เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - เที่ยวบินจากสนามบินเฉิงตูต้องล่าช้ายืดเยื้อออกไปอีกเมื่อวันพุธ (7 ส.ค.) หลังจากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่แรงที่สุดในภูมิภาคในช่วงฤดูร้อนนี้
โฆษกจากสนามบินนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวเผยว่า "จากช่วงเวลา 18-19 นาฬิกาของวันพุธ มีเพียงสายการบินเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ลงจอด ส่วนสายการบินที่จะบินขึ้นทั้งหมดต้องจอดนิ่งสนิท เนื่องจากพายุฝนกระหน่ำหนัก" เว็บไซต์ติดตามข้อมูลการบินจีน feeyo.com รายงานว่า ครั้งนี้ถือว่าเป็นความตกต่ำอย่างรุนแรงด้านกิจกรรมการบิน
สนามบินเฉิงตูสั่ง เครื่องบินที่จะบินหลังจาก 16.00 น. เป็นต้นไป ห้ามนำเครื่องขึ้น ซึ่งมีจำนวนอย่างต่ำ 60 ลำ
โฆษกสนามบินเผยทางโทรศัพท์ว่า เที่ยวบินล่าช้าครั้งใหญ่นี้เนื่องจากพายุฟ้าคะนองที่กระแทกเฉิงตูและเมืองใกล้เคียง โดยพายุดังกล่าวถือว่ารุนแรงสุดในภูมิภาคที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อนนี้ พายุก่อตัวเวลา 15.30 น.ส่งผลให้เที่ยวบินที่จะมาเปลี่ยนเครื่องจำนวน 25 เที่ยวบินต้องบินไปยังมณฑลใกล้เคียง และต้องยกเลิกเที่ยวบินไปจำนวน 15 เที่ยวบิน ผู้โดยสารมากถึง 10,000 คนต้องรออยู่ที่สนามบิน
เจ้าหน้าที่สนามบินไม่อาจระบุแก่ผู้โดยสารว่า จะสามารถนำเครื่องขึ้นได้เมื่อใด
เวสท์ไชน่าเมโทรโพลิสเดลี รายงานว่า โดยปรกติทางแถบตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวนมักมีพายุฟ้าคะนองและอุทกภัยในช่วงเดือนก.ค.และส.ค. สำนักสังเกตการณ์พยากรณ์อากาศได้ส่งสัญญาณเตือนพายุสีน้ำเงินเมื่อวันอังคาร ชี้ว่าจะมีฝนตกต่อเนื่อง กระทบแถบหลายเมืองของเสฉวนไปยันวันพฤหัส
ขณะเดียวกัน รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ต้องวิ่งผ่านเฉิงตูก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเนื่องจากปัญหาสภาพอากาศ
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวสัญจรกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวในจีน ผู้โดยสารเครื่องบินของจีนเริ่มไม่อดทนต่อปัญหาเที่ยวบินดีเลย์ทั่วประเทศ
ผลสำรวจปัจจุบันของ FlightStats ผู้วิจัยสถิติการบินเผยว่า สนามบินปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้มีบันทึกแย่ที่สุดเรื่องการขึ้นบินล่าช้าและการลงจอดมีปัญหา เทียบกับสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่อื่น ๆ อีก 35 แห่ง
ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สำนักงานการบินพลเรือนจีนได้ประกาศเมื่อต้นเดือนส.ค.ว่า จะสั่งการให้สนามบินจีน 8 แห่งนำเครื่องขึ้นตรงเวลา แม้ว่าจะต้องบินขึ้นไปวนอยู่บนอากาศแต่ไม่สามารถทะยานไปตามเส้นทางการบินได้ก็ตาม
สนามบินเฉิงตู เป็น 1 ใน 8 แห่งดังกล่าว หลังจากดำเนินนโยบายดังกล่าว ทำให้เครื่องบินบินขึ้นตรงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5
อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์ชี้ว่า มาตรการสั่งบินตรงเวลาดังกล่าวนำมาสู่ความสูญเสีย ผู้โดยสารต้องไปรออยู่บนอากาศนานกว่าเดิม ไม่ปลอดภัย เครื่องบินต้องสูญเสียพลังงานโดยใช่เหตุ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกลางให้สัมภาษณ์กับไชน่านิวส์ เซอร์วิส ว่า ปัญหาเที่ยวบินล่าช้า 42.3 เปอร์เซ็นต์เป็นผลมาจากปัญหาเรื่องการจัดการของสนามบิน ส่วน 26.1 เปอร์เซ็นต์ คือเรื่องปัญหาการควบคุมการจราจรทางอากาศ 20.9 เปอร์เซ็นต์จากปัญหาสภาพอากาศ และอีก 7 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องการซ้อมของกองทัพอากาศจีน