ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซน ได้ลงนามอนุมัติการเลื่อนยศให้แก่นายทหารระดับสูงยศนายพลโท จำนวน 29 คน ให้เป็น “นายพล 4 ดาว” ซึ่งในระบบของประเทศนี้หมายถึงนายพลเอกเต็มขั้น ทั้งนี้เป็นไปตามการเสนอของ พล.อ.เตียบัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สำนักข่าวของทางการกัมพูชารายงานคำแถลงฉบับหนึ่งของกระทรวงดังกล่าวในกรุงพนมเปญ
กัมพูชาที่มีกองทัพขนาดเล็ก ได้ชื่อเป็นประเทศที่มีนายพลมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งในโลก ตัวเลขเมื่อ 3-4 ปีก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า นายพลในประเทศนี้มีจำนวนมากกว่าในกองทัพสหรัฐฯ อันใหญ่โตมหึมากว่า 1,000 คน ทำให้กระทรวงกลาโหม ต้องหยุดการเลื่อนยศระดับนายพลมาหลายปี
ปัจจุบันทั้ง 29 นาย ดำรงตำแหน่งระดับรองผู้บัญชาการ ผู้ช่วยหรือระดับเลขาธิการ สำนักข่าวกัมพูชารายงานโดยไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก ขณะที่สื่ออื่นๆ กล่าวว่า การแต่งตั้งครั้งนี้ทำให้กัมพูชามีนายพล 4 ดาวเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว แต่นายพลเอกชุดใหม่นี้เป็นนายทหารในกองทัพเพียง 18 นาย จำนวนที่เหลือสังกัดกระทