เอเอฟพี - การปฏิวัติวัฒนธรรมบนแผ่นดินจีนอุบัติขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2509-2519 จากความคิดของประธานเหมา เจ๋อตง โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีนั้นเป็นยุคทมิฬ ที่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวเลือดของผู้คน ซึ่งถูกเข่นฆ่าล้มตายราวใบไม้ร่วง
แม้จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลจีนพยายามปกปิดประวัติศาสตร์ อันน่าสยดสยอง ทว่าความลับไม่มีในโลก และมโนธรรมของมนุษย์ก็คอยย้ำเตือนให้ผู้ ที่ได้ก่อบาปกรรม รู้สึกผิดอยู่ในใจเสมอมา
เหตุการณ์สะเทือนใจ ที่นิ่งงันอยู่ในความเงียบมาช้านานได้กระเพื่อมขึ้นอีกครั้ง เมื่อนายจาง หงปิง อดีตยุวชนในกองทัพพิทักษ์แดง (Red Guard) ได้ยอมรับสารภาพต่อสาธารณชนเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากเขามีชีวิตเหมือนตกนรกทั้งเป็นมานานกว่า 40 ปีว่า เขาเองคือผู้ฆ่ามารดาบังเกิดเกล้า
ประธานเหมาประกาศการปฏิวัติวัฒนธรรม เพื่อยืนยันความมีอำนาจของตนในพรรคคอมมิวนิสต์ หลังจากนโยบาย “พุ่งกระโดดล้ำหน้า” (Great Leap Forward) ของเขาประสบความล้มเหลว กระทั่งเกิดภาวะอดอยากหิวโหยบนแผ่นดินจีน ทว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมก็ได้ก่อความทุกข์ยากแก่ชาวจีนนับหมื่นนับแสนคน และฉุดสังคมเข้าสู่กลียุค
ยุวชนของกองทัพพิทักษ์แดง ซึ่งก็คือวัยรุ่นหนุ่มสาวในสมัยนั้น กระทำทารุณกับผู้สูงอายุ ผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งมีทั้งพวกเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปัญญาชน เพื่อนบ้าน ไม่เว้นแม้กระทั่งญาติพี่น้อง
ยุวชนแดงเข้าปล้นสะดมบ้านเรือนของคนเหล่านั้น และบีบคั้นให้บางคนต้องฆ่าตัวตาย
ผู้ตกเป็นเป้าหมายมากมายถูกจับขังคุก หรือถูกฆ่า แม้ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกผู้หนึ่งประเมินว่า มีผู้คนล้มตายมากถึงราวครึ่งล้านคนเฉพาะแค่ในปีพ.ศ. 2510
ในปีพ.ศ. 2513 นายจาง ได้เข้ารายงานต่อทางการว่า มารดาของเขาได้พูดวิพากษ์วิจารณ์ท่านประธานเหมา จากนั้นไม่นาน ก็มีทหารหลายนายตบเท้ามาที่บ้าน เข้าทำร้าย และฉุดกระชากนางออกไป อีก 2 เดือนต่อมา มารดาของนายจางก็ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า
“ ย้อนกลับไปตอนนั้น ทุกคนถูกล้างสมอง คุณไม่อาจหลบหนีได้ แม้อยากจะทำก็ตาม ความเมตตาปรานี หรือความสวยงามในตัวผม “ถูกวางรูปแบบ” อย่างที่จะเอากลับคืนมาไม่ได้เลย” นายจางบอกกับสำนักข่าวปักกิ่งนิวส์เมื่อสัปดาห์ก่อน
"ผมหวังว่า การได้ทบทวนถึงสิ่งที่ผมกระทำไปจะทำให้คนอื่นได้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นว่ามันเป็นยังไง " นายจางกล่าว
เมื่อกระแสลมทางการเมืองเปลี่ยนทิศ กล่าวคือหลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมปิดฉากลงผ่านไปไม่กี่ปี ศาลในมณฑลอันฮุย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายจางก็ได้ถอนคำพิพากษามารดาของเขา มันทำให้นายจางเริ่มคิดทบทวน
