xs
xsm
sm
md
lg

ฉาววงการศึกษาแดนมังกร ออมเงินไว้ติดสินบนครูเพื่ออนาคตของลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงเรียนชั้นนำในจีนสงวนที่นั่งสำหรับเด็กที่มีทักษะพิเศษ เช่น ด้านกีฬา หรือดนตรี
เดอะวอชิงตันโพสต์ - เพื่อนของหยัง เจี๋ย นักธุรกิจหญิง วัย 42 ปี เตือนมานานแล้วว่า ให้เธอเก็บออมเงิน เพื่อการศึกษาของลูกสาว

ไม่ใช่สำหรับค่าเรียนพิเศษ หรือหนังสือหนังหา แต่เตรียมไว้สำหรับเอาไปเซ่น “เจ้าที่” ถ้าไม่มีสินบน หรือน้ำร้อนน้ำชาถ้วยเบ้อเริ่มก็ยาก ที่ลูกจะได้เข้าโรงเรียนรัฐบาลระดับแถวหน้า

สาวมั่นอย่างหยังไม่สนใจคำแนะนำ

“ความสำเร็จในชีวิต” เธอบอกกับลูกสาว

“ได้มาด้วยการทำงานหนัก”

ทว่ามาวันนี้หลักการของหยังสั่นคลอน เมื่อลูกกำลังสมัครเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษา และกังวลใจกันทั้งครอบครัว หยังเฝ้ามองเพื่อน ๆ ที่หว่านของกำนัล เงินทอง เอาอกเอาใจครูและผู้บริหารโรงเรียนสารพัด

เพื่อนคนหนึ่งจัดหนักถึงขั้นซื้อลิฟต์ให้กับโรงเรียนระดับหัวกะทิ แป๊บเดียวลูกก็ได้เข้าเป็นนักเรียนที่นั่นทันตาเห็น

การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำคนใหม่ของจีนมุ่งเน้นเป็นหลัก แต่การรณรงค์แทบไม่ได้ผลอะไรในประเทศอย่างจีนที่เด็ก ๆ ถูกผู้ใหญ่เล่นเกมกันในระบบทุจริตคอร์รัปชั่นให้เห็นมาตั้งแต่อยู่ชั้นประถมต้น

พวกพ่อแม่ผู้ปกครองและครูต่างพูดตรงกันว่า ถ้าไปเจรจาต่อรองถูกคน หรือถ้ามีเงินมากพอ ก็ช่วยกันได้เกือบทุกเรื่อง ตั้งแต่รับเข้าโรงเรียน การให้เกรดวิชา หรือคำรับรองแนะนำจากครู

ผลจากการติดสินบนจึงมีแต่จะทำให้ระบบการศึกษาของจีนเลวลง และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมยิ่งขยายกว้าง

หยังกับสามีจัดเป็นพ่อแม่ชนชั้นกลางในเมืองไห่เตี้ยน ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งกลุ่มโรงเรียน ที่มีการแข่งขันกันสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ทั้งคู่พอมีเงินอยู่บ้าง แต่มีเส้นสายน้อย

จนกระทั่งฤดูร้อนปีนี้ ครูสอนเต้นรำของลูกสาวได้ดึงตัวหยังเดินเลี่ยงออกมา แล้วบอกว่า เขารู้จักกับคนในโรงเรียนมัธยมศึกษา ที่ลูกของเธอหมายมั่น หยังตอบตกลงในทันที จากนั้น ก็กลับบ้านมาดูเงิน ที่เก็บสะสม เตรียมไว้เผื่อมีการเรียกเงินทอง

ในเมืองจีนนั้น โรงเรียนของรัฐจัดเป็นโรงเรียนที่ดีสุด ส่วนโรงเรียนเอกชนมักมีไว้สำหรับลูกชาวต่างชาติ หรือลูกของแรงงานอพยพจากถิ่นอื่น ที่ถูกห้ามเข้าโรงเรียนรัฐข้ามเขต

โรงเรียนของรัฐแสนจะเพียบพร้อมด้วยมาตรฐานเดียวกับโรงเรียนของชาติตะวันตก

ที่โรงเรียนจิ่งซานในกรุงปักกิ่ง ผู้บริหารของโรงเรียนอวดกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งมีความสูงเท่ากับตึกหนึ่งชั้น ราคา 326,000 ดอลลาร์ สำหรับสอนวิชาดาราศาสตร์ นอกจากนั้นยังมีโทรทัศน์จอแบนในทุกชั้นเรียน ห้องแล็บคอมพิวเตอร์ สระว่ายน้ำขนาดเท่าในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก สวนผักไฮโดรโปนิกส์ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางโรงเรียนเริ่มกำหนดคุณสมบัติอาจารย์ ที่สอนชั้นมัธยมปลายต้องมีดีกรีด็อกเตอร์ทุกคน

หันมาดูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างกันเพียงไม่กี่กิโลเมตร เด็ก ๆ ย่ำไปบนถนนสกปรก มุ่งหน้าสู่อาคารเก่ามอซอ ผนังแตกร้าว แต่ละชั้นเรียนมีนักเรียนแน่นจนล้น และมีห้องอาบน้ำแค่ห้องเดียว

ด้วยเหตุนี้เองพวกพ่อแม่จึงแข่งกันประจบเอาใจครูสุดฤทธิ์ เช่น ส่งข้าวเกษตรอินทรีย์ให้ครู ที่กังวลเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร หรือของฝากสุรุ่ยสุร่ายจากเมืองนอก แต่ถ้าของกำนัลเหล่านี้ไม่เวิร์ก บัตรของขวัญ (gift cards) สำหรับซื้อสินค้า ซึ่งระบุวงเงินในบัตรก็เป็นวิธีวัดดวง ที่ปลอดภัยเสมอ

การศึกษาในประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่โรงเรียนระดับหัวกะทิก็เรียกเก็บค่าธรรมเนียม และเงินบริจาคก้อนโต การเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมในกรุงปักกิ่งมักต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และค่าสินบนสูงถึง 16,000 ดอลลาร์ และการจ่ายเงินตัวเลข 6 หลักก็เคยได้ยินกันมาแล้ว

การจ่ายเงินเหล่านี้กลายเป็นเรื่องก้ำกึ่งทางกฎหมาย เพราะกระทรวงและรัฐวิสาหกิจหลายแห่งก็สงวนที่นั่งในโรงเรียนชั้นนำสำหรับลูก ๆ ของพนักงานผ่านการบริจาคเงินก้อนใหญ่ให้แก่โรงเรียน ขณะที่โรงเรียนชั้นนำส่วนใหญ่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการเลือกโรงเรียนตั้งแต่ 5,000-40,000 ดอลลาร์ สำหรับเด็ก ที่อาศัยนอกเขตกลุ่มโรงเรียนที่กำหนด แม้รัฐบาลกลางสั่งห้ามซ้ำแล้วซ้ำเล่า การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมก็ยังทำกันอยู่ แถมเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำในช่วงไม่กี่ปีมานี้

“แค่ลูกของคุณวิ่งแข่งชนะที่ 1 ก็ไม่ได้หมายความว่า เขามีโอกาสดีที่สุด โรงเรียนอาจเลือกคนวิ่งแข่งได้ที่ 3 หรือแม้กระทั่งที่ 4 ก็ได้ โดยบอกกันง่าย ๆ ว่า เด็กพวกนั้นมีศักยภาพมากกว่า” พ่อคนหนึ่งซึ่งติดสินบนโค้ชสอนวิ่งแข่งให้กับลูกอธิบายให้หยังเข้าใจ โดยโรงเรียนชั้นนำจะสงวนที่นั่งไว้ให้สำหรับเด็ก ที่มีทักษะพิเศษ เช่น ด้านกีฬา หรือดนตรี ซึ่งเป็นเหตุผลที่ลูกของหยังเริ่มเรียนการเต้นรำเมื่อ 3 ปีก่อน

การได้มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนมัธยมศึกษาแถวหน้าย่อมเท่ากับเป็นการเตรียมความพร้อมอเพื่อการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย หรือเกาเข่า ของเยาวชนจีนทั่วประเทศ และถ้าทำคะแนนสอบได้ดีย่อมหมายถึงตำแหน่งการงานที่มั่นคง เงินเดือนสูง มีบ้านอาศัยดี ๆ ตลอดจนโอกาสได้คู่สมรสที่เลอเลิศกว่าคนอื่น

ในวงจรทุจริตอุบาทว์ ที่พลัดหลงเข้ามา หยังพยายามสอนบทเรียนชีวิตให้แก่ลูกสาว

“ดิฉันอยากให้ลูกสามารถมองเห็นสังคมนี้อย่างที่มันเป็น… สังคมที่มีหมาป่าเต็มไปหมด” เธอกล่าว

“ แต่ไม่ต้องการให้ลูกเป็นหมาป่า หรือลูกแกะ”

หยังบอกว่าเธอเริ่มพิจารณาข้อเสนอของครูสอนเต้นรำในแง่ศีลธรรมน้อยลง แต่หันมาพิจารณาในแง่วา เป็นการตัดสินใจ ที่จะนำมาปฏิบัติได้อย่างแท้จริงมากกว่า

“ระบบกฎเกณฑ์ แรงกดดัน และเงินสินบนเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งอยุติธรรม” เธอกล่าว

“แต่สุดท้ายแล้วสิ่งเดียวที่ดิฉันจะสามารถทำได้ก็คือทำสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกนั่นเอง”
กำลังโหลดความคิดเห็น