เอเยนซี - ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจีน นำโดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง แถลงมาตรการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ให้คำมั่นสัญญาว่า จะเร่งแก้ไขปัญหามลพิษที่ชาวจีนกำลังเผชิญอย่างหนักหน่วง พร้อมวางแผนการใช้พลังงานระยะยาวให้กับสังคมจีน ขณะที่มีข้อโต้แย้งว่า ต้องใช้เวลาเกือบยี่สิบปี คุณภาพอากาศถึงจะคืนสู่ระดับมาตรฐานสากลได้
สื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีจีนที่นำโดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เมื่อวันศุกร์ (14 มิ.ย.) ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติมาตรการ “ต่อต้านมลพิษ 10 ประการ” เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลจีนได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็ปไซต์ของตน ซึ่งมีสาระสำคัญที่การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเป็นหลัก ใจความสำคัญดังนี้
“รัฐบาลจะพยายามรักษาระดับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง ควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับที่ทันสมัย โดยมีเป้าหมายให้ลดลงเหลือร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2560 อีกทั้งจะเพิ่มความเคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทหรือโรงงานที่กระทำผิดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐกำหนดไว้”
ทว่า หม่า จวิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจีน ระบุว่า มาตรการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันศุกร์ เป็นเพียง “การตอบสนองต่อความกังวลของประชาชนเท่านั้น” โดยนายหม่าได้แนะนำว่า หากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็ควรใส่ใจกับรัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลต่างๆ ที่เลือกปิดบังการสร้างมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม เพราะต้องการสร้างตัวเลขจีดีพี (GDP) ที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารดอยซ์แบงค์ (Deutsche Bank) สถาบันการเงินสัญชาติเยอรมัน ยังเผยอีกว่า การปรับปรุงคุณภาพอากาศของจีน อาจต้องใช้เวลามากถึง 18 ปี คุณภาพของอากาศจึงจะมีค่า PM2.5 ลดลงเหลือร้อยละ 30 ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้
PM2.5 คือ การวัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดหมอกควันและปัญหาระบบทางเดินหายใจได้ โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าปลอดภัยไว้ที่ 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งที่ผ่านมาคุณภาพอากาศบางพื้นที่ของจีนเคยแตะระดับ 700 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรมาแล้ว
รัฐบาลจีนไม่ทิ้ง “ โซลาร์เซลล์” แม้เจอตอจากฝั่งตะวันตก
มาตรการแก้ไขปัญหามลพิษของจีนครั้งนี้ ยังครอบคลุมถึงอุตสาหกรรม “พลังงานแสงอาทิตย์” หรือ “แผงโซลาร์เซลล์” ที่รัฐบาลจีนยืนยันจะให้การสนับสนุนต่อไป โดยจะส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงการปรับราคาจำหน่ายให้ได้ระดับเดียวกับแหล่งผลิตไฟฟ้าอื่นๆ
ปัจจุบัน จีนขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์อันดับหนึ่ง โดยส่งออกไปจำหน่ายในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทว่า ล่าสุดจีนกำลังเผชิญกับปัญหากีดกันทางการค้า หลังสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปเพิ่มมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด ด้วยการสร้างกำแพงภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากจีนให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ ปัญหามลพิษทางอากาศกลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากชาวจีนนับล้านคนต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ย่ำแย่สุดขีด ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพร่างกายอย่างร้ายแรง ก่อเกิดการท้วงติงและทวงถามถึงการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐอยู่ตลอดมา
คำมั่นสัญญาจากรัฐบาลจีนชุดล่าสุดที่เพิ่งเข้าบริหารประเทศเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมานี้ อาจไม่ได้รับความเชื่อใจจากประชาชนแดนมังกรมากนัก เหตุด้วยรัฐบาลชุดก่อนเองก็เคยกล่าวคำสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น แต่กลับไร้ผลที่เป็นรูปธรรมให้ชาวจีนได้เห็น
“มาตรการที่ปล่อยออกมานั้นดีเยี่ยม แต่สิ่งที่ท้าทายรัฐบาลอยู่ คือการที่จะทำให้มันสัมฤทธิ์ผลได้จริง”
“ประชาชนจีนต้องมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพราะแรงกดดันจากสาธารณชน จะช่วยเร่งให้เกิดการควบคุมและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง”