เอเยนซี - พฤติกรรมของบรรดานักท่องเที่ยวชาวจีนที่ไปแสดงออกทั้งภายในและนอกประเทศ กำลังเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายพยายามรณรงค์ภายใต้วิสัยทัศน์ ความฝันของจีน China Dream หลังข่าวคราวในด้านลบ ทะยอยส่งผลต่อภาพลักษณ์ของชาวจีนกับชาวโลก ซึ่งในหลายท้องถิ่น มีความรุนแรงเกินเลย ขนาดอาจนำไปสู่ความรังเกียจเหยียดผิวทีเดียว
ปัญหาพฤติกรรมที่นานาประเทศเจ้าบ้านซึ่งต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน มองและเห็นว่าเป็นนิสัยเสีย น่ารังเกียจ นั้นมีตั้งแต่ การพูดคุยโหวกเหวก โวยวายเสียงดัง ไม่สำรวมฯ แซงคิว เบียดแย่ง และข้ามถนนตามใจไม่ดูสัญญาณไฟ หนักไปจนถึงขั้นการขับถ่ายอย่างผิดสุขลักษณะ นี่ยังไม่นับรวมมารยาทในการตอบแทนผู้บริการในสถานที่ต่างๆ อาทิ ค่าทิป ฯลฯ ซึ่งเมื่อมองในภาพรวมแล้ว เหล่านี้คือปัญหาทางด้านมารยาทสังคม แม้จะไม่ใช่ปัญหาทางด้านจริยธรรม คุณธรรม และสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้แต่ก็ต้องใช้เวลาของการรณรงค์อย่างต่อเนื่องนานทีเดียว
ในช่วงต้นทศวรรษ 80 ของการเปิดประเทศนั้น จีนก็เคยมีปัญหาที่หลายชาติรับไม่ได้คือ นิสัยการบ้วนถ่มน้ำลาย แม้กระทั่งผู้นำอย่างเติ้งเสี่ยวผิงเอง ก็ยังต้องปรับตัวและอดข่มที่จะถ่มบ้วนน้ำลายในกระโถนระหว่างการเจรจาความเมืองระดับสูงกับผู้นำชาติต่างๆ มาแล้วทั้งสิ้น อาทิ ยามนั่งประจันกับนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งในยุคนั้น ทุกคนจะเห็นกระโถนสีขาววางอยู่ที่ข้างเก้าอี้ของ เติ้งเสี่ยวผิง ที่มหาศาลาประชาคมเสมอ และหากมองในสายตาของชาวตะวันตก ก็คงเป็นภาชนะที่แปลกปลอม ขัดความรู้สึกมาก
ในเรื่องมารยาททางสังคมของนักท่องเที่ยวจีน ที่ได้มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางและบ้างร้อนแรงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายคนมองว่า เป็นเพราะปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามข้อมูลการท่องเที่ยว เผยว่า ปีที่แล้ว (2555) มีนักท่องเที่ยวจีน มากกว่า 83 ล้านคน เดินทางออกนอกประเทศไปเที่ยวทั่วโลก จนกล่าวได้ว่า จีนเป็นชาติที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก โดย องค์การการท่องเที่ยวโลก (United Nations World Tourism Organization : UNWTO) เผยว่า มูลค่าการท่องเที่ยวต่างประเทศของจีนสูงเป็นสถิติในปีที่แล้ว อยู่ที่ 102,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 40
เมื่อพิจารณาในเชิงสัดส่วนมูลค่า และปริมาณของการท่องเที่ยวจีนในโลก แอนดรู ฮิกกินส์ จากวอชิงตันโพสต์ ได้เปรียบไว้ว่า จีนยุคนี้ ก็คงไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ในยุคแรกๆ เมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งถูกเรียกจากคนท้องถิ่นว่า อักลี่อเมริกัน (The Ugly American) อันมาจากชื่อนวนิยายเชิงการเมืองในปี พ.ศ. 2501 ของยูจีน เบอร์ดิกและวิลเลียม เลดเดอเรอร์ โดยในนวนิยาย นักข่าวพม่าคนหนึ่ง บอกว่า "ด้วยเหตุผลบางอย่าง คน[อเมริกัน] ที่เขาพบในประเทศของตน ไม่ได้เป็นเช่นเดียวกับคนที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเวลาชาวอเมริกันไปยังต่างประเทศ พวกเขาจะมีพฤติกรรม ทำตัวดูเด่นดังและโอ้อวด"
เหลียว ผาน นักศึกษาชาวจีนในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค กล่าวยอมรับว่า นิสัยการปลดทุกข์ในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แต่กระนั้นในส่วนอื่นๆ ก็ยังมีมุมที่พอจะอธิบายให้เกิดความเข้าใจต่อกันได้ อย่างแรกคือ การเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีน โดยเฉพาะในต่างแดน นับเป็นประสบการณ์ที่อาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิตของพวกเขา เพราะต้องใช้เวลาเก็บออมเงินเพื่อค่าใช้จ่ายเหล่านี้นานมาก แต่น่าเสียดายว่าแม้พวกเขาจะประทับใจในสถานที่ที่ไปเที่ยว แต่กลับไม่รู้ตัวว่า เจ้าบ้านรู้สึกไม่ประทับใจพวกเขาเลย
นอกจากนั้น เรื่องที่สองคือ การท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่จะอนุญาตหรือนิยมในลักษะการท่องเที่ยวแบบกลุ่มมากกว่าการท่องเที่ยวเพียงลำพัง ซึ่งมีความสำคัญมากในเชิงจิตวิทยาพฤติกรรม เพราะการอยู่ร่วมเป็นกลุ่ม จะทำให้มีความรู้สึกกดดันจากสภาพแวดล้อมใหม่น้อยกว่า จนทำให้ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างว่าต้องปรับตัวอะไร
เรื่องที่สาม คือ ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงของวัฒนธรรมตะวันตก - ตะวันออกที่เห็นได้ชัดคือวัฒนธรรมการกิน และสภาพการใช้ชีวิตในถิ่นของตน ซึ่งจะกลายเป็นความแปลกแยกทันทีเมื่ออยู่ต่างถิ่น และคงเป็นไปได้ยากที่จะเห็นชาวจีนนั่งกินอาหารในห้องอาหารอิตาลี ในจริตแบบชาวตะวันตก
ดังนั้น หลายคนเชื่อว่า หากเปรียบ อั๊กลี่อเมริกัน กับอั๊กลี่ไชนีส ย่อมไม่แตกต่างกันมากนัก เกรกอรี่ โรดิเกซ จากลอสแอนเจลีส ไทม์ ซึ่งเขียนบทความโดยสัมภาษณ์แม่บ้านที่เคยให้บริการนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันในยุค 40 ปีก่อน ว่า เดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยมีภาพชาวอเมริกันที่ดูกร่าง โอ่ น่ารังเกียจอีกแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นด้วยหลายปัจจัย ที่ทำให้ความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองสูงของพวกเขาลดต่ำลง อาทิ หลังเหตุการณ์ 9/11 หรือ วิกฤติเศรษฐกิจ ดอลลาร์ตกต่ำ ซึ่ง โรดิเกซ เปรียบเปรยประมาณว่า ขนาดของค่าเงินมีผลต่อความรู้สึกใหญ่โตของคนได้เหมือนกัน
แม่บ้านโรงแรมฯ ซึ่งให้ข้อมูลฯ ยังบอกว่า ในช่วง 5-6 ปีมานี้ เห็นชัดเลยว่า คนอเมริกัน มาเที่ยวน้อยลง และชื่อของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ใหญ่โตอย่างเมื่อก่อน ค่าเงินของพวกเขาก็เหมือนกัน เมื่อนักท่องเที่ยวลดลง สิ่งไม่ดีๆ ที่เคยเห็นก็น้อยลง และนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ที่มารอบหลังๆ นี้ ก็มักจะไม่ได้อวดเบ่งรู้สึกใหญ่โต เวลาบอกว่ามาจากสหรัฐฯ อย่างเมื่อก่อน
บรรดาผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยว จึงเปรียบว่า นักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะในยุคแรกๆ นี้ ก็คงเป็นด้านสวนทางกันของนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ นั่นเอง ในช่วง 10 ปีมานี้ เศรษฐกิจจีนเติบโตเร็วมาก ถึงขนาดแซงสหรัฐฯ และเยอรมนีไปแล้ว ขนาดเงินของจีนก็ใหญ่ขึ้น ไปที่ไหนก็เห็นแต่ชาวจีน และข้อมูลป้ายท่องเที่ยวที่มีภาษาจีน เคียงคู่ภาษาอังกฤษ ที่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพียงแต่ว่า นักท่องเที่ยวจีนอาจจะสร้างหรือทำลายความรู้สึกที่ดีต่อภาพลักษณ์ของชนชาติจีนได้มากกว่า ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเชิงปริมาณ ซึ่งในเรื่องนี้ นายหวัง หยาง รองนายกรัฐมนตรี เคยออกโรงมาแถลงเมื่อวันที่ 15 พ.ค. หลังจากได้มีกระแสต่อต้านนักท่องเที่ยวจีนบ้างแล้วในพื้นที่ต่างๆ ของโลก โดยกล่าวว่า นิสัยไม่ดีของนักท่องเที่ยวจีนถึงที่สุดแล้ว จะเป็นผลเสียต่อบุคคลนั้นๆ โดยจะไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีจากเจ้าบ้าน แต่ที่แย่คือ มันทำให้เกิดการเหมารวมฯ อันส่งผลเสียต่อส่วนรวม ทั้งนี้ เขาเห็นว่า ทั้งหมดเป็นเพราะคุณภาพการศึกษาอบรมมารยาทสังคม และย้ำว่า การดัดนิสัยเสียเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเช่นกัน
ในการนี้ รัฐบาลจึงได้ประกาศกฎหมายการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยมีบทลงโทษ และให้อำนาจหน่วยงานท่องเที่ยวในการลงโทษปรับ ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งจะเริ่มต้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยความหวังว่า ในที่สุดแล้ว จะค่อยๆ สร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีนได้ในที่สุด