รอยเตอร์ส - สื่อจีนและต่างประเทศหลายสำนักพากันประโคมข่าวร้อนมาแรง หลังทางการจีนมีคำสั่งกักบริเวณ “โจว หย่งคัง” อดีตสมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมืองหรือปูลิตบูโร และผู้ทรงอำนาจทางกฎหมายและความมั่นคงสูงสุดแห่งแดนมังกร ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์เปิดฉากดำเนินการสอบสวนคดีความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ของอดีตเสือมากพิษสงตัวนี้
รายงานข่าว (12 ธ.ค.) กล่าวว่า รัฐบาลจีนได้ออกคำสั่งกักบริเวณนายโจว หย่งคัง ให้อยู่แต่ในบ้านพักในกรุงปักกิ่ง และห้ามต้อนรับแขกคนใดหากไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์กำลังดำเนินกระบวนการสอบสวนข้อกล่าวหา “ละเมิดวินัยพรรคฯ” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีนัยยะหมายถึง “การกระทำผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น รับสินบน และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ” นั้นเอง
“โจว หย่งคัง ถูกสั่งกักตัวให้อยู่แต่ในบ้าน และติดตามทุกความเคลื่อนไหวของเขาอย่างใกล้ชิด” แหล่งข่าวใกล้ชิดแห่งหนึ่งกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ในเดือน ต.ค. ได้มีกระแสข่าวการจัดตั้งทีมสอบสวนเฉพาะกิจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุด เพื่อสะสางคดีความผิดอื้อฉาวต่างๆ ของโจว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามามีบทบาทหลักเป็นลำดับแรกแทนธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่สมาชิกพรรคฯ ซึ่งถูกกล่าวหาความผิด ต้องเผชิญหน้ากับคณะกรรมการกลางฝ่ายการตรวจสอบวินัยประจำพรรคฯ หรือซีซีดีไอ (The Central Commission for Discipline Inspection of the Communist Party of China: CCDI) และกักตัวอยู่ภายใต้ “ซวงกุย” (Shuanggui) กระบวนการไต่สวนความผิดเฉพาะทางของพรรคก่อน แล้วจึงส่งตัวให้กับทางตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายให้ความเห็นว่าการกระทำลักษณะดังกล่าวของผู้นำจีนที่เพิ่งก้าวสู่บัลลังก์อำนาจสูงสุดเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ได้สะท้อนการกุมอำนาจและความมั่นใจที่เพิ่มมากขึ้น โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศสงครามกับการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเต็มตัว กล่าวคำมั่นสัญญาว่าจะขจัดเขี้ยวเล็บบรรดา “เสือร้าย” ดังเช่นโจวให้ไร้ฤทธิ์พิษสง เพื่อป้องกันปัญหาบานปลายที่อาจทำลายสถานะความมั่นคงในการปกครองประเทศ
“ผู้นำจีนกำลังไล่ตามกุดเขี้ยวเล็บเสือทุกตัวออกทั้งหมด” แหล่งข่าวใกล้ชิดอีกแห่งระบุ อ้างถึงกรณีของลูกน้องคนสนิทโจวอย่างนายเจียง เจี๋ยหมิ่น ซึ่งเข้าสู่ขั้นตอนไต่สวนความผิด “ละเมิดวินัยพรรคฯ อย่างร้ายแรง” เช่นเดียวกันในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา หลังก้าวเป็นประธานบริหารบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีน หรือซีเอ็นพีซี (China National Petroleum Corporation: CNPC) ฐานอำนาจสำคัญของโจว ได้เพียง 5 เดือน
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า กระบวนการสอบสวนและดำเนินคดีความผิดอาจกระตุ้นความหวาดกลัวให้กับบรรดาอดีตผู้นำคนอื่นๆ ที่ปลดเกษียณไปแล้ว รวมถึงสมาชิกพรรคฯ กว่า 80 ล้านคนทั่วประเทศ จนก่อเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มศัตรูทางการเมืองในจีนก็เป็นได้
เนื่องจากตั้งแต่สิ้นสุดยุคปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไม่เคยปรากฏเหตุคณะกรรมการประกรมการเมืองหรือโปลิตบูโรคนใด ไม่ว่าเกษียณไปแล้วหรือยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถูกจับมาไต่สวนในข้อหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเลย จนกระทั่งการประชุมพรรคอย่างลับๆ เมื่อเดือน ส.ค. ณ รีสอร์ทเป่ยไต้เหอ มณฑลเหอเป่ยสิ้นสุดลง กลุ่มผู้นำระดับสูงของจีนชุดล่าสุดกลับตัดสินใจให้ดำเนินการสืบสาวเอาความนายโจวให้ถึงที่สุด ซึ่งน่าจะมีมูลเหตุมาจากกระแสความไม่พอใจภายในพรรคที่คุกรุ่นอย่างต่อเนื่องนั้นเอง