xs
xsm
sm
md
lg

19 ปี ที่โลกนี้ไม่มี “เติ้ง ลี่จวิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เติ้ง ลี่จวิน ราชินีเพลงแห่งไต้หวัน

เพลง เย่ว์เลี่ยงไต้เปี่ยวหวั่วติซิน หนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของ เติ้ง ลี่จวิน
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคมของ 19 ปีก่อน ถือเป็นเดือนแห่งความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของชาวจีนครั้งหนึ่ง เมื่อดวงดาวที่เจิดจริสที่สุดในฟากฟ้าบันเทิงเอเชียล่วงลับดับสูญ ชื่อของเธอไม่มีชาวจีนคนไหนในโลกไม่รู้จัก เธอผู้นี้คือ เติ้ง ลี่จวิน หรือ เทเรซา เติ้ง ศิลปินไต้หวันผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งเพลงตลอดกาล
ภาพวัยเด็กของหนูน้อยเติ้ง
เติ้ง ลี่จวิน เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 1953 ที่หมู่บ้านเถียนหยัง ตำบลเปาจง อำเภอหยุนหลิน เกาะไต้หวัน ขณะที่พื้นเพเดิมของ เติ้งซู ผู้บิดา เป็นชาวมณฑลเหอเป่ย โดยเป็นนายทหารโรงเรียนนายร้อยหวงผู่แห่งพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ก ส่วนมารดาเป็นชาวซานตง เมื่อพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิสนิสต์จีนและย้ายไปตั้งรัฐบาลคณะชาติที่ไต้หวัน ครอบครัวของเติ้ง ลี่จวินจึงได้ย้ายไปตั้งรกรากที่ไต้หวันเช่นกัน เติ้ง ลี่จวินเป็นบุตรสาวคนเดียวในบรรดาพี่น้องทั้งหมดรวม 5 คน เดิมทีชื่อ ลี่ อวิ๋น ซึ่งแปลว่า “ไผ่เขียวที่งดงาม” แต่คนรอบข้างมักเรียกเป็น ลี่ จวิน ที่แปลว่า “หญิงที่งดงาม” เมื่อเข้าวงการบันเทิงเธอจึงใช้ชื่อ “เติ้ง ลี่จวิน” เป็นชื่อในวงการ
เติ้ง ลี่จวิน เมื่อครั้งคว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดร้องเพลงจากสถานีวิทยุแห่งชาติไต้หวัน
ปี 1963 เติ้ง ลี่จวิน แจ้งเกิดครั้งแรกบนถนนมายาด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดร้องเพลงของสถานีวิทยุแห่งชาติไต้หวัน ซึ่งเธอเป็นผู้เข้าประกวดที่อายุน้อยที่สุดในการแข่งขัน หลังจากนั้นจึงเลือกทางเดินชีวิตให้กับตัวเองด้วยการลาออกจากการเรียนในชั้นมัธยม 3 เพื่อก้าวสู่การเป็นนักร้องอาชีพ โดยเธอได้บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกภายใต้สังกัดค่าย Universal Records

เพลงภาษาญี่ปุ่น “คูโค 空港” เป็นเพลงฮิตยอดนิยมในญี่ปุ่นที่ทำให้ เติ้ง ลี่จวินได้รับรางวัลใหญ่จากเวที Japan Record Award มาครองเมื่อปี 1974
บนเส้นทางดนตรีในช่วงเริ่มต้น เติ้ง ลี่จวิน ผ่านมาแล้วทั้งการร้องเพลง งานแสดงภาพยนตร์ แขกรับเชิญในรายการทอล์กโชว์ และนักร้องรับเชิญในคอนเสิร์ตระดับชาติหลายวาระ ปี 1969 เดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในชีวิต ตามคำเชิญของมาดามลีกวนยู เพื่อไปร้องเพลงการกุศลที่สิงคโปร์ จากนั้นจึงไปเปิดการแสดงที่เกาะฮ่องกงครั้งแรกในปี 1970 ปี 1973 เติ้ง ลี่จวินเซ็นสัญญาออกอัลบั้มกับบริษัทโพลีดอร์ เรคคอร์ด ประเทศญี่ปุ่น เพลงจำนวนมากของเธอถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น และที่นี่นักร้องสาวได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการแสดงอารมณ์เพลง ในช่วงนี้ชื่อเสียงของเติ้ง ลี่จวินเริ่มโด่งดังไปทั่วเอเชีย ปัจจัยสำคัญเพราะเธอเป็นนักร้องที่ร้องเพลงได้หลายสไตล์ และเป็นนักร้องที่ออกเสียงชัดเจนไม่ว่าจะร้องด้วยภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เวียดนาม จีนกลาง กวางตุ้ง

