เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - อาสาสมัครจีนสร้างความคืบหน้าครั้งใหม่แก่โครงการอวกาศแดนมังกร ด้วยการทดลองเพาะตัวหนอน สัตว์เลื้อยคลานยุ่บยั่บ ที่นักวิทยาศาสตร์ชาติตะวันตกส่ายหัว กินเป็นอาหาร ระหว่างการทดลองดำรงชีวิตในห้วงอวกาศเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน
อาสาสมัครสำหรับภารกิจท้าทายคราวนี้มีทั้งหมด 3 คน เป็นชายหนึ่ง หญิงสอง การทดลองทำขึ้นภายใน “วังพระจันทร์หนึ่ง” ( Moon Palace One) ห้องทดลอง ซึ่งจำลองโลกของสิ่งมีชีวิต ที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยการบินและอวกาศแห่งปักกิ่ง วังพระจันทร์หนึ่งเป็นสถานที่พัฒนาระบบการยังชีพในอวกาศ ที่ใหญ่สุดและมีความละเอียดซับซ้อนที่สุดของจีน
อาสาสมัครทั้งสามคนใช้เวลาอยู่ภายในห้องทดลอง ซึ่งถูกปิดผนึกเป็นเวลา 105 วัน และพิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่าหนอนก็สามารถเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญระหว่างการปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นเวลานาน ๆ ได้เช่นกัน
นักวิทยาศาสตร์จีนเคยเสนอความคิดเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2552 ให้ใช้หนอนเป็นแหล่งอาหาร ที่สำคัญแหล่งหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิตของนักบินอวกาศ แต่ถูกชาติตะวันตกคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า แม้เจ้าหนอนตัวน้อย ๆ ที่ไต่ยั้วเยี้ยนี้จะมีโปรตีนสูงก็จริง แต่มันไม่ชวนให้น้ำลายไหลเลยสักนิดเดียว และจะทำลายขวัญกำลังใจของนักบินอวกาศเสียมากกว่า
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมการวิจัยครั้งนี้เปิดเผยว่า อาสาสมัครเกิดอาการกระอักกระอ่วนบ้าง ที่ต้องทนเคี้ยวหนอนในปากและกลืนลงคอวันแล้ววันเล่ากว่า 3 เดือน แต่ก็สามารปรับตัวได้อย่างราบรื่นในที่สุด
วังพระจันทร์หนึ่งมีเนื้อที่กว้าง 160 ตารางเมตร ประกอบด้วย 3 ห้อง โดยห้องหนึ่งสำหรับเป็นที่อาศัย และอีก 2 ห้องสำหรับปลูกพืช มีการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งเซลเชื้อเพลิง เพื่อให้อาสาสมัครสามารถพึงพาตัวเองได้
นายหู ต้าเหว่ย นักวิจัยในโครงการเล่าว่า อาสาสมัครจะขุนหนอนนก (mealworm) ให้อ้วนด้วยก้านและใบของพืช โดยหนอนชนิดนี้ประกอบด้วยโปรตีนถึงกว่าร้อยละ 76 และโตขนาดเท่านิ้วมือภายในเวลา 1 เดือน
นายหูระบุว่า อาสาสมัครแต่ละคนจำเป็นต้องบริโภคหนอนหลายสิบตัวเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนในแต่ละวัน โดยอาสาสมัครได้นำเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น เต้าเจี้ยวมาเหยาะใส่ คลุกเคล้า ดัดแปลงเป็นสูตรอาหารได้หลายเมนู อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังต้องพึ่งแหล่งอาหารอื่น ๆ ถึงกว่าครึ่งหนึ่งของอาหาร ที่รับประทานนอกเหนือจากหนอนอีกด้วย
ขณะนี้คณะนักวิจัยกำลังเตรียมเพิ่มห้องปลูกพืชอีก 1 ห้อง สำหรับการดำรงชีวิตของอาสาสมัครจำนวน 4 คนด้วยผักและหนอนในห้วงอวกาศจำลอง โดยผลสำเร็จจากการทดลองครั้งนี้จะนำไปพิจารณาปรับใช้สำหรับภารกิจท่องอวกาศของนักบินอวกาศจีนในอนาคต
นายหูชี้ว่า องค์การสหประชาชาติเองได้แนะนำให้ผู้คนที่อดอยากหิวโหย ซึ่งอาศัยในพื้นที่ยากจน เช่นในทวีปแอฟริการับประทานหนอนนกเป็นอาหาร จีนจึงคิดว่า เหตุใดจึงไม่นำหนอนชนิดนี้มาให้นักบินอวกาศทดลองบริโภคดูบ้างเล่า
“หนอนอาจดูน่าสะอิดสะเอียน แต่ก็เป็นแหล่งอาหารที่สะอาดและมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่สุดจริง ๆ นะครับ” นายหูกล่าว
ทั้งนี้ จีนส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่วงโคจรโลกในปีพ.ศ. 2546 จากนั้น โครงการอวกาศแดนมังกรก็ก้าวรุดหน้ามาโดยตลอด กระทั่งสามารถส่งรถ 4 ล้อขึ้นไปแล่นสำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อปีที่แล้ว และมีแผนสร้างสถานีอวกาศขึ้นภายในปีพ.ศ. 2563
อย่างไรก็ตาม สำหรับการทดลองกินหนอนนี้ นายหลิว เหล่ย ผู้จัดการภัตตาคารและเป็นผู้ชื่นชอบเกี่ยวกับโครงการอวกาศคนหนึ่งกล่าวแสดงความผิดหวัง ที่ให้หนอนมีส่วนร่วมในการเดินทางไปอวกาศด้วย
“ รายการอาหารปรุงด้วยหนอน อาจทำให้บางคนที่อยากเป็นนักบินอวกาศต้องล้มเลิกความใฝ่ฝันก็เป็นได้นะครับ” ชาวปักกิ่งผู้นี้ให้ความเห็น ที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย