xs
xsm
sm
md
lg

ประมุขแดนมังกร “สี จิ้นผิง” มิใช่สาวกเหมา หากเป็นลูกศิษย์เติ้ง

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

นาย สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ลุกขึ้นยืนรับเสียงปรบมือกึกก้อง ขณะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีจีนอย่างเป็นทางการ จากที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ครั้งที่ 12  จัดขึ้น ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 14มี.ค. 2013  (ภาพเอเอฟพี)
เป็นเวลากว่าหนึ่งปี ที่สี จิ้นผิง ได้กุมอำนาจสูงที่สุดในแผ่นดินใหญ่ โดยกินตำแหน่งเลขาธิการแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือน พ.ย. 2555 และขึ้นเป็นประธานาธิบดีในเดือนมี.ค.2556 คำถามใหญ่ของวงการ ณ เวลานี้ คือ สี จิ้นผิง ผู้ถือบังเหียนนาวารัฐจีนเกือบตลอดทศวรรษนี้ เป็น “นักปฏิรูป” หรือไม่? และหลังการประชุมเต็มของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 18 ครั้งที่ 3 ในกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ก็ได้คำตอบ ทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่”

แผนการปฏิรูปใหญ่ของที่ประชุมเต็มคณะฯครั้งที่ 3 จะพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมประเทศจีน แม้รายละเอียดมาตรการต่างๆจะยังไม่ออกมา และการบรรลุเป้าหมายก็จะต้องใช้เวลาหลายปี แต่การปฏิรูปใหญ่ก็กลายเป็นนโยบายแล้วในที่สุด มิใช่คำพูดอันสวยหรู สี จิ้นผิงประกาศชัดเจนว่าจะผลักดันให้กลไกตลาดขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนรัฐบาลก็จะถอยห่างออกไปเป็นผู้ดูแลคุมกฎต่างๆ เพื่อให้กลุ่มแรงงานอพยพและเกษตรกรได้มีโอกาสและสิทธิที่เสมอภาค ตลอดจนปฏิรูประบบศาลยุติธรรมแบบลงลึก

การปฏิรูปครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติการณ์นับตั้งแต่ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศในปลายทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นการปฏิรูปที่จำกัดอยู่ในบางเขตเท่านั้น สำหรับครั้งนี้จะเป็นการปฏิรูปอย่างรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยการปฏิรูปบางอย่างมิอาจรับรองเป็นกฎหมาย โดยเฉพาะการล้มเลิกการผูกขาดวิสาหกิจของรัฐนั้น ก็น่าจะมองเป็นผลประโยชน์ทางการเมือง
จอภาพบริเวณถนนหวังฝูจิ่งใจกลางกรุงปักกิ่ง แสดงภาพสี จิ้นผิง เลาขาธิการแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ กำลังแถลงแก่ที่ประชุมข่าววันที่ 15 พ.ย. 2012 (ภาพ รอยเตอร์ส)
จากช่วงต้นๆปีแรกที่สี จิ้นผิงนั่งเก้าอี้นายใหญ่พรรคฯ ก็ได้ประกาศวาระแนวเสรีนิยม เช่น ขจัดความฟุ้งเฟ้อของเจ้าหน้าที่รัฐ ยกย่องรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองสิทธิต่างๆ เสนอรูปแบบที่ทำให้ศาลเป็นอิสระ ตลอดจนสนับสนุนนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ผลักดันการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้เมื่อไม่กี่เดือนมานี้

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งอีกเรื่อง คือสีได้เรียกร้องให้พรรคฯยอมรับ“วัฒนธรรมแบบประเพณี” หรือ ศาสนามากขึ้น เพื่อที่จะช่วยยับยั้งความเสื่อมโทรมของจริยธรรมสังคมที่เลวร้ายลงทุกวัน และช่วยถมช่องว่างทางจิตวิญญาณที่เกิดจากกระแสลัทธิวัตถุนิยมอันเป็นผลข้างเคียงจากระบบเศรษฐกิจตลาด ทั้งนี้ในธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังคงรักษา “การไม่เชื่อในพระเจ้า” เป็นมาตราแห่งศรัทธาและข้อเรียกร้องสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกภาพ

แต่แล้วกลุ่มเสรีนิยมก็อกหักไปตามๆกัน เมื่อรัฐบาลหันมาคุมเข้มสื่อ จับกุมกลุ่มรณรงค์ที่มีแนวคิดเสรีนิยม และสั่งห้ามการถกเถียงคุณค่า”สากล” (universal values) อย่างเช่น ประชาสังคม (Civil Society) อิสรภาพแห่งศาลยุติธรรม และเสรีภาพสื่อ ในการปราศรัยภายใน สีได้ยกกรณีศึกษา ได้แก่ การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการล้มเลิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งโซเวียต ว่า “เป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด” ดังนั้น สี ไม่ใช่ “กอร์บาชอฟแห่งจีน” อย่างแน่นอน

สิ่งที่ก่อความวิตกกังวลมากที่สุด คือ สี จิ้นผิง “ต้อนรับเหมา เจ๋อตง” ไปเยี่ยมเยือนบ้านเกิดของเหมาในมณฑลหูหนัน ทั้งนำมรดกที่เป็นยุทธวิธีของเหมามาใช้ ได้แก่ สนับสนุนการรณรงค์ “แนวทางมวลชน” (mass line campaign) และ “ขบวนการแก้ไขความคิดให้ถูกต้อง” (rectification) ปกป้องการนำของเหมา เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกลุ่มรัฐมนตรีปัญญาชน ที่ทำงานกับสี ชี้ว่าสีไม่ใช่ทั้ง “นักปฏิรูป” ทั้งไม่ “ไม่ใช่นักปฏิรูป”... “สี เหมือน เติ้ง เสี่ยวผิง นักปฏิบัติผู้ยึดถือแนวการปฏิบัติได้จริง”
กลุ่มเสรีนิยมก็อกหักไปตามๆกัน เมื่อรัฐบาลหันมาคุมเข้มสื่อ จับกุมกลุ่มรณรงค์ที่มีแนวคิดเสรีนิยม และสั่งห้ามการถกเถียงคุณค่า”สากล” ในภาพ : ผู้ประท้วงชูป้าย “หยุดเซ็นเซอร์สื่อ คนจีนต้องการเสรีภาพ” พร้อมโลโก้ เซาเทิร์น วีกลี่ และคำขวัญ “ทำความเข้าใจประเทศจีน ได้ที่นี่” ทั้งนี้ การประท้วงฯนี้เกิดเมื่อต้นเดือนม.ค. 2013 หลังจากที่เจ้าหน้าที่สั่งถอดจดหมายถึงผู้อ่านฉบับปีใหม่ ของ เซาท์เทิร์น วีคเอน ที่เรียกร้อง “รัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ” (ภาพไมโครบล็อก เวยปั๋ว)
มองจากการเดินทางออกนอกกรุงปักกิ่งเที่ยวแรกของสี จิ้นผิงในฐานะผู้นำจีน คือการไปเยือนเซินเจิ้น ซึ่งดูเหมือนเป็นการเดินตามรอย “การเดินทางลงใต้” อันเลื่องลือของผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิงในปี 1992 ซึ่งการเดินทางลงใต้ของเติ้งในครั้งนั้น ก่อให้เกิดการปฏิรูปขนานใหญ่ หลังจากที่กระแสปฏิรูปซบเซาไปหลังเกิดเหตุนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในเดือนมิ.ย. ปี 1989

แม้กระทั่งกลุ่มที่วิตกเรื่องสีหันไปเลื่อมใสเหมา ต่างก็เห็นพ้องกันว่า แม้ในวันที่เยือนเซินเจิ้น สีก็ดูจะเอาอย่างเติ้ง เสี่ยวผิง โดยเติ้งได้กล่าวว่า เหมา “ถูก 70 เปอร์เซนต์ ผิด 30 เปอร์เซนต์” และ “การอุทิศของเขาเป็นสิ่งแรก ความผิดพลาดของเขาเป็นสิ่งที่สอง” เติ้งเป็นนักอัตถนิยมผู้ยึดถือความจริงเป็นหลัก “ปกป้องเหมาแต่ไม่เชิดชูเหมา” แต่ในการปกป้องพรรคฯโดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นแผนการปฏิรูป เติ้งเชื่ออย่างลึกๆว่า “เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาจีน”

การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคฯชุดที่ 11 ครั้งที่ 6 ที่จัดขึ้นเมื่อปี 1981 ได้รับรองความชอบธรรม “แนวคิดและบทบาททางประวัติศาสตร์ของเหมา” ท่ามกลางกลิ่นอายการปฏิวัติวัฒนธรรมที่ยังไม่ทันจางหาย โดยผ่านมติเชิดชูเหมา “เป็นมาร์กซิสต์ที่ยิ่งใหญ่ นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพผู้ยิ่งใหญ่ นักคิดหลักทฤษฎี และนักวางแผนยุทธศาสตร์”

มันเป็นสุ้มเสียงที่ละม้ายคล้ายคลึง? ที่ถอดแบบโดยตรงจากมติรับรองเหมาเมื่อปี 1981 ซึ่งเติ้งเป็นผู้รับผิดชอบเต็มๆ อันเป็นเหตุให้สีกล่าวในต้นปีนี้ว่า “การปฏิเสธเหมาโดยสิ้นเชิง จะนำหายนะมาสู่พรรคคอมมิวนิสต์ และก่อความวุ่นวายใหญ่หลวงในประเทศจีน” สีจึงเจริญรอยตามแนวทางของเติ้ง มากกว่าเหมา

สีมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายมากกว่าที่จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางความคิดทฤษฎีใด เขาแสวงหาหนทางที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชนทั้งหมดและฟื้นฟูประชาชาติทั้งมวล และในการบรรลุถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่และซับซ้อนนี้ สี จิ้นผิงและหลายๆคน ต่างก็เชื่อว่าพรรคฯจะต้องเป็นพรรครัฐบาลต่อไป และจะต้องระดมมาตรการทุกอย่างเต็มสูบในการประกันอำนาจพรรคฯ
สี จิ้นผิง เรียกร้องให้พรรคฯยอมรับ“วัฒนธรรมแบบประเพณี” หรือ ศาสนามากขึ้น  เพื่อที่จะช่วยยับยั้งความเสื่อมโทรมของจริยธรรมสังคมที่เลวร้ายลงทุกวัน ในภาพ: ชนชาติทิเบตกำลังสวดมนต์ในวัดพุทธแบบทิเบต (ภาพ รอยเตอร์ส)
ดังนั้น สีเป็น “นักปฏิรูปหรือไม่?” สิ่งที่เรารู้ในขณะนี้ ก็คือ เขา “ไม่ใช่นักปฏิรูป” และทั้ง “ไม่-ไม่ใช่นักปฏิรูป” เป็นผู้ยึดถือแนวการปฏิบัติได้จริง โดยมีเติ้งเป็นแม่แบบในบทบาทของเขา ก้าวหน้าในด้านเศรษฐกิจสังคม แต่อนุรักษ์นิยมในเรื่องการเมืองและพรรคฯ

สิ่งที่เราไม่รู้คือ ระหว่างทศวรรษการนำของสี หากเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการกุมอำนาจการเมืองอย่างเข้มงวดจะไม่ส่งผลดีแก่การพัฒนาประเทศ แล้วสีจะทำอย่างไร? เราคงจะต้องรอดูไปถึงช่วงกลางเทอมสมัยที่สองของสี หลังการประชุมสมัชชาพรรคฯครั้งที่ 19 ในปี 2017 (2560).

แปลเรียบเรียงจากบทความแสดงความเห็นของ โรเบิร์ต ลอว์เรนซ์ คูห์น (Robert Lawrence Kuhn) ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระยะยาวกับกลุ่มการนำประเทศจีน และรัฐบาลจีน เป็นที่ปรึกษาทางยุทธศาสตร์ให้แก่ความร่วมมือระหว่างประเทศ และผู้เขียน How China’s Leaders Think, เผยแพร่ใน เซาทไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์.
กำลังโหลดความคิดเห็น