xs
xsm
sm
md
lg

76 ปี ศึกสะพานมาร์โค โปโล กับ ไดอารี่ เจียงไคเช็ค บันทึกแห่งปุถุชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทัพญี่ปุ่นขณะข้ามสะพานมาร์โคโปโล หรือ สะพานลูกัว ซึ่งก่อสร้างในราวปี พ.ศ. 1632 มีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมหินอ่อน มีเสาโค้ง 11 ต้นอันสวยงาม ต่อมาปฏิสังขรณ์โดยจักรพรรดิคังซี (พ.ศ. 2205-2265) นับเป็นสะพานแห่งประวัติศาสตร์สงครามจีน-ญี่ปุ่น จากเหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโล ซึ่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น บุกข้ามมาก่อนที่กองทัพคณะปฏิวัติแห่งชาติจีน จะยึดคืนได้ และกลายเป็นจุดเริ่มของสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (พ.ศ. 2480-2488) (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี/เอเอสทีวี - เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (7 ก.ค.) ในโอกาสรำลึก 76 ปี เหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโล (7–9 ก.ค. 2480) มีข่าวของการเปิดตัวหนังสือวิเคราะห์เหตุการณ์ประวัติศาสตร์สงครามต่อต้านญี่ปุ่น โดยอดีตนายกรัฐมนตรีไต้หวัน นาย หาว ไป่ซุ้น ซึ่งมีประสบการณ์ตรงจากการเป็นทหารที่ร่วมรบป้องกันในสมรภูมิสะพานมาร์โค โปโลด้วย และยืนยันว่าการบัญชาการของจอมพลเจียงไคเช็ค ไม่ใช่จะถูกไปเสียทั้งหมด

นาย หาว ไป่ซุ้น อดีตนายกฯ ไต้หวัน กล่าวว่า การตีความหลายเรื่องมีที่มาจากความทรงจำส่วนตัวของเขา ประกอบกับการอ้างอิงข้อมูลจากไดอารี่ของจอมพลเจียงไคเช็ค ซึ่งบันทึกรายละเอียดของเรื่องราวไว้ โดยมีการระบุยุทธศาสตร์การรบ และคาดการณ์ล่วงหน้า ในช่วงเวลาดังกล่าว อันเป็นช่วงของศึกรอบด้านทั้งภายใน และนอกประเทศ จุดเริ่มต้นของการที่จีนจับมือกับกองกำลังสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ในสถานะของจีน ที่เวลานั้นเป็นเพียงชาติยากจน แตกแยก และอ่อนแออย่างถึงที่สุด เมื่อเทียบกับฝ่ายพันธมิตร สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย กับฝ่ายอักษะ นาซีเยอรมนี ราชอาณาจักรอิตาลี และจักรวรรดิญี่ปุ่น

หาว ไปซุ้น อดีตทหารผ่านศึก วัย 95 ปี เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไต้หวัน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2462 เมื่อครั้งเหตุการณ์สะพานมาร์โคโปโลนั้น มียศเป็นนายร้อย ประจำการอยู่ในกองกำลัง 823 ซึ่งรับคำสั่งให้ป้องกันและยึดสะพานมาร์โคโปโล คืนจากญี่ปุ่นจนสำเร็จฯ เขากล่าวถึงการศึกษาประวัติศาสตร์สงครามเพื่อระลึกถึงความสำคัญของช่วงเวลาของประวัติศาสตร์นี้อย่างมีความหวังว่า บรรดาผู้นำชาติจีนยุคใหม่ คนรุ่นต่อไปจะได้ศึกษาจากอดีต เพื่อเปลี่ยนชะตากรรมอนาคต

