เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ยานสำรวจฉางเอ๋อ - 3 เพิ่งร่อนแตะพื้นผิวดวงจันทร์สำเร็จอย่างงดงามได้ไม่ทันไร พญามังกรไม่รอช้า เตรียมส่งยานฉางเอ๋อ - 5 ตามไปเก็บตัวอย่างหินในปี 2560 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเร็วกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญคาดไว้ 1 ปี
นายอู๋ จื้อจวิน โฆษกของสำนักงานบริหารวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันแห่งชาติแถลงเมื่อวันจันทร์ (16 ธ.ค.) ว่า หลังจากความสำเร็จของยานฉางเอ๋อ - 3 แล้ว นับจากนี้โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนได้เข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 ซึ่งเป้าหมายสำคัญได้แก่การเก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์ กลับมาศึกษายังโลก
ยานฉางเอ๋อ - 3 แตะพื้นผิวของดวงจันทร์เมื่อวันเสาร์ ที่ผ่านมา (14 ธ.ค.) จากนั้น “อี้ทู่” หรือ “กระต่ายหยก” ซึ่งเป็นรถหุ่นยนต์สำรวจ 6 ล้อก็แยกตัวจากยาน ออกแล่นไปบนพื้นผิวดาวบริวารของโลกดวงนี้ในวันถัดมา พร้อมกับเริ่มส่งสัญญาณภาพถ่ายกลับมายังโลก ส่งผลให้จีนผงาดเป็นชาติที่ 3 ต่อจากสหรัฐฯ และรัสเซีย ที่สามารถส่งยานสำรวจลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม นายอู๋ระบุว่า สำหรับภารกิจฉางเอ๋อ - 5 นั้น ยังมีปัญหาท้าทายทางเทคนิคหลายประการ ที่พญามังกรต้องเอาชนะให้ได้ เช่น การระเบิดขับดันยานสำรวจขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์ และเข้าเชื่อมต่อกับยานแม่ ที่ลอยอยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์ เพื่อเดินทางกลับโลก
“สิ่งเหล่านี้ประเทศของเราไม่เคยทำมาก่อน” นายอู๋กล่าว
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเคยคาดการณ์ว่า ภารกิจส่งยานฉางเอ๋อ - 5 ไปดวงจันทร์น่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยจรวดที่มีพลังมากกว่าเดิม เพื่อส่งยานแม่ลอยในวงโคจร และจะต้องมีการก่อสร้างศูนย์การยิงจรวดนำยานอวกาศออกเดินทางที่มณฑลไห่หนันอีกด้วย แต่ทั้งสองสิ่งนี้ยังไม่เสร็จเรียบร้อย โดยนายจัง อี้ว์หวา รองผู้บัญชาการโครงการฉางเอ๋อ-5 กล่าวกับวิทยุแห่งชาติของจีนเมื่อต้นเดือนว่า จีนมีกำหนดการส่งยานฉางเอ๋อ -5 ในปี 2561
นอกจากนี้ จีนยังมีภารกิจของยานฉางเอ๋อ - 4 ซึ่งจะออกเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อทำการทดลองต่าง ๆ และทดสอบเทคโนโลยี ซึ่งจะสำคัญสำหรับการลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งต่อไป
ด้านดร.มอร์ริส โจนส์ นักวิเคราะห์ด้านอวกาศ ซึ่งอยู่ที่ออสเตรเลียกล่าวชื่นชมความสามารถด้านเทคนิคของจีนสำหรับภารกิจของยานฉางเอ๋อ -3 โดยเขาเห็นว่า ระบบทางลาด ซึ่งใช้เพื่อลำเลียงรถหุ่นยนต์สำรวจลงจากส่วนบนของยานแม่นั้นเป็นนวัตกรรม ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง เป็นปฏิบัติการ ที่มีความซับซ้อน และเป็นระบบ ที่มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากยานอื่น ๆ ที่เคยลงจอดมา
นายโจว หย่งเลี่ยว นักวิทยาศาสตร์ด้านระบบบรรทุกสิ่งของสำหรับภารกิจยานฉางเอ๋อ-3 ระบุว่า ภารกิจของยานฉางเอ๋อ-3 จนถึงขณะนี้เพิ่งเริ่มใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ไปได้ 5 ชิ้นจากทั้งหมด 8 ชิ้นเท่านั้น และนักวิทยาศาสตร์ก็พอใจข้อมูล ที่ส่งกลับมายังโลก โดยอุปกรณ์เหล่านี้รวมทั้งเรดาร์ตรวจทะลุพื้นดิน เพื่อเก็บข้อมูลโครงสร้างภายใต้พื้นผิวของดวงจันทร์ ซึ่งได้เริ่มการทำงานแล้ว และได้ผลดีเยี่ยม รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์เชิงทัศนศาสตร์ (optical telescope) ที่ติดตั้งส่วนบนของยานแม่ ซึ่งถ่ายภาพได้ชัดเจนอย่างมาก
สำหรับงานทดลองของภารกิจยานฉางเอ๋อ-3 ที่จะเริ่มในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าได้แก่การสังเกตชั้นบรรยากาศ ที่อยู่สูงขึ้นไปของโลก ซึ่งจีนหวังว่า ข้อมูลที่ได้จะมีประโยชน์แก่วงการวิทยาศาสตร์ด้านดวงจันทร์ในอนาคต