xs
xsm
sm
md
lg

จีนยังใช้ “มรดกเหมา” มาจนถึงวันนี้ “ครบรอบ 120 ปี แซยิดเหมา เจ๋อตง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ ผู้นำเหมา เจ๋อตง กำลังอ่านแถลงการร์สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 1949 (ภาพ เอเจนซี)
เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์--ในงานเลี้ยงสังสรรค์ ณ โรงแรมแห่งหนึ่งชานนครปักกิ่ง บรรดาผู้ประกอบการ และผู้เข้าร่วมงานกลุ่มเล็กๆ ได้ติดเข็มกลัดรูปเหมา เจ๋อตง ที่แขนเสื้อ หลั่งไหลมารวมตัวกันที่บริเวณหน้าเวที โดยบนเวทีได้ติดรูปภาพเหมา เจ๋อตง แย้มยิ้ม ภายใต้หมวกชาวนาที่สวมบนศีรษะ บรรดาแขกที่มาร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้บริหารบริษัท ผู้ประกอบการภัตตาคาร นักการเงิน และคนอื่นๆ ร่วมร้องเพลงประสานเสียง “ตะวันออกแดง” (East Is Red) เพลงชาติยุค “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นยุคที่เหมากุมอำนาจเบ็ดเสร็จ

เหมา ต่อสู้เพื่อความสุขของมวลประชา! เขาคือของที่ระลึกที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน!

“เหมา ยิ่งใหญ่เสียยิ่งกว่าขงจื่อ เขาสามารถชี้นำความคิดของคุณ เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากติดตามเขาไป” ซือหม่า หนัน จากกลุ่ม นีโอ-เหมาอิสต์ ผู้มีชื่อเสียง กล่าว

งานเลี้ยงฯนี้ ยังมีแขกคนดัง คือ บุตรีของเหมา เจ๋อตง หลี่ น่า และ ผู้ช่วยของเหมา คือ นาย จาง อี๋ว์เฟิง มาเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 120 ปี วันคล้ายวันเกิดของเหมา ซึ่งตรงกับวันที่ 26 ธ.ค.ปีนี้(2556)
ใบหน้าเหมา เจ๋อตง ในกรอบภาพ ยังคงจ้องมองจีนจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน และเปล่งรัศมีบนหน้าธนบัตรเงินหยวน (ภาพ เอเอฟพี)
ใบหน้าเหมา เจ๋อตง ในกรอบภาพ ยังคงจ้องมองจีนจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน และเปล่งรัศมีบนหน้าธนบัตรเงินหยวน (ภาพ รอยเตอร์ส)
กระแสคารวะเหมารอบใหม่
เมื่อไม่นานมานี้ มีกระแสหลั่งไหลไปคารวะผู้นำเหมา เจ๋อตง ผู้ล่วงลับ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ได้เดินทางไปสักการะเหมาหลายครั้ง ซึ่งดูจะเป็นการมองหาแรงบันดาลใจในการนำประเทศ ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นล่างสุด ซึ่งมิได้เสวยสุขผลประโยชน์จากยุคเศรษฐกิจบูม ต่างคิดถึงการปกครองของเหมา บางคนก็ถึงกับตั้งศาลสักการะที่บ้าน รูปปั้นเหมาผุดพรายขึ้นตามที่ต่างๆทั่วประเทศ

กลุ่มนักวิเคราะห์และผู้ศรัทธาในพรรคฯ ชี้ว่า เสียงสนับสนุนเหมา เจ๋อตงในวันนี้ กำลังมาแรงมากที่สุดนับจากวันอสัญกรรมของเหมาปี 1976 (2519)

“หากมีการลงคะแนนเสียง แบบ หนึ่งคน หนึ่งเสียง ฝ่ายซ้ายจะได้รับคะแนนเสียงทั้งหมด” ตู้ เต้าเจิง วัย 90 ปี ผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารการเมืองแนวเสรีนิยม เหยียนหวง ชุนชิว และเคยเป็นสาวกเหมา กล่าว

เหมา เจ๋อตง เกิดปี 1893 (2436)ในครอบครัวเล็กๆที่เมืองเสาซัน มณฑลหูหนัน เหมานำการต่อสู้และพิชิตชัยชนะเหนือพรรคกั๋วหมินกั่ง หรือก๊กมินตั๋ง จนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ในช่วงกว่า 20 ปีแรก ก็เต็มไปด้วยกิจกรรมกวาดล้างทางการเมืองหลายระลอก การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน และขบวนการปลุกระดมมวลชน ที่ก่อลัทธิบูชาบุคคล การผลักดันนโยบายของเหมา ได้ผลักประเทศจีนสู่ยุคแห่งความอดอยาก ความยากจน และความวุ่นวายทางการเมือง ที่ปลิดชีวิตประชาชนนับสิบๆล้านคน
มรดกของเหมาถูกบดบังระหว่างยุคปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้การนำของผู้นำสูงสุดเติ้ง เสี่ยวผิง แต่พรรคฯก็ไม่เคยแตกแถวแตกหักไปจากวีรบุรุษผู้นำพรรคฯขึ้นเถลิงอำนาจ

ใบหน้าเหมาในกรอบภาพยังคงจ้องมองจีนจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน และเปล่งรัศมีบนหน้าธนบัตรเงินหยวน “หลักทฤษฎีเหมา” ปฏิญญาณแห่งการต่อสู้ชนชั้นและการปฏิวัติ ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน

กลุ่มมั่งคั่งและยากจน หนุ่มสาวและผู้อาวุโส ยังคงมองเหมาเป็นผู้นำแห่งจิตวิญญาณ ที่หาญกล้าขับไล่อำนาจจักรวรรดินิยม และปิดฉากศตวรรษแห่งการถูกเหยียบหยามย่ำยี ความรู้สึกทั้งหมดนี้ได้ก่อตัวและยิ่งแรงขึ้นในท่ามกลางโรคเรื้อรังคอรัปชั่น ราคาบ้านที่อยู่อาศัยที่มีแต่แพงขึ้นๆ ช่องว่างรายได้ที่ขยายกว้างขึ้นทุกวันนับจากวันที่รัฐบาลหันมาดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว

ประชาชนทั่วไป อย่าง นาย หลิว เหยียนหาน วัย 59 ปี นักสะสมของที่ระลึกเกี่ยวกับเหมา ในมณฑลหูเป่ย ยิ่งนับวันก็ยิ่งคิดถึงโหยหายุคเหมา ที่พวกเขาคิดว่ามีความบริสุทธิ์ด้านจริยธรรม และความเป็นธรรมในสังคมมากกว่า

“มองดูสังคมของเราในวันนี้สิ ช่องว่างคนร่ำรวยกับคนยากจนขยายกว้างเหลือเกิน คอรัปชั่น ความเสื่อมโทรมทางจริยธรรม ยาเสพติด โสเภณี...วุ่นวาย เละเทะ พวกเขาต้องกลับไปเรียนรู้จากเหมา เพื่อที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง และขจัดยาพิษแห่งสังคมเหล่านี้”

“ประเทศชาติของเราจะฟื้นขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อหวนกลับมาเน้นแนวทางแบบเหมามากขึ้น” ผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงฯ นายหวัง เจี้ยนหย่ง วัย 32 ปี ผู้ค้าโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ในเหอเป่ย กล่าว

หลังอสัญกรรมของเหมา กลุ่มผู้นำสูงสุดอย่าง เจียง เจ๋อหมิน และหู จิ่นเทา พยายามวางท่าทีย่างก้าวอย่างระมัดระวังราวไต่ไปบนเส้นลวด ในการไปคารวะท่านประธานผู้ยิ่งใหญ่โดยไม่เชิดชูการปกครองประเทศแบบเหมาจ้าเกินไปนัก เพื่อที่เอาใจฝ่ายซ้ายและสะกิดเตือนกลุ่มเสรีนิยม

สี จิ้นผิง ได้ปลุกยุทธวิธีแบบเหมา คือ “แนวทางมวลชน” และ “การแก้ไขให้ความถูกต้อง” เพื่อต่อสู้คอรัปชั่น และฟื้นเสียงสนับสนุนจากกลุ่มรากหญ้า ทั้งยังได้ฟื้นประเพณี “การวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง”

การหันมาใช้ยุทธวิธีแบบเหมาของสี จิ้นผิง ได้สร้างความประหลาดใจ เนื่องจากครอบครัวของสี ต้องตกระกำลำบากสาหัสระหว่างยุค ปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงทศวรรษที่ 1960 บิดาของเขาคือ นาย สี จงซวิ่น ผู้ช่วยเหมาก่อตั้งฐานที่มั่นในภาคอิสานช่วงทศวรรษที่ 1930 ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวโจกต่อต้านพรรคฯ ในปี 1962 และถูกปลดออกจากตำแหน่งการนำ

กลุ่มนักวิเคราะห์และอดีตผู้นำอาวุโสพรรคฯกล่าวว่า ความภักดีของผู้นำพรรคฯที่มีให้แก่เหมานั้น ก้าวข้ามความรู้สึกส่วนตัวไปแล้ว ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปลูกฝังความคิดในกลุ่มผู้นำอย่างที่สี จิ้นผิงได้รับมาตั้งแต่วัยเด็ก ในยุคเหมาทุกคนได้รับการปลูกฝังว่า เหมาคือนักบุญที่มีชีวิต ดีพร้อมสมบูรณ์แบบ

การฟื้นความคิดเหมาอาจมาจากความจำเป็นทางการเมือง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน คือ “ผู้นำจิตวิญญาณแห่งการปกครองด้วยพรรคเดียว” เขาจะต้องรักษาการปกครองคอมมิวนิสต์ที่ยั่งยืน สีว์ โหยวอี๋ว์ อาจารย์ปลดเกษียณ ที่เคยประจำที่สภาบัณฑิตยสถานแห่งจีน กล่าว

แม้ครอบครัวของกลุ่มผู้นำเหล่านี้ได้รับความทุกข์ยากเพียงใดภายใต้การปกครองเหมา “พวกเขาก็ต้องรักษาการปกครองพรรคเดียว เนื่องจากผลประโยชน์อันมหาศาลของพรรคฯ สำคัญเหนือ “ความทุกข์” ของพ่อแม่พวกเขา” สีว์ กล่าว

สี จิ้นผิงได้กล่าวบนเวทีการประชุมสัมนาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา “การหันหลังให้เหมาโดยสิ้นเชิง จะนำหายนะมาสู่พรรคฯ และความวุ่นวายใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ ไม่ควรนำประวัติศาสตร์หลังการปฏิรูป มาบดบังประวัติศาสตร์ก่อนการปฏิรูป”
ประชาชนนำดอกไม้มาคารวะรูปปั้นเหมา เจ๋อตง ที่เสาซัน มณฑลหูหนัน เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2556 ในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 120 ของเหมา ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ (ภาพ รอยเตอร์ส)
หนุ่มจีนสวดมนต์หน้ารูปปั้นเหมา วันที่ 24 ธ.ค.2556 ในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 120 ของเหมา ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ (ภาพ เอเอฟพี)
พิทักษ์มรดกเหมา
ทุกวันนี้ รัฐบาลปกป้องมรดกของเหมา โดยการห้ามการถกเถียงและเผยแพร่ประวัติศาสตร์บางช่วง ได้แก่ ขบวนการกวาดล้างฝ่ายขวา (1957) โดยกลุ่มปัญญาชนหลายล้านคนถูกส่งไปยังค่ายแรงงาน, ช่วงดำเนินนโยบายก้าวกระโดดใหญ่ (1958-1961) ซึ่งทำให้ประชาชนอย่างน้อย 30 ล้านคน เสียชีวิตจากความอดอยาก, และการปฏิวัติวัฒนธรรม(1966-1976) ซึ่งทำให้ประชาชนหลายล้านเช่นกัน ทั้งถูกกล่าวโทษ ทุบตีจนตาย และฆ่าตัวตาย

นักวิเคราะห์บางกลุ่มชี้ว่าการที่สีไปคารวะเหมาและการแถลงความคิดการเมืองแบบอนุรักษ์ของเขานั้น เป็นอย่างที่ที่นักรณรรงค์สิทธิว่า นั่นก็คือเป็นการปราบปรามกลุ่มที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลอย่างกว้างขวางที่สุดนับจากการปราบปรามกลุ่มประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 พรรคฯยังประณาม “คุณค่าตะวันตก เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษย์ชน เสรีภาพสื่อ และประชาสังคม ขณะที่นักรณรรงค์สิทธิกลุ่มหนึ่งถูกจับกุมด้วยข้อหาก่อความวุ่นวายในสังคม

ตู้ เต้าเจิง ผู้นำอาวุโสของพรรคฯ แสดงความวิตกว่า การปราบรามสื่อมีแต่จะสร้างความไม่พอใจในสังคม “โดยพื้นฐานแล้ว พวกเขาต้องการหวนกลับไปหาทฤษฎีเหมา และ (ธำรง) การปกครองแบบพรรคเดียว

“ผมอยากจะร้องไห้ แต่ก็ไม่มีน้ำตา ผมวิตกกังวลและเศร้ามาก”

แต่สำหรับหลายๆคนแล้ว วาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดเหมา เจ๋อตง เพียงแต่ตอกย้ำพวกเขา ถึง “สิ่งที่สูญเสียไป”

“สังคมเคยมีความยุติธรรมมากกว่านี้ภายใต้การปกครองของเหมา เขาให้บ้านและอาหารแก่คนยากจน” กัว ชิงหวา วัย 46 ปี อดีตคนงานทำความสะอาด ผู้ถูกจับกุมหลายครั้ง เนื่องจากการร้องเรียนกรณีที่เธอถูกอดีตเจ้านายไล่ออกจากงาน “เติ้งทิ้งพวกเรา แต่เหมาไม่เคย”.
กำลังโหลดความคิดเห็น