ซุ้น วิเคราะห์ว่า ในเวลานั้น จอมพลเจียงไคเช็ค เสียเปรียบมากนัก และสุ่มเสียงที่จะพาชาติเสียอธิปไตย แต่เจียงไคเช็คยืนยันอย่างทรนงกับเหล่ามหาอำนาจเวลานั้น ว่าอำนาจอธิปไตยของจีนจะต้องยังคงอยู่ และสงครามนี้จะไม่มีทางแพ้ แต่ก็ยอมรับว่า การบัญชาการรุกรบ ถอยร่นของเจียงไคเช็ค ไม่ใช่จะถูกไปเสียทั้งหมด
ส่วนหนึ่งของสมุดบันทึกประจำวัน จอมพลเจียงไคเช็ค จำนวน 66 เล่ม ที่สถาบันฮูเวอร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐฯ ได้รับมอบจากทายาทเมื่อปีพ.ศ. 2549 เก็บรักษาไว้เป็นเวลา 50 ปี โดยไม่อนุญาตให้พิมพ์เผยแพร่ และมีไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น (ภาพเอเยนซี)
จากการตีพิมพ์หนังสือวิเคราะห์ฯ โดยนำบันทึกจอมพลฯ มาขยายความใหม่นี้ ทำให้เรื่องราวของไดอารี่เจียงไคเช็ค กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง หลังจากที่เมื่อปีพ.ศ. 2549 เคยปรากฎสู่สาธารณชนในฐานะเอกสารประวัติศาสตร์ ที่ทายาทของจอมพลเจียงไคเช็ค มอบให้เก็บรักษาอยู่ในสถาบันฮูเวอร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐฯ เป็นเวลา 50 ปี หรือจนกว่าจะได้สถานที่ถาวรสำหรับเก็บรักษาในประเทศจีน โดยบันทึกชุดนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์เผยแพร่สาธารณะ แต่กระนั้นในแวดวงนักประวัติศาสตร์ก็สามารถศึกษาค้นคว้าได้ โดยผู้เชี่ยวชาญในบันทึกฯ นี้ คือศาสตราจารย์ หยัง เทียนสือ จากสถาบันสังคมศาสตร์จีน กล่าวว่า บันทึกจอมพลฯ จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดแท้จริงของเจียงไคเช็คอย่างทะลุปรุโปร่ง และว่า ทุกวันนี้ มีนักวิชาการชาวจีนหลายร้อยคน กำลังศึกษาบันทึกฯ เหล่านี้ ที่สถาบันฮูเวอร์ ซึ่งนับเป็นแหล่งข้อมูลล้ำค่าทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน

ไท่ชุน โข่ว นักวิจัยทุนของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเชี่ยวชาญบันทึกนายพลฯ ชุดนี้ อีกท่าน กล่าวว่า เจียงไคเช็คได้เขียนบันทึกประจำวัน ตั้งแต่ปี 2460 - 2515 รวมมากกว่า 66 เล่ม ในบันทึกดังกล่าว มีเรื่องที่เป็นทั้งส่วนตัวและเป็นความลับมากมาย เจียงไคเช็ค เขียนทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิต ความคิด ศัตรู และมิตร เป็นบันทึกที่ถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา เขาเขียนระบายความรู้สึกต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องการข่มอารมณ์ความต้องการทางเพศของตน

สำหรับประเด็นที่บรรดานักวิชาการสนใจศึกษา ประติดประต่อความเข้าใจทางประวัติศาสตร์อย่างรอบด้านนั้น มีมากมายหลายเรื่อง มีตั้งแต่ สงครามจีน-ญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ของเจียงไคเช็ค กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งบรรดามิตรสหายชาวอเมริกัน โดยโข่ว เล่าว่า จอมพลเจียงขัดแย้งกับ นายพลโทโจเซฟ สติลเวลล์ แม่ทัพสหรัฐฯ ซึ่งบัญชาการกองทัพในจีน อินเดีย และพม่า ถึงขนาดที่สหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนแม่ทัพฯ กลางศึกยอมให้แก่เจียง โดยจอมพลฯ ระบุทำนองดูหมิ่นสติลเวลล์ ในบันทึกของตนว่า จะให้บทเรียนแก่แม่ทัพสหรัฐฯ คนนี้ ซึ่งยังต้องเรียนรู้เรื่องจีนอีกมาก สอดคล้องกับบันทึกของสติลเวลล์ ที่เคยพูดถึง เจียงไคเช็คในเชิงดูแคลนเช่นกันว่า "นายพลหัวถั่วฯ คนนี้ ริจะมาสอนตน" และ "ไม่เก่งอย่างที่คิด"

