xs
xsm
sm
md
lg

จีนไชโย! “ฉางเอ๋อ-3” พา “ยานโรเวอร์ “กระต่ายหยก” ลงจอดดวงจันทร์ ฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยานโรเวอร์ “อี้ว์ทู่” หรือ “กระต่ายหยก” แล่นไปบนพื้นผิวดวงจันทร์ หลังจากปลดล็อกออกจากตัวยานฯฉางเอ๋อ-3 ภาพนิ่งถ่ายจากวีดีโอของสถานีโทรทัศน์กลางแห่งจีน หรือ CCTV เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2556 จีนประกาศความสำเร็จอย่างงดงามในการส่งภารกิจฉางเอ๋อ-3 ลงจอดบนดวงจันทร์ ยานโรเวอร์ “กระต่ายหยก” จะปฏิบัติภารกิจในการขุดค้น และสำรวจทางธรณีวิทยาบนดวงจันทร์เป็นเวลา 3 เดือน นับเป็นเป็นลงจอดแบบซอฟท์แลนดดิ้ง (soft-landing) ครั้งแรกนับจากปี 2519 “ฉางเอ๋อ” เป็นชื่อเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ในคติปรัมปราจีน ส่วน “กระต่ายหยก” ชื่อยานโรเวอร์ เป็นสัตว์เลี้ยงของฉางเอ๋อ (ภาพ ซินหวา)
ภาพผิวดวงจันทร์ ที่กล้องถ่ายภาพในยานฉาวเอ๋อ-3 ส่งกลับมายังพื้นโลก (ภาพ เวยปั๋ว/ซินหวา)
เอเจนซี--ยานสำรวจดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อ-3” ลงจอดบนพื้นดวงจันทร์อย่างสง่างามเมื่อคืนวานนี้(14 ธ.ค.) เวลา 9.12 น. และจีนก็ได้กลายเป็นชาติที่สาม ที่นำยานสำรวจอวกาศลงจอดบนแดนสรวงสรรค์แห่งเทพยดาในคติปรัมปรา

สืบเนื่องจากจีนได้ส่งภารกิจสำรวจดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อ-3” ซึ่งได้พกอุปกรณ์ลงจอดและยานโรเวอร์ “อี้ทู่” หรือ “กระต่ายหยก” สู่อวกาศในวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อลงจอดและทำการสำรวจทางธรณีวิทยาพื้นผิวดวงจันทร์ โดยมีกำหนดลงจอดบนดวงจันทร์ในวันที่ 14 ธ.ค.

ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ห้องควบคุมยานอวกาศในกรุงปักกิ่ง ลุกขึ้น โห่ร้อง ไชโย! ด้วยความตื่นเต้นดีใจ เมื่อจอภาพในห้องฯปรากฏภาพยานฉางเอ๋อ-3 ลงจอดบนพื้นที่ราบดวงจันทร์ “Sinus Iridum” ชื่อภาษาละตินที่แปลว่า “อ่าวสายรุ้ง” ซึ่งเป็นบริเวณที่ยังไม่มีใครลงจอด

นาย หลัน เสี่ยวฮุ่ย ผู้ออกแบบเครื่องยนต์ยานฯฉางเอ๋อ-3 บอกกับสถานรีโทรทัศน์กลางแห่งจีน (CCTV) ว่า การลงจอดฯเป็นไปอย่างสมบูรณ์ยอดเยี่ยม

ในเช้านี้ 4.35 น. ยานโรเวอร์ “กระต่ายหยก” เป็นรถหกล้อ หนัก 140 กิโลกรัม ปลดล็อคออกจากยานฯ เพื่อที่จะดำเนินการขุดค้นทางวิทยาศาสตร์ เป็นเวลา 3 เดือน ถ่ายภาพ วิเคราะห์ตัวอย่างหิน และทำแผนที่พื้นดวงจันทร์ด้วยเรดาร์ที่ยิงลงไปในพื้นดิน (ground-penetration radar) นอกจากนี้ “กระต่ายหยก” ยังมีกล้องโทรทัศน์รังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet telescope) ที่สามารถสำรวจระยะไกล

