ASTVผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี—พญามังกรนับถอยหลัง ส่งปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อ” พร้อมกับยานโรเวอร์สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรก หากสำเร็จ ก็จะยกระดับสถานภาพบนเวทีโลกของจีน และความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยี คู่เคียงกับความสำเร็จ ในการพลิกโฉมชะตาของชาติที่เคยยากจนข้นแค้นของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
คณะบริหารด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องปกประเทศแถลงเมื่อวันเสาร์(30 พ.ย.) ปฏิบัติการฉางเอ๋อ 3 พร้อมด้วยยานโรเวอร์สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ จะถูกส่งขึ้นจากสถานีส่งยานอวกาศซีฉาง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ในเวลาเช้ามืด 1.30 น. ของวันพรุ่งนี้ (2 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยจรวดขนส่งฉางเจิง 3 จะพายานฉางเอ่อร์ 3 เหินสู่อวกาศ
หากฉางเอ๋อ-3 พายานโรเวอร์ ที่ชื่อ “อี้ว์ทู่” (玉兔)ซึ่งแปลว่า “กระต่ายหยก”นี้ ปฏิบัติภารกิจขุคค้นสำรวจทรัพยากรบนพื้นดวงจันทร์ สำเร็จตามเป้าหมาย โครงการอวกาศจีนก็จะก้าวเดินหน้าครั้งประวัติการณ์ และเป็นชาติที่สามที่ส่งปฏิบัติการยานโรเวอร์ขึ้นไปยังดวงจันทร์ จีนคุยว่าเทคโนโลยียานโรเวอร์ล้ำหน้ากว่าผู้พิชิตดวงจันทร์ก่อนหน้า โดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งอะพอลโล 11 ไปลงดวงจันทร์เมื่อเดือน ก.ค. 2512 และอดีตสหภาพโซเวียต ส่งยานลูนา 17 พร้อมยานโรเวอร์ ลูนอคฮูด 1 ลงจอดดวงจันทร์เมื่อเดือนพ.ย.2513
ทั้งนี้ จีนมีเป้าหมายที่จะสร้างสถานีอวกาศภายในปี 2563 และหลังจากนั้น ก็จะค่อยๆส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทรา
“นับเป็นงานที่ยากและซับซ้อนที่สุดของโครงการสำรวจทางอวกาศจีน ที่ต้องคิดค้นและประสานรวมเทคโนโลยีใหม่หลายอย่าง” สำนักข่าวซินหวา อ้างคำกล่าวของ อู๋ จื้อเจียน โฆษกประจำคณะบริหารด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องปกประเทศ (State Administration of Science, Technology and Industry for National Defence)
สำนักข่าวซินหวายังคุยต่อไปว่า การส่งยานโรเวอร์ไปยังดวงจันทร์ของจีน แตกต่างไปจากการส่งยานโรเวอร์ของสหรัฐฯและอดีตโซเวียต โดยสามารถสำรวจลักษณะพื้นที่ดวงจันทร์บริเวณที่ลงจอด และระบุจุดลงจอดที่ปลอดภัย อย่างแม่นยำ
“กระต่ายหยก” สามารถปีนเนินได้ถึง 30 องศา และแล่นด้วยอัตราเร็ว 200 เมตร/ชั่วโมง
“จีนสามารถสร้างยานโรเวอร์ที่ทันสมัยกว่า โดยการประสานรวมเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ “ มอริส โจนส์ นักวิเคราะห์อวกาศอิสระ ในออสเตรเลีย กล่าว
ระบบนำร่องแบบออปติคัล (Optical navigation systems) จะแสดงภาพเตือนจุดลงจอดที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งยานโรเวอร์ของพญาอินทรีและพญาหมีขาว ได้แต่อาศัยเรดาร์ คลำระยะทางจากพื้น
นอกจากนี้ กระต่ายหยก อาจวิ่งได้เร็วกว่า เพราะมีระบบนำร่องในตัวเอง ขณะที่ยานโรเวอร์ของผู้พิชิตดวงจันทร์ก่อนหน้า ควบคุมโดยสัญญาณที่ล่าช้าจากพื้นโลก “เรามีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ประสานรวมเข้ากับยานโรเวอร์ ซึ่งไม่มีในทศวรรษที่ 1970”
สถานีโทรทัศน์แห่งจีน หรือCCTV จะเริ่มรายการถ่ายทอดสดภารกิจสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อร์ พร้อมกับยานโรเวอร์ กระต่ายหยกในเวลาเที่ยงคืนของวันนี้(1 ธ.ค.)
“รอชมการถ่ายทอดสดเที่ยวคืนนี้! ส่ง...ฉางเอ๋อ ส่ง...กระต่ายหยก!” ชาวเน็ตโพสต์ข้อความในเว็บไมโครบร็อก เวยปั๋ว (คล้ายทวิตเตอร์)
ก่อนหน้านี้ จีนได้ส่งยานสำรวจโคจรรอบดวงจันทร์ ได้แก่ ฉางเอ๋อ-1 ปี 2550 และฉางเอ๋อ-2 ปี 2553 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมฉางเอ๋อ-1 พุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์ ก่อนปลดระวางภารกิจเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2552
เมื่อต้นเดือน พ.ย. ผู้นำจีนที่มักหวงไม่ให้ใครเห็นไส้ในโครงการอวกาศ ก็ได้นำแบบยานโรเวอร์สำรวจดวงจันทร์ ลักษณะเป็นรถ 6 ล้อ ออกมาโชว์แก่สาธารณชน
ทางการจีนได้เปิดการลงคะแนนเสียงคัดเลือกชื่อยานโรเวอร์ทางอินเทอร์เน็ต จนได้ชื่อว่า “อี้ว์ทู่” อันแปลว่า “กระต่ายหยก” ด้วยคะแนนเสียง 3.4 ล้าน ทั้งนี้ “กระต่ายหยก” มาจากคติปรัมปราจีน เป็นเรื่องราวของกระต่ายสีขาวบนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของเทพธิดาประจำดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อร์” ผู้กินยาอมตะ
ผู้ออกแบบรถโรเวอร์นี้ คือ สถาบันวิจัยวิศวกรรมระบบยานอวกาศเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Aerospace Systems Engineering Research Institute) ซึ่งได้ประกาศถึงความสำเร็จในการคิดค้นเทคโนโลยีหลายๆอย่างในการประดิษฐ์ยานโรเวอร์นี้
ทั้งนี้สถาบันวิจัยวิศวกรรมระบบยานอวกาศเซี่ยงไฮ้ เป็นหน่วยปฏิบัติการในสังกัดบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งจีน (China Aerospace Science and Technology Corp.) ที่เชื่อมโยงกับกองทัพ.