“ผมไม่มีวันให้อภัยตัวเอง” เขารำพึง
วัยรุ่นเลือดร้อนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมเวลานี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี และมีไม่กี่คน ที่ออกมายอมรับสารภาพกับสังคมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นายเวิน ชิงฝู ยุวชนแดงอีกคนหนึ่งจากมณฑลหูหนัน ทางภาคกลางของจีน อ้างวัยคือสาเหตุที่กระตุ้นให้เขาลงมือ โดยนายเวินเล่าว่า มีอยู่คราวหนึ่ง หลังจากได้รับคำสั่ง เขาก็นำพวกไปถล่มบ้านของครูผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นพ่อของลูกชาย ที่เขาชอบไปเล่นด้วย
“เมื่อคนเราแก่ตัว เราจะมองย้อนกลับไปในอดีต และนึกใคร่ครวญดู” นายเวินกล่าวกับหนังสือพิมพ์ของมณฑลฉบับหนึ่ง
“ ถ้าผมไม่กล่าวขอขมาเสียตอนนี้ เราทั้งคู่จะแก่จนสายเกินไป”
การขอขมาของนายเวินยังนับว่าทันเวลา เพราะลูกสาวของหญิงที่เขาทำร้ายได้ตอบกลับผ่านทางจดหมาย ซึ่งมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนแทนมารดาผู้ชราภาพแล้วว่า “ทิ้งความรู้สึกผิดไม่สบายใจนั้นไปเสียเถอะนะคะ”
หลังจากประธานเหมาถึงแก่อสัญกรรมในปีพ.ศ. 2519 ได้ไม่นาน การปฏิวัติวัฒนธรรมก็ยุติลง และทางการกล่าวโทษว่า เป็นความผิดของแก๊ง 4 คน (Gang of Four) ซึ่งมีนางเจียง ชิง ภรรยาของประธานเหมาเป็นหัวหน้า ในที่สุด คนกลุ่มนี้จึงถูกจับขังคุกในปีพ.ศ. 2523
ในปีถัดมา พรรคคอมมิวนิสต์ ออกมาประกาศว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมส่งผลให้จีน "ก้าวถอยหลังอย่างร้ายแรงที่สุด และสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง" นับตั้งแต่มีการก่อตั้งสาธาณรัฐประชาชนจีนในปีพ.ศ. 2492 เป็นต้นมา
ชาวจีนมากมายอ้าแขนต้อนรับการออกมากล่าวยอมรับผิด ซึ่งนาน ๆ จะเกิดขึ้นสักที แม้การเปิดเผยการกระทำผิดในอดีตอาจทำให้ต้องถูกเช็กบิลทางกฎหมายก็ตาม เช่น กรณีเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมาศาลมณฑลเจ้อเจียงได้ตัดสินจำคุกผู้เฒ่าวัยกว่า 80 ปี เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน โทษฐานฆ่าคนเมื่อปีพ.ศ. 2510
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิวัติวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ฮ่องกงชี้ว่า ผลดีที่ได้รับจากการออกมากล่าวขอขมาของยุวชนแดงมีมากกว่าผลเสีย นั่นคือการกล่าวคำขอโทษจะนำไปสู่การค้นหาจิตวิญญาณร่วมกันของผู้คน เพื่อสร้างสังคม ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายมากขึ้น
กระนั้นก็ตาม นักวิชาการหลายคนมองว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่พอใจให้มีการออกมาสารภาพผิด และสั่งห้ามการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อการค้นหาดังกล่าว เพราะเท่ากับเป็นการเริ่มต้นคำถามถึงบทบาท ที่น่าอัปลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งไม่เต็มใจจะออกมายืดอกรับผิดชอบในสิ่งที่พรรคเป็นผู้ก่อขึ้นทั้งหมดนั้น