สำหรับขั้นตอนการลงจอดบนดวงจันทร์ ฉางเอ๋อ-3 เริ่มเข้าสู่วงโคจรเหนือดวงจันทร์ ประมาณ 15 กิโลเมตร การแล่นลงในขั้นตอนสุดท้ายนี้ถูกควบคุมด้วยเครื่องยนต์หลักและหัวขับดัน (thruster) 28 ตัว ซึ่งจะขับดันยานฯจากอัตราเร็ว 1.7 กิโลเมตร/วินาที ปรับมาเป็น “ศูนย์” ภายในเวลาไม่กี่นาที ขณะที่อุปกรณ์จะช่วยวิเคราะห์จุดที่จะลงจอด และปรับระยะจากช่วง 100 เมตร

เมื่อถึงระยะ 4 เมตร เหนือพื้นดวงจันทร์ เครื่องยนต์จะดับลง ปล่อยให้ยานฉางเอ๋อร่อนลงอย่างอิสระ ขณะยานฯแตะพื้นผิวดวงจันทร์ กล้องจะบันทึกภาพบริเวณรอบๆ และส่งกลับไปยังศูนย์ควบคุมอวกาศในกรุงปักกิ่งบนพื้นโลก

นับเป็นการลงจอดแบบซอฟ์ทแลนดิ้ง (soft landing)บนพื้นดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในช่วงเกือบ 40 ปีมานี้ ยานอวกาศของสหรัฐฯ3 ลำ พุ่งชนดวงจันทร์ ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการทำเทคนิกนี้ ขณะที่อดีตสหภาพโซเวียตต้องใช้ความพยายาม 11 ครั้ง ส่วนจีนถือว่า “ยิงถูกเป้า” ในความพยายามครั้งแรก

นาย หลัน เสี่ยวฮุ่ย ผู้ออกแบบฯ เล่าถึงนาทีระทึก คือระยะ 30 เมตรสุดท้าย ขณะที่ยานฯค้นหาจุดลงจอดที่ดีที่สุด ในที่สุดเครื่องก็ทำได้ “ยอดเยี่ยม” ลงจอดบนพื้นดวงจันทร์อย่างราบรื่น

หลิว เจี้ยนจวิน นักธรณีวิทยาดวงจันทร์ ประจำศูนย์สังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งรัฐ (National Astronomical Observatories) กล่าวกับ CCTVว่า “บริเวณพื้นที่ลงจอดนั้น เป็นจุดที่เหมาะสมสำหรับยานโรเวอร์ทำการสำรวจ “เราเห็นเงาดำ 2-3 จุดในภาพจากกล้องของยานลงจอด ที่ส่งกลับมา ด้วยเงาดำไม่กี่จุด กอปรด้วยพื้นที่ที่ราบเรียบเช่นนี้ เป็นเงื่อนไขที่เหมาะสมในการปฏิบัติภารกิจมาก”

ก่อนยานฯแตะพื้น ยานฯได้สแกนบริเวณที่ลงจอด และเคลื่อนตัวในแนวนอน เพื่อระบุจุดที่ปลอดภัยที่สุด

อู๋ เหวยเหริน หัวหน้าทีมการออกแบบโครงการสำรวจดวงจันทร์ บอกกับสำนักข่าวซินหวา ว่า ฉางเอ๋อ-3 ได้ผ่านพ้นขั้นตอนที่ท้าทายที่สุดในการลงจอดตัวตัวเอง โดยไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์โดยสิ้นเชิง “ความเสี่ยงที่สุดของงานนี้ คือ เครื่องมืออุปกรณ์ที่จะชี้ขาดภารกิจนี้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ถอดด้าม และความไม่แน่นอนของที่ราบในโซนที่ลงจอด”

