xs
xsm
sm
md
lg

ยูเนสโก ประกาศให้ “ลูกคิดจีน” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมว่าด้วยมรดกโลก ครั้งที่ 8 ประจำปี 2556 ขององค์การยูเนสโก ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา (ภาพ - ไชน่า เดลี่)
ไชน่า เดลี่ - องค์การยูเนสโก ประกาศให้ “ลูกคิดจีน” อุปกรณ์คิดคำนวณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 2,500 ปี เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ชิ้นใหม่ล่าสุดของโลก

สื่อทางการจีน รายงานว่า มติการประชุมว่าด้วยมรดกโลก ครั้งที่ 8 ประจำปี 2556 ของคณะกรรมการองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงบากู เมืองหลวงของประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันพุธ (4 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้อุปกรณ์ “ลูกคิดจีน” เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ของโลกชิ้นใหม่ล่าสุด

“ลูกคิดจีน” หรือ จูซ่วน (珠算 - Zhusuan) หรือ ซ่วนผัน (算盘 - Suanpan) ในภาษาจีนกลาง เป็นเครื่องมือคิดคำนวณสมัยโบราณอันมีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปในยุคชุนชิว (the Spring and Autumn Period, 770-476BC) หรือราว 2,500 ปีก่อน นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ล้ำค่าลำดับที่ 5 ของประวัติศาสตร์จีน นอกเหนือจาก “จตุรประดิษฐ์” (The Four Great Inventions - 四大发明) อันได้แก่ เข็มทิศ ดินปืน กระดาษ และแท่นพิมพ์ โดยก่อนหน้านี้ จีนได้ประกาศให้ลูกคิดอยู่ในรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศตั้งแต่ปี 2551 แล้ว
เมื่อครั้งอุปกรณ์ลูกคิดจีนได้รับความนิยมใช้งานคิดคำนวณอย่างแพร่หลาย โดยสตรีจีนใช้ลูกคิดควบคู่ไปกับเครื่องคอมพิวเตอร์ (ภาพ - ไชน่า เดลี่)
ลักษณะเด่นของ “ลูกคิดจีน” คือ อุปกรณ์ลูกคิด 1 อัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนบน เรียกว่า สวรรค์ จะมีลูกคิดเรียงแถวอยู่ 2 ชั้น ซึ่งแต่ละลูกมีค่าเท่ากับ 5 หน่วย ขณะที่ส่วนล่าง เรียกว่า โลก จะมีลูกคิดเรียงแถวอยู่ 5 ชั้น ซึ่งแต่ละลูกมีค่าเท่ากับ 1 หน่วย โดยตัวลูกคิดจะถูกเลื่อนขึ้นลงระหว่างการใช้งาน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าความนิยมชมชอบในการใช้อุปกรณ์ลูกคิดได้ลดลงตามกาลเวลา พร้อมกับการปรากฏตัวของเครื่องคิดเลขดิจิตอลที่มีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ทว่าทุกวันนี้ยังสามารถพบเห็นชาวจีนสูงอายุหรือพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดในชนบทเลือกใช้งานลูกคิดอยู่ กลายเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแดนมังกรที่ทรงคุณค่าขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนั้น ยูเนสโก กล่าวเสริมว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ช่วยสะท้อนตัวตนของชาติผู้เป็นเจ้าของ และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่รักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ของมวลมนุษยชาติไว้อีกด้วย

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา จีนได้ขอขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลก (World Intangible Cultural Heritages) รวมกว่า 37 รายการ โดยองค์การยูเนสโกได้รับรองการร้องขอดังกล่าวทั้งสิ้น 30 รายการ ซึ่งทำให้จีนเป็นประเทศที่มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น