เติ้ง ลี่จวิน ร้องเพลงภาษาอังกฤษ Rhythm Of The Rain
ในขณะที่ชื่อเสียงโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ ปี 1979 เกิดมรสุมชีวิตครั้งใหญ่นั่นคือเธอถูกทางการญี่ปุ่นจับกุม เนื่องจากจับได้ว่า เติ้ง ใช้พาสปอร์ตปลอมสัญชาติอินโดนีเซีย เพื่อเดินทางจากฮ่องกงเข้ามายังประเทศญี่ปุ่น ทางการญี่ปุ่นจึงลงโทษให้ เติ้ง ลี่จวิน เดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่น และไม่อนุญาติให้กลับเข้ามาภายในเวลา 1 ปี ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบทางลบต่อชื่อเสียงของเธอในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับปัญหาด้านสุขภาพโรคหอบหืดเรื้อรัง ทำให้เธอตัดสินใจอพยพไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

เติ้ง ลี่จวิน อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ตลอดช่วงทศวรรษ 1980 เธอ เป็นนักร้องจีนคนแรกที่มีโอกาสเปิดการแสดงที่ซีซาร์พาเลส ในลาสเวกัส และนับตั้งแต่ปี 1991 เติ้ง ลี่จวิน ได้ลดบทบาทในอาชีพการร้องเพลงลง โดยเลือกใช้เวลาพักผ่อนส่วนใหญ่ในประเทศไทยและฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลอดชีวิตการเป็นนักร้องอาชีพของ เติ้งลี่จวิน เธอจะเคยขึ้นเวทีคอนเสิร์ตมานับครั้งไม่ถ้วน ในหลายสถานที่ ทว่ามีสถานที่หนึ่ง ซึ่งเติ้ง ลี่จวิน ไม่เคยเดินทางไปเปิดคอนเสิร์ต หรือแม้แต่เหยียบย่างเข้าไป แต่กลับเป็นที่ที่มีแฟนเพลงของเธอมากที่สุดในโลก...นั่นก็คือ “จีนแผ่นดินใหญ่”

เติ้ง ลี่จวิน โด่งดังขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 70 ซึ่งไต้หวันเต็มไปด้วยบรรยากาศการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ส่วนตัวของเธอในฐานะบุตรสาวของนายทหารแห่งพรรคก๊กมินตั๋ง มีความคิดต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ ครั้งที่มีเหตุการณ์กลุ่มนักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพในวันที่ 15 เมษายน 1989 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจบลงด้วยการนองเลือดเมื่อรัฐบาลปักกิ่งใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ประท้วง ด้าน เติ้ง ลี่จวิน ได้เปิดคอนเสิร์ตในนามของกลุ่มนักศึกษาขึ้นที่ฮ่องกง เพื่อประกาศจุดยืนสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษาในกรุงปักกิ่งของจีน คอนเสิร์ตดังกล่าวมีชื่อว่า "บทเพลงประชาธิปไตยอุทิศให้เมืองจีน" มีผู้เข้าชมกว่าสามแสนคน ซึ่งราชีนีเพลงประกาศว่า ตราบใดที่จีนแผ่นดินใหญ่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เธอจะไม่เหยียบย่างไปเป็นอันขาด

เพลง เหมยฮวา ซึ่งแปลว่า ดอกเหมย ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำไต้หวันที่รัฐบาลไต้หวันกำหมด นับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 1964 เป็นต้นมา
กระนั้น ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1980 เติ้ง ลี่จวินก็ยังมีชื่อเสียงในหมู่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่อย่างมาก แม้ว่าทางการจีนจะสั่งห้ามเนื่องจากจีนในช่วงนั้นอยู่ภายใต้กระแสของการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ชาวจีนส่วนหนึ่งพยายามหาเพลงของเธอมาจากตลาดมืด ยิ่งห้ามยิ่งดัง เพลงของเธอถูกเปิดทุกที่ ตั้งแต่สถานเริงรมย์จนถึงสถานที่ราชการ จนกระทั่งยุคเติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นเป็นผู้นำ รัฐบาลจีนจึงอนุญาตให้เพลงจากฮ่องกงและไต้หวันเข้ามายังแผ่นดินใหญ่ได้ เพลงของเติ้ง ลี่จวินได้เข้าไปเติมความชุ่มชื่นในใจของชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ ที่แห้งแล้งจากบรรยากาศของการปฏิวัติ เนื้อหาของเพลงที่พูดถึงความจริงใจ มิตรภาพ ความรัก กลายเป็นเครื่องบำบัดจิตใจจากความเคร่งเครียด หลังจากถูกหล่อหลอมให้ฟังแต่เรื่องความรักที่ผูกกับอุดมการณ์ทางการเมือง