ดร.มาอุริซิโอ ฟาลังกา (Maurizio Falanga) ผู้อำนวยการแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์อวกาศระหว่างประเทศในกรุงปักกิ่ง ( International Space Science Institute) เสริมว่า จีนได้ใช้ “เทคโนโลยีที่ท้าทาย” ในภารกิจฯ ที่พิชิตความยอมรับนับถือจากวงการอวกาศระหว่างประเทศ “ภารกิจครั้งนี้เป็นก้าวใหญ่ของจีนในโลกอวกาศ และโอกาสความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต”

ชาวจีนหลายคนมองการลงจอดบนดวงจันทร์ด้วยอารมณ์ตื่นเต้น หวัง เจี้ยนหมิง นักธุรกิจในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่าเขาและครอบครัวกำลังวางแผนที่จะย้ายไปตั้งรกรากในประเทศอื่นเนื่องจากมลพิษอากาศในแผ่นดินใหญ่ที่เลวร้ายสุดทน แต่ภารกิจลงจอดฯที่เป็นไปอย่างงดงามนี้ ทำให้เขามีความหวัง

“ถ้ารัฐบาลมีเงินและเทคโนโลยีที่ไปถึงดวงจันทร์ได้ขนาดนี้ ก็น่าจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และทำความสะอาดอากาศ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนน้อยกว่ามากและใช้เงินจิ๊บจ๊อยเทียบกับยานฯอวกาศ”
คลิปภาพจากรายงานถ่ายทอดสด ฉางเอ๋อ-3 ลงจอดบนดวงจันทร์


จอภาพอิเลคทรอนิกส์ขนาดมหึมาที่ศูนย์ควบคุมอวกาศแห่งปักกิ่ง แสดงภาพวาด ยานฉางเอ๋อ-3 กำลังลงจอดดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2556 (ภาพ รอยเตอร์ส)
จอภาพอิเลคทรอนิกส์ขนาดมหึมาที่ศูนย์ควบคุมอวกาศแห่งปักกิ่ง แสดงภาพวาด ยานฉางเอ๋อ-3 กำลังลงจอดดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2556 (ภาพ รอยเตอร์ส)
กลุ่มนักวิจัยกำลังง่วนกับงานในห้องที่ศูนย์ควบคุมอวกาศแห่งปักกิ่ง (Beijing Aerospace Control Center) หน้าจอภาพอิเลคทรอนิกส์ขนาดมหึมา ที่แสดงข้อมูลปฏิบัติการภารกิจฉางเอ๋อ 3 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. (ภาพ รอยเตอร์ส)
ภาพจากจอภาพศูนย์ควบคุมอวกาศในปักกิ่ง แสดงภาพพื้นผิวดวงจันทร์ โดยภาพนี้ส่งจากยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-3 ซึ่งได้ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2556 12 วัน หลังจากที่ฉางเอ๋อ-3 ทะยานขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดขนส่งฉางเจิง-3บี  (ภาพ เอเอฟพี)
ภาพเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2556 แสดงรายละเอียดของ ยานโรเวอร์ “อี้ว์ทู่” หรือ “กระต่ายหยก” ที่ถูกนำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการอุตสาหกรรมระหว่างประเทศที่นครเซี่ยงไฮ้ สำนักข่าวซินหวารายงาน ยานโรเวอร์ “กระต่ายหยก” นี้ ได้เหยียบพื้นดวงจันทร์ในตอนเช้ามืดวันนี้ (15 ธ.ค.2556) แล้ว โดยเป็นการลงจอดแบบซอฟท์แลนดิ้งครั้งแรก นับจากปี 2519 (ภาพ เอเอฟพี)
ภาพเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ดวงจันทราสาดส่องแสงเหนือพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง ก่อนหน้า 1 วันที่ยานฯฉางเอ๋อ-3 กำลังลงจอดบนดวงจันทร์ (ภาพเอเอฟพี)
สาวน้อยกำลังฝึกกังฟูท่ามกฃลางแสงจันทร์สาดส่องในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.(ภาพ เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น