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ที่ขัดแย้งกันระหว่างจอมทัพฯ ทั้งสอง ที่ต้องร่วมรบด้วยกันนี้ บรรดานักประวัติศาสตร์เชื่อว่า เป็นเพราะสหรัฐฯ ต้องการร่วมมือจีนในเหตุผลเดียวคือพิชิตญี่ปุ่น แต่เจียงไคเช็คกลับกังวลในศึกภายในประเทศและการปราบพรรคคอมมิวนิสต์มากกว่า อีกทั้งหลงผิดในกองกำลังขุนศึกที่ตนมี
(จากซ้าย) จอมพลเจียงไคเช็ค ภริยาซ่งเหม่ยหลิง และนายพลโทโจเซฟ สติลเวลล์ แม่ทัพสหรัฐฯ  ซึ่งบัญชาการกองทัพในจีน อินเดีย และพม่า ที่ขัดแย้งกับจอมพลเจียงไคเช็ค ถึงขนาดที่สหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนแม่ทัพฯ กลางศึกยอมให้แก่เจียง (ภาพเอเยนซี)
บรรดานักวิชาการยังพบว่าบันทึกจอมพลฯ ลบล้างความเชื่อของพวกตนที่คิดว่า ความศรัทธาพระเจ้าของเจียง เป็นเพียงเรื่องการเมือง และต้องการเข้ารีตเพื่อสมรสกับซ่งเหม่ยหลิง ภริยาเท่านั้น ด้วยว่าทุกหน้าในบันทึกฯ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เจียงไคเช็ค มีความศรัทธาพระเจ้าอย่างแท้จริง ถ้อยคำต่างๆ ในคัมภีร์ไบเบิล ถูกบันทึกอ้างอิงเกือบทุกเรื่องราว ตลอดชีวิต มีครั้งหนึ่งยังเคยถึงขั้นให้สัตย์อธิษฐานว่าหากชนะศึกที่สมรภูมิหังหยาง (ปี พ.ศ. 2487) เขาจะสร้างไม้กางเขนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีไว้บนยอดเขาหังหยาง แม้ในยามท้อแท้ หรือพ่ายศึก ทุกสิ่งมลายสิ้น ขนาดคิดที่จะฆ่าตัวตาย เจียง ก็ยังไม่เสื่อมคลายศรัทธา โดยกล่าวกับพระเจ้าเสมอว่า เขาได้พยายามทำทุกอย่าง อย่างสุดความสามารถแล้ว พร้อมกับตำหนิโทษตนเองว่า ดื้อด้านเกินไป มั่นใจมากเกินไป และล้มเหลวที่จะฟังคำแนะนำจากรอบด้าน

ทั้งนี้ เกี่ยวกับบันทึกประจำวันฯ นี้ ไท่ชุน โข่ว กล่าวว่า แม้กระทั่งภริยาของจอมพลฯ เองก็ยังประหลาดใจว่า เหตุใดเจียงไคเช็คต้องเขียนอะไรไว้มากมายขนาดนี้ ซึ่งซ่งเหมยหลิง วิตกว่าจะมีคนนำบันทึกกลับมาเป็นหลักฐานทำร้ายเขา และต้องการให้จอมพลฯ ละวาง-จากโลกไปอย่างไร้ร่องรอยใดๆ นอกจากเถ้าธุลี แต่เหมือนว่า จอมพลเจียงไคเช็ค ต้องการจะทิ้งร่องรอยไว้ ด้วยการบันทึกทุกเรื่องราวด้วยลายมือของตนเองอย่างมีรายละเอียดความคิดของเขา (ตลอด 55 ปี จำนวนกว่า 66 เล่ม) ซึ่งในที่สุดแล้ว แม้ผู้ศึกษาจะได้พบว่า เจียงไคเช็คเต็มไปด้วยร่องรอยความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่มีวีรกรรมเช่นวีรบุรุษที่สามารถเป็นแบบอย่างได้เลย แต่สิ่งหนึ่งที่บรรดานักวิชาการได้สัมผัสจากบันทึกเหล่านี้คือ ความเป็นมนุษย์ปุถุชน ที่จริงใจอย่างถึงที่สุดในทุกสิ่งที่ทำ
จอมพลเจียงไคเช็ค ผู้นำกองทัพรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน และหลบหนีมาตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) อยู่บนเกาะไต้หวันตั้งแต่ พ.ศ. 2488 (ภาพเอเยนซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น