รอยเตอร์ส - ทางการกรุงปักกิ่งประกาศมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ หวังจัดการปัญหามลพิษทางอากาศที่เรื้อรังมานานให้อยู่หมัด ประเดิมด้วยคำสั่งเร่งลดปริมาณการใช้ยานพาหนะบนท้องถนนที่ก่อมลพิษ และจับตาดูเหล่าโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายให้อยู่ในระเบียบ
รายงานข่าว (2 ก.ย.) กล่าวว่า มาตรการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฉบับล่าสุดที่หน่วยติดตามสิ่งแวดล้อมแห่งกรุงปักกิ่งประกาศออกมานั้น เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายจัดการปัญหาหมอกควันพิษให้เหลืออย่างน้อยร้อยละ 25 ภายในปี 2560
กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงแสนศิวิไลซ์ของแดนมังกรต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ “ฝุ่นพิษ” หรือ PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็กมากที่ปะปนอยู่ในอากาศ และส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์
แม้ว่าทางการจีนจะพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ ตั้งแต่การสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งไปจนถึงการวางรากฐานระบบขนส่งมวลชนอย่างเป็นระบบ เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวอันเป็นหนึ่งสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศที่ชาวปักกิ่งกำลังเผชิญ ทว่า สุดท้ายแล้วกลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไรนัก
“เราขอประกาศสงคราม และยืนยันจะกำจัดปัญหามลพิษทางอากาศที่กำลังรุกรานชาวปักกิ่งให้ได้”
“ปักกิ่งจะไม่หยุดหย่อนผ่อนผันการทำงานจนกว่าจะพัฒนาคุณภาพของอากาศให้ดีขึ้น” หน่วยติดตามสิ่งแวดล้อมแห่งกรุงปักกิ่งกล่าวคำมั่นสัญญาผ่านหน้าเว็ปไซต์
มาตรการชุดใหม่ที่ปล่อยออกมานี้ จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน โดยแรกเริ่มในปี 2557 จะมีการกำหนดจำนวนรถที่วิ่งในพื้นที่พิเศษของเมืองตามช่วงเวลาต่างๆ ของวัน และเป้าหมายถัดมาคือ ตัดลดการเพิ่มจำนวนของยานยนต์ส่วนตัวในแต่ละปีให้เหลือ 0 เปอร์เซนต์ ซึ่งหมุดหมายแรกจะจำกัดจำนวนรถในเมืองให้มีเพียง 6 ล้านคัน ภายในปี 2560
“เราจำเป็นต้องเข้าดูแลกลไกตลาดใหม่ทั้งหมด เพื่อช่วยลดการใช้ยานพาหนะ และหยุดยั้งการก่อมลพิษให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้” นายหลี่ คุนเซิง เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมของปักกิ่งกล่าว
“นอกจากเมืองหลวงอย่างกรุงปักกิ่งแล้ว ยังมีอีก 3 เมืองสำคัญ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ก่วงโจว และกุ้ยหยัง ที่ออกมาตรการควบคุมปริมาณยานยนต์ในท้องถิ่นเช่นเดียวกัน และยังมีอีก 8 เมืองที่มีแผนจะดำเนินนโยบายดังกล่าวในอนาคตอีกด้วย” สมาคมยานยนต์แห่งชาติจีน เผยเมื่อเดือน ก.ค.
ซินหวา รายงานเพิ่มเติมว่า มาตรการอื่นๆ ที่จะนำมาปัดกวาดอากาศเสียของกรุงปักกิ่ง ยังครอบคลุมถึงการสั่งให้บริษัทผู้ประกอบการที่มีการปล่อยมลพิษกว่า 1,200 แห่ง เร่งปรับปรุงโรงงานการผลิตต่างๆ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภายในปี 2559
“หากโรงงานอุตสาหกรรมล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อม ก็จะไม่ได้รับอนุมัติโครงการดำเนินธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น”
“บริษัทผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมายสิ่งแวดล้อม จะถูกระงับการกู้ยืมจากธนาคารและกองทุนการเงิน ตลอดจนถูกยกเลิกสิทธิสาธารณะเบื้องต้นต่างๆ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป” สื่อทางการจีนกล่าว
ผู้ผลิตรถยนต์ต่างปรับหางเสือ มุ่งหน้าสู่ตลาดผู้บริโภคในเมืองอื่นๆ
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังต่างๆ เช่น โฟล์คสวาเกน โตโยต้า และฟอร์ด เผยว่า บริษัทกำลังเล็งความสนใจไปยังเมืองอื่นๆ ที่มีกลุ่มผู้บริโภคระดับรองลงมาจากเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ที่อัตราการเติบโตของตลาดรถยนต์เริ่มจะซบเซาลง
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนต้องพบกับการร้องเรียนอย่างหนักหน่วงถึงความหายนะทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นตัววายร้ายที่คอยคุกคามสุขภาพพลานามัยของพลเมืองจีน ส่งผลให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นไปยังเมืองอื่นๆ อันจะสร้างสารพัดปัญหาตามมาอีก
ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และท่อไอเสียยานยนต์นับล้านคัน ผสมโรงกับกระแสลมที่พัดมาจากทะเลทรายโกบี แปลงร่างเป็นกลุ่มหมอกหนาทึบปกคลุมทั่วทั้งเมือง ทำให้ชาวต่างชาติในกรุงปักกิ่งพากันกล่าวติดตลกว่า กรุงปักกิ่งนั้นยังมีชื่ออื่นๆ เช่น “Greyjing” หมายถึง เมืองสีเทา หรือ “Beige-jing” หมายถึง เมืองสีน้ำตาล อยู่อีกด้วย