เพลง เหอรื่อจวินไจ้ไหล ที่เติ้ง ลี่จวินนำเพลงเก่ามาร้องใหม่จนโด่งดังเป็นพลุแตกไปทั่วเอเชีย ทว่าเพลงนี้ถูกห้ามเปิดในจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะคำว่า "รื่อจวินไจ้ไหล(日君再来)" ไปพ้องเสียงกับคำที่มีความหมายว่า "ทหารญี่ปุ่นจะบุกอีกครั้ง(日军再来)"คลิกอ่านเนื้อเพลงและรายละเอียดเพลง
ชาวจีนให้ฉายาเติ้ง ลี่จวินว่า “เสี่ยวเติ้ง” (เติ้งน้อย) เพื่อให้คล้องกับ “เหล่าเติ้ง” หรือ เติ้ง เสี่ยวผิง จนมีคำกล่าวว่า "กลางวันฟังเหล่าเติ้ง(เสี่ยวผิง) กลางคืนฟังเสี่ยวเติ้ง(ลี่จวิน)" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลในเพลงของเธอที่มีต่อวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้นอย่างยิ่ง

เติ้ง ลี่จวินถือเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตการทำงานจนยากที่จะมีใครเทียบเคียง แต่ในด้านชีวิตด้านความรักกลับไม่นับว่างดงามนัก

เพลง เสยไหลไอ้หวั่ว
คลิกเพื่ออ่านเนื้อเพลงรายละเอียดเพลง และเรื่องราวความรักของ เติ้ง ลี่จวิน

รักสุดท้ายของ เติ้ง ลี่จวิน หยุดลงที่หนุ่มต่างชาติ โดยช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เติ้ง ลี่จวินค่อยๆ หายไปจากวงการเพลงเนื่องจากถึงจุดอิ่มตัว รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพคือโรค หอบหืดเรื้อรัง ทำให้เธอหลบไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส และเริ่มคบหากับช่างภาพ ที่มีชื่อว่า พอล ซึ่งอายุอ่อนกว่าเธอนับ 10 ปี และเป็นคนเดียวกับที่ร่วมเดินทางมายังประเทศไทยในการเดินทางสุดท้ายก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลงที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1995
พอล ช่างภาพต่างชาติ อายุน้อยกว่า 10 ปี ผู้เป็นรักสุดท้ายของราชินีเพลงชื่อก้อง
ราชินีนักร้องไต้หวันจากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 42 ปี ปัจจุบันศพของเติ้ง ลี่จวิน ถูกฝังอยู่ที่หลุมศพในสวนอวิ๋นหยวน บนเขาจินเป่าซาน ไต้หวัน

19 ปีผ่านไป แม้ร่างอาจเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่ตำนานที่ราชีนีเพลงผู้นี้สร้างเอาไว้ยังคงอยู่ บทเพลงของเติ้ง ลี่จวิน คือผลงานอมตะที่ยังคงถูกขับขานแว่วหวานมาจนถึงปัจจุบัน และยังคงสืบเนื่องต่อไปในวันข้างหน้า ดั่งคำที่ว่า ที่ใดมีชาวจีน ที่นั่นย่อมมีเพลงของ เติ้ง ลี่จวิน
หลุมศพของ เติ้ง ลี่จวิน ในสวนอวิ๋นหยวน บนเขาจินเป่าซาน ไต้หวัน

พิธีศพ เติ้ง ลี่จวิน เมื่อปี 1995
ผลงานเพลงของ เติ้ง ลี่จวิน ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำ

เพลง หนี่เจิ่นเมอซัว
คลิกอ่านเนื้อเพลงและรายละเอียดของเพลง

เพลง หวั่วเหอหนี่ หนึ่งในเพลงฮิต ที่เติ้ง ลี่จวินร้องครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2517 ซึ่งเป็นปีที่ราชินีเพลงผู้นี้เดินทางไปออกผลงานที่ญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว
คลิกอ่านเนื้อเพลงและรายละเอียดของเพลง

เพลง ไจ้สุ่ยอี้ฟัง
คลิกอ่านเนื้อเพลงและรายละเอียดของเพลง

เสี่ยวชุนจือเลี่ยน
คลิกอ่านเนื้อเพลงและรายละเอียดของเพลง

เพลง เสี่ยวเฉิงกู้ซื่อ หนึ่งในผลงานเด่นของเติ้ง ลี่จวิน ร้องเอาไว้เมื่อปี 1979 เพื่อประกอบภาพยนตร์ไต้หวันชื่อเดียวกัน หรือ The Story of A Small Town ที่นำแสดงโดย เก่อ เซียงถิง, หลิน เฟิ่งเจียว, จง เจิ้นเทา(เคนนี บี), เจียง หมิง
คลิกอ่านเนื้อเพลงและรายละเอียดของเพลง

เพลง ไจ้เจี้ยนหวั่วติไอ้เหริน หรือ goodbye my love อีกหนึ่งเพลงฮิต ที่ผู้กำกับดัง ปีเตอร์ ชาน หยิบมาใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์สุดโรแมนติก เถียน มี่มี่( Comrade almost a love story) นำแสดงโดย หลี หมิง และ จาง มั่นอี้ว์
คลิกอ่านเนื้อเพลงและรายละเอียดของเพลง
กำลังโหลดความคิดเห็น