหล ซิ่น เจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาและปฏิรูปภูมิภาคซินเจียงกล่าวว่า การขาดแคลนระบบโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคทำให้การพัฒนาความเจริญทำได้อย่างจำกัด
เขาเชื่อมั่นว่า รถไฟความเร็วสูงจะช่วยให้ชนกลุ่มน้อยสามารถหางานทำ หรือเดินทางไปที่อื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางและเสียเวลามาก โดยนายไหลสัญญาว่า ค่าตั๋วรถไฟจะมีราคาในระดับที่สามารถซื้อได้ จากปัจจุบันค่าเดินทางเที่ยวเดียวจากอุรุมชีไปหลันโจวประมาณ 215 หยวน - 600 หยวน (ราว 1,075 - 3,000 บาท)
รัฐบาลปักกิ่งยืนยันว่า ชนเชื้อสายอุยกูร์มิได้ถูกทอดทิ้ง แต่รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาการว่างงานในพื้นที่ ซึ่งมีชาวอุยกูร์อาศัยเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทางตอนใต้ของซินเจียง โดยสั่งการให้รัฐวิสาหกิจในภูมิภาครับจ้างพนักงานใหม่จากคนในท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 70 ซึ่งอย่างน้อย 1 ใน 4 ต้องเป็นชนกลุ่มน้อย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยอาวุโสของสถาบันรอแยล ยูไนเต็ต เซอร์วิสเซส ( Royal United Services Institute) ในอังกฤษระบุว่า การมองปัญหาในภูมิภาคว่าเกิดจากการขาดการพัฒนานับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การพัฒนาเศรษฐกิจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมองข้ามความจริงที่ว่า คนในท้องถิ่นกำลังรู้สึกว่าวัฒนธรรมและดินแดนของพวกเขาได้ถูกฉกฉวยเอาไป
นอกจากนั้น หลายคนยังมองว่า การขยายการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันตกไกลจะทำให้แรงงานอพยพหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ยิ่งเลวร้าย
ศาสตราจารย์หยัง ซู ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียกลางศึกษาของมหาวิทยาลัยหลันโจวระบุว่า การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้ชนกลุ่มน้อยเดินทาง เพื่อไปหางานทำได้สะดวกขึ้น แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกีดกันการจ้างงาน หรือการกดขี่ทางศาสนาได้
จากผลการวิจัยของสถาบันพบว่า ปัญหาชนกลุ่มน้อยไม่มีงานทำเกิดจากบริษัทของชาวฮั่นมากมายมักติดต่อทำธุรกิจกับบริษัทชาวฮั่นด้วยกัน จึงต้องจ้างพนักงานที่พูดภาษาจีนกลาง ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องหาหนทางให้ชนกลุ่มน้อยได้เรียนภาษาจีนกลางด้วยเช่นกัน