xs
xsm
sm
md
lg

จีนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ เที่ยวชี้ชะตาการพิชิตแท่นมหาอำนาจอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

จรวดขนส่งฉางเจิง-3 บี ติดตั้งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-3 กำลังทะยานขึ้นจากแท่นส่งยานอวกาศในสถานีส่งดาวเทียมซีฉาง มณฑลซื่อชวน (หรือเสฉวน) เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2556 ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-3 นี้ ประกอบด้วยยานลงจอดและยานโรเวอร์ ชื่อ “อี้ว์ทู่” หรือ “กระต่ายหยก” มีเป้าหมายภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ เพื่อสำรวจขุดค้นพื้นดวงจันทร์ (ภาพ รอยเตอร์ส)
ASTVผู้จัดการออนไลน์--พญามังกรได้ส่งภารกิจยานสำรวจดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อหมายเลข 3” เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตามแผนการฯยานฯฉางเอ๋อ 3 จะเข้าสู่วงโคจรดวงจันทร์ในวันที่ 6 ธ.ค. และจะลงจอดบนดวงจันทร์ในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ หากปฏิบัติการสำเร็จลุล่วง จีนก็จะเป็นชาติที่สามที่สามารถส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์ ตามหลังสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งอะพอลโล 11 (Apollo 11) ไปลงดวงจันทร์เมื่อปี พ.ศ. 2512 และอดีตสหภาพโซเวียต ส่งยานลูนา 17 พร้อมยานโรเวอร์ ลูโนคอด 1 (Lunokhod 1) ลงจอดดวงจันทร์เมื่อปี พ.ศ.2513

สถานีโทรทัศน์กลางแห่งจีน หรือ CCTV ได้ถ่ายทอดสดการแถลงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พร้อมภาพยานฉางเอ๋อ-3 กำลังทะยานขึ้นสู่อวกาศ โดยใช้ยานขนส่งฉางเจิง-3บี หรือ “เดินทัพทางไกล” (Long March-3B) นำส่งขึ้นไป ประมุขแดนมังกรกล่าวว่าเขาปรารถนาที่จะผลักดันประเทศจีนสู่มหาอำนาจทางอวกาศ ภารกิจฉางเอ๋อ-3 ได้พิสูจน์และสร้างความภาคภูมิใจในด้านเทคโนโลยีจีนที่แก่กล้าขึ้น

สำหรับโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ การโคจรรอบดวงจันทร์ การลงจอดบนดวงจันทร์ และการส่งตัวอย่างองค์ประกอบจากดวงจันทร์ในปี 2563 นอกจากนี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จีนกำลังถกความเป็นไปได้ในการส่งมนุษย์อวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ระหว่างปี 2568-2573

ปฏิบัติการยานฯ “ฉางเอ๋อ-1” และ “ฉางเอ๋อ-2” ได้โคจรรอบดวงจันทร์ ถูกส่งขึ้นไปในปีพ.ศ. 2550 และ 2553 นั้น นับเป็นขั้นตอนแรก สำหรับภารกิจยานฯฉางเอ๋อ-3 นี้ เป็นขั้นตอนที่สอง
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวว่าเขาปรารถนาที่จะผลักดันประเทศจีนสู่มหาอำนาจทางอวกาศ ในภาพ: จรวดขนส่งฉางเจิง-3 บี ติดตั้งยานสำรวจดวงจันทร์ ตั้งตระหง่านบนแท่นยิงดาวเทียมสถานีส่งดาวเทียมซีฉาง มณฑลซื่อชวน (หรือเสฉวน)เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. (ภาพ รอยเตอร์ส)
ภารกิจยานฉางเอ๋อ-3 ได้พกอุปกรณ์ลงจอด และยานโรเวอร์ “อี้ว์ทู่” ซึ่งเป็นรถ 6 ล้อ จะทำการสำรวจทางธรณีวิทยา ขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ และสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ สำหรับ “อี้ว์ทู่” ที่แปลว่า “กระต่ายหยก” นี้ เป็นชื่อที่ได้จากการลงคะแนนเสียงทางออนไลน์ 3.4 ล้านเสียง “กระต่ายหยก” เป็นสัตว์เลี้ยงของ “ฉางเอ๋อ” เทพธิดาประจำดวงจันทร์ในคติปรัมปราจีน

นับเป็นครั้งแรกที่จีนส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ และเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 40 ปี ที่มีประเทศไปสัมผัสพื้นดวงจันทร์ ทั้งนี้การลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งล่าสุดเป็นปฏิบัติการเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์โดยยานลูน่า 24 ของอดีตสหภาพโซเวียต เมื่อปี พ.ศ. 2519

อู๋ เหว่ยเหริน หัวหน้าทีมออกแบบยานสำรวจดวงจันทร์ กล่าวว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเทคโนโลยีที่ใช้ในยานฉางเอ๋อ-3 เป็นของใหม่ทั้งดุ้น เทียบกับฉางเอ๋อ-1 และฉางเอ๋อ-2

“สำหรับงานที่ยากที่สุดของภารกิจฉางเอ๋อ-3 ก็คือ การลงจอดซึ่งจะเป็นแบบซอฟท์แลนดิ้ง (soft-landing) การไต่ลงมาจากความสูง 15 กิโลเมตร และลงจอดบริเวณที่เลือกไว้อย่างปลอดภัยภายในเวลาหลายร้อยวินาที เป็นความท้าทายใหม่และจุดสำคัญที่สุดของเรา

“การสำรวจครั้งก่อนๆพบว่าพื้นดวงจันทร์อุดมไปด้วยฮีเลียม-3 (Helium-3) และแร่ธาตุอื่นๆที่โลกขาดแคลน แร่ธาตุเหล่านี้มีปริมาณมากเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาพลังงานทั้งหมดของโลกได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะเก็บรวบรวมและนำแร่ธาตุจากดวงจันทร์กลับมายังโลก” อู๋ กล่าว และเผยเป้าหมายต่อไปของจีน นำตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ 2 กิโลกรัม มาพร้อมกับยานที่ไร้มนุษย์ขับคุมก่อนปี 2563

ผู้รับผิดชอบการออกแบบยานโรเวอร์ “อี้ว์ทู่”นี้ คือ สถาบันวิจัยวิศวกรรมระบบอากาศยานเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Aerospace Systems Engineering Research Institute) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการของบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งจีน (China Aerospace Science and Technology Corp) ที่เชื่อมโยงกับกองทัพ

สถาบันวิจัยวิศวกรรมระบบอากาศยานเซี่ยงไฮ้ ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการคิดค้นเทคโนโลยีหลายๆอย่างในการพัฒนายานโรเวอร์นี้ และอ้างว่าเหนือชั้นกับของสหรัฐฯและอดีตโซเวียต อาทิ สามารถสำรวจลักษณะพื้นที่บริเวณที่ลงจอด และระบุจุดลงจอดที่ปลอดภัย โดยระบบนำร่องแบบออปติคัล (Optical navigation systems) จะแสดงภาพเตือนจุดลงจอดที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งยานโรเวอร์ของพญาอินทรีและพญาหมีขาว ได้แต่อาศัยเรดาร์ คลำระยะทางจากพื้น

“กระต่ายหยก” สามารถปีนเนินได้ถึง 30 องศา และแล่นด้วยอัตราเร็ว 200 เมตร/ชั่วโมง

“จีนสามารถสร้างยานโรเวอร์ที่ทันสมัยกว่า โดยการประสานรวมเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในช่วงไม่สิบปีมานี้ “ มอริส โจนส์ นักวิเคราะห์อวกาศอิสระ ในออสเตรเลีย กล่าว

นอกจากนี้ “กระต่ายหยก” อาจวิ่งได้เร็วกว่า เพราะมีระบบนำร่องในตัวเอง ขณะที่ยานโรเวอร์ของผู้พิชิตดวงจันทร์ก่อนหน้า ควบคุมโดยสัญญาณจากพื้นโลก “เรามีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ประสานรวมเข้ากับยานโรเวอร์ ซึ่งไม่มีในทศวรรษที่ 1970”
จีนนำยานโรเวอร์สำรวจดวงจันทร์ “อี้ว์ทู่” ออกโชว์ในนิทรรศการอุตสาหกรรมระหว่างประเทศแห่งจีนครั้งที่ 15 ซึ่งจัดที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 15 พ.ย. (ภาพ รอยเตอร์ส)
จีนก้าวรุดหน้าราวติดจรวดในการผลักดันโครงการอวกาศ ครั้งล่าสุดในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ส่ง "เสินโจว 10" ยานอวกาศที่มีมนุษย์ขับคุม พร้อมนักบินอวกาศ 3 คน ไปใช้ชีวิตในอวกาศ 15 วัน โดยได้เชื่อมต่อกับยาน “เทียนกง 1” ซึ่งเป็นห้องทดลองอวกาศ ถือเป็นก้าวสำคัญมากสู่การสร้างสถานีอวกาศที่เล็งไว้ในปี 2563

จีนยืนยันโครงการอวกาศมีเป้าหมายสันติภาพ อีกทั้งจะแบ่งปันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศแก่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และยังได้เสนอจะฝึกฝนนักบินอวกาศจากชาติอื่นด้วย แต่กลาโหมสหรัฐฯแถลงชัดว่าจะหยุดยั้งจีนขยายความสามารถทางอวกาศ ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์.
ภาพวาด ยานโรเวอร์ “อี้ว์ทู่” หรือ “กระต่ายหยก” ของปฏิบัติการฉางเอ๋อร์-3 กำลังสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ (ภาพ ซินหวา)
คลิปรายงานข่าวจีนส่งภารกิจฉางเอ๋อ-3 ไปลงดวงจันทร์


กำลังโหลดความคิดเห็น