เอเยนซี - สืบเนื่องจากเทศกาลตรุษจีนอันเป็นประเพณีเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนทั่วทุกมุมโลก ซึ่งกำหนดให้วันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ และปี 2557 นี้ หมุนเวียนมาตรงกับปีนักษัตร “มะเมีย” หรือ “ม้า” ตามคติความเชื่อของจีน มุมจีนจึงขอพาท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับประวัติศาสตร์ “ม้า” ฉบับย่อของแดนมังกร
ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเกี่ยวกับ “ม้า” ของจีนนั้น มีอายุย้อนกลับไปในอดีตมากกว่า 5,000 ปี ซึ่งทำให้พอกล่าวได้ว่าชาวจีนถือเป็นชนชาติแรกๆ ในโลกที่รู้จักนำม้ามาเลี้ยงดูเพื่อไว้ใช้ในกิจการงานต่างๆ โดยพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนกับม้าเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty, 1100-221BC) ซึ่งมีการแบ่งม้าออกเป็น 6 ประเภทตามการใช้งาน คือ ม้าพ่อพันธุ์ ม้าศึก ม้าพิธีการ ม้าสื่อสาร ม้าล่าสัตว์ และม้าอเนกประสงค์
ต่อมาในยุคราชวงศ์ฉิน (Qin Dynasty) ก็เริ่มมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลม้าอย่างเป็นการเป็นงานมากขึ้น โดยเห็นได้จากกองทหารม้าอันน่าเกรงขามของจักรพรรดิฉินสื่อหวง (Qin Shihuang - 秦始皇) ผ่านมาจนถึงราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty, 221BC-AD220) พบหลักฐานการเพาะเลี้ยงม้ากว่า 300,000 ตัวในเขตชายแดนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ จนกระทั่งยุคราชวงศ์ถังตอนต้น (Tang Dynasty, 618-907) จำนวนม้าเลี้ยงได้เพิ่มขึ้นเป็น 700,000 ตัว แสดงถึงการให้ความสำคัญกับสัตว์สี่เท้า ฝีก้าวปราดเปรียว และเต็มไปด้วยพละกำลังชนิดนี้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นยังพบการนำเข้าม้าชั้นดีจากพื้นที่ห่างไกลทางภาคตะวันตกมากกว่า 7,000 ตัว เพื่อส่งเสริมสรรพกำลังของกองทหารม้าจีน ทำให้เห็นได้ว่า “ม้า” ไม่เพียงแต่มีบทบาทสำคัญในกิจการป้องกันประเทศ แต่ยังมีอิทธิพลต่อการแลกเปลี่ยนสื่อสารทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับชาติอื่นๆ ในซีกโลกตะวันตกอีกด้วย
อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงม้าในจีนได้สั่งสมประสบการณ์ผ่านช่วงเวลาหลายยุคหลายสมัย ขณะที่องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับม้าก็มีความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ว่าจีนมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องม้าเป็นจำนวนมาก อาทิ เฟยจื่อ (Feizi - 非子) นักเลี้ยงม้า และเจ้าฝู่ (Zaofu - 造父) นักบังคับรถม้า ทั้งสองต่างมีชื่อเสียงอยู่ในสมัยราชวงศ์โจวตอนต้น จนกระทั่งมาถึงยุคชุนชิวจ้านกั๋ว (the Spring and Autumn and Warring States periods, 770-221BC) ที่มีผู้เชี่ยวชาญม้าผุดขึ้นมาอีกมากมาย
ทางด้านหลักเกณฑ์พิจารณาคัดสรรม้าพันธุ์ดีนั้นขึ้นอยู่กับ ‘ทัศนคติ’ ของผู้เลี้ยงและ ‘ชนิดพันธุ์’ ของม้า โดยจีนมี “ปั๋วเล่อ” (Bole - 伯乐) นักเพาะพันธุ์ม้าที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคชุนชิว เป็นผู้วางระเบียบแบบแผนและจัดองค์ความรู้ในการคัดเลือกม้าสายพันธุ์ต่างๆ เป็นคนแรกของโลก ซึ่งช่วยสร้างรากฐานอันมั่นคงให้กับพัฒนาการเรื่องม้าของจีนในเวลาต่อมา
สำหรับ “กฎหมายปกป้องม้า” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในยุคราชวงศ์ซ่ง (Song Dynasty, 960-1279) ทว่ายังมีผลควบคุมที่ไม่กว้างขวางมากนัก ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน (Yuan Dynasty, 1271-1368) ได้มีการขยายขอบเขตกฎหมายไปถึงการเพาะเลี้ยงม้าในบางพื้นที่ จนกระทั่งในสมัยราชวงศ์หมิง (Ming Dynasty, 1368-1644) จึงได้ใช้ประโยชน์ของกองงานม้าที่ก่อตั้งในราชวงศ์ก่อนๆ และสร้างระบบกฎเกณฑ์การเพาะเลี้ยงฉบับสมบูรณ์ขึ้นมา ส่วนในยุคราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty, 1644-1911) การเพาะเลี้ยงม้าของทางการได้ขยับขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ทว่ากลับมีการจำกัดสิทธิ์เพาะเลี้ยงและค้าม้าในกลุ่มผู้เลี้ยงเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการค้าม้าอย่างมาก
ขณะที่ภาวะศึกสงครามต่างๆ ตั้งแต่ปี 2454 โดยเฉพาะการทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ทำให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงม้าซบเซาอย่างรุนแรง จนมีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในปี 2492 รัฐบาลจึงได้ดำเนินมาตรการปกป้องการเพาะเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ ซึ่งช่วยให้ม้าเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2520 จีนมีม้าอยู่ในประเทศมากกว่า 11,447,000 ตัว นับเป็นอันดับหนึ่งของโลก
พื้นที่เพาะเลี้ยงส่วนใหญ่จะอยู่ตามดินแดนทางภาคเหนือของประเทศ รวมถึงแผ่นดินอันกว้างขวางของเขตปกครองตนเองซินเจียง ชนชาติอุยกูร์ และมณฑลชิงไห่ หรืออาณาจักรที่เต็มไปด้วยภูเขาใหญ่น้อยในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) อวิ๋นหนัน (ยูนนาน) และกุ้ยโจว โดยจำนวนม้าในพื้นที่เหล่านั้น เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็น 3 ใน 4 ของจำนวนม้าทั้งประเทศ
ทั้งนี้ “ม้า” ยังกลายเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่มีบทบาทสำคัญในด้านศิลปะและวัฒนธรรมของจีน ยกตัวอย่างเช่น งานจิตรกรรมของ สีว์ เปยหง ศิลปินชื่อดัง ที่เลือกใช้ม้าเป็นองค์ประกอบหลักของภาพวาด ซึ่งไม่เพียงเน้นย้ำคุณค่าของม้า แต่ยังสะท้อนและแสดงออกถึงความรู้สึกรักชาติอย่างเต็มเปี่ยมอีกด้วย นอกจากนั้นยังปรากฏสำนวนภาษา บทกวี ภาพวาด ผลงานหัตถกรรม และตำนานที่ผูกพันกับม้าอีกนับไม่ถ้วน