จีนมีช่วงยุคประวัติศาสตร์หนึ่งที่เต็มไปด้วยศึกสงครามชนิดมิพักเว้นวัน คือยุคชุนชิว-จั้นกั๋ว (หรือยุคสงคราม) ราวกว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา ทว่าในท่ามกลางกลียุคที่สังคมสับสนวุ่นวายนี้ถึงขีดสุดเช่นนี้ กลับปรากฏปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ก่อตั้งสำนักคิดฝ่ายต่างๆมากมาย จนได้ชื่อเป็นยุคทองแห่งปรัชญาจีน ปวงปราชญ์จีนโบราณนั้น ล้วนครุ่นคิดหาคำตอบเดียวกัน คือมนุษย์จะดำเนินชีวิตในโลกอันสับสนวุ่นวาย และเต็มไปด้วยทุกข์ ภยันตราย อย่างไร
สำนักคิดใหญ่อย่าง “ขงจื่อ” ที่คนไทยเรียกกันติดปากเป็น “ขงจื๊อ” “เต๋า” ของเหลาจื่อ หรือเล่าจื๊อ เป็นต้น ต่างมีแนวคำตอบสำหรับจัดระเบียบสังคม เพื่อสร้างความกลมกลืน และสันติสุข สำหรับชาวไทยที่ใกล้ชิดกับชนชาติจีนมาแต่โบร่ำโบราณ ทั้ง “ลูกจีน”ในแผ่นดินไทย ต่างได้เรียนรู้แนวคิดปรัชญาจีนผ่านบรรพบุรุษ ครอบครัว จากวรรณกรรมทั้งนิยายคลาสสิก เรื่องราวจากประวัติศาสตร์ นิทานแฝงปรัชญาต่างๆ ที่ถ่ายทอดเป็นฉบับภาษาไทยมากมาย
การศึกษาลงลึกในแง่มุมต่างๆเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งลับคมสติปัญญา...
เมื่อไม่นานมานี้ “หิ้งหนังสือ” บรรณพิภพไทย ก็ได้มี “กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่อง ธรรมชาติ อำนาจ และจารีต” ประพันธ์โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ นำเสนอเนื้อหาปรัชญาของจอมเมธีแห่งยุคทองปรัชญาจีนสี่ท่าน ได้แก่ ขงจื่อ, เหลาจื่อ, จวงจื่อ, และหานเฟยจื่อ
: ขงจื่อ หรือ “ขงจื๊อ” นั้น เป็นครูเอกชนคนแรกในประวัติศาสตร์จีน เสนอปรัชญาแห่งขนบจารีต มุ่งเทศนาให้รักการเรียนรู้ ศึกษาและดำเนินตามขนบจารีต ซึ่งมีการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติตัว มีมนุษย์ธรรม อันเป็นวิถีกล่อมเกลาคนให้เป็น “มนุษย์” และสร้างระเบียบสังคม ขงจื่อแห่งยุคคลาสสิกมีคัมภีร์คำสอน คือ “หลุนอี่ว์”
“เรียนรู้โดยไม่คิดจะสูญเปล่า คิดโดยไม่เรียนรู้จะเป็นอันตราย” หนึ่งในคำคมจาก “หลุนอี่ว์”
: เหลาจื่อ ผู้รจนา “เต้าเต๋อจิง” หรือที่คนไทยคุ้นในชื่อ ““เต๋าเก็กเก็ง” นำเสนอปรัชญาแห่งวิถีธรรมชาติ ที่ทรงอิทธิพลได้รับการกล่าวขานทั่วโลก มีการแปลออกเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุด
“เต้าเต๋อจิง” ของเหล่าจื่อได้เสนอวิถีแห่งธรรมชาติที่เอื้อต่อสันติธรรมระหว่างมนุษย์ โดยสัจธรรมแห่งเต๋าของเหลาจื่อ อยู่เหนือขนบจารีต หรือโลกแห่งวัฒนธรรมที่ขงจื่อสั่งสอน
“เมื่อสัจธรรมแห่งเต๋าเสื่อมโทรมลง
ความถูกต้องและความดีงามก็เกิดขึ้น
เมื่อความรอบรู้และความเฉลียวฉลาดเกิดขึ้น
ความหน้าไหว้หลังหลอกก็ติดตามมา
เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติทั้งหก
ไม่เป็นไปโดยปกติสุข
ก็เกิด “บิดาใจดี” และ “บุตรกตัญญู”
เมื่อประเทศชาติตกอยู่ในภาวะยุ่งเหยิง
คุณค่าของขุนนางผู้ภักดีก็เกิดขึ้น”
: จวงจื่อ เป็นเมธีฝ่ายเต๋า ผู้เขียนคัมภีร์ “จวงจื่อ” ก็เป็นผลงานคลาสสิกที่วงการปรัชญาโลก กล่าวขวัญถึง อาทิ อาเธอร์ แวลี่ กล่าวถึงคัมภีร์จวงจื่อว่า “เป็นคัมภีร์ที่ลึกซึ้งที่สุด และให้ความบันเทิงมากที่สุดในโลกเล่มหนึ่ง”
จวงจื่อ ผู้ท้าทายขนบจารีต เสนอให้เดิน “ออก” จากกรอบมาตรฐานใดๆที่มนุษย์สร้างขึ้นอันล้วนแต่มีข้อจำกัด และท่องไปในโลกแห่งจินตนาการ โดยมี “อิสรภาพ” เป็นจุดหมายเป้าหมาย
: หานเฟยจื่อ จอมปราชญ์แห่งสำนักนิตินิยม เป็นนักผสมผสานความคิดที่ยอดเยี่ยม ทั้งสืบทอดแนวคิดฝ่ายนิยมนิยมก่อนหน้า และยังนำแนวคิดของสำนักคิดอื่นทั้งฝ่ายขงจื่อและเต๋ามาปรับใช้ประโยชน์ หายเฟยจื่อเน้นการสร้างหลักกฎหมาย รัฐศิลป์ (หรือกุศโลบาย) และอำนาจ ผสมผสานเป็นปรัชญาการปกครองของสำนักนิตินิยม กลายเป็นสำนักคิดที่โดดเด่นสำนักสุดท้ายของยุคทองแห่งปรัชญาจีน
สำหรับหานเฟยจื่อแล้ว ความชั่วร้ายของมนุษย์ มิใช่ “ปัญหาทางศีลธรรม” ดังที่ปราชญ์ฝ่ายขงจื่อตัดสิน แต่เป็น “ธรรมดา” ของมนุษย์ ดังนั้น หน้าที่ปราชญ์จึงไม่พยายามเสนอวิธีการขัดเกลา แต่เสนอระบบกฎหมายสาธารณะ เพื่อควบคุมระเบียบสังคม
ในคัมภีร์ของหาน เฟยจื่อ มีตัวอย่างของ “ผู้ค้าโลงศพย่อมปรารถนาให้มีผู้ตาย..” ในทัศนะของหานเฟยจื่อ การหวังผลประโยชน์จากผู้ตาย มิใช่ “ความชั่วร้าย” ทางศีลธรรมของผู้ค้าโลงศพ หน้าที่ของรัฐและสังคมจึงมิใช่การขัดเกลา “ความชั่วร้าย” แต่ต้องจัดระเบียบให้การเห็นแก่ประโยชน์ของฝ่ายต่างๆดำรงอยู่ร่วมกันได้
นี่คือตัวอย่างคมคิดจากปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่น่าขบคิดใคร่ครวญ จาก กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่อง ธรรมชาติ อำนาจ และจารีต โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ แห่งภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญปรัชญาตะวันออก สายจีนและญี่ปุ่น ผลงานปรัชญาเล่มเขื่อง ที่เพิ่งนำเสนอสู่สังคมไทย คือ หลุนอี่ว์: ขงจื่อสนทนา (ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง โอเพ่นบุ๊คส์,2554) ที่วิเคราะห์เจาะลึกปรัชญาขงจื่อในหลากหลายมิติที่สุดเล่มหนึ่ง ทั้งภาคแปลคัมภีร์ หลุนอี่ว์ ฉบับสมบูรณ์
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ: กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่อง ธรรมชาติ อำนาจ และจารีต
ผู้เขียน: สุวรรณา สถาอานันท์
สำนักพิมพ์ ศยาม
พิมพ์ครั้งที่สี่ ตุลาคม 2556
จำนวนหน้า 320 หน้า
ราคา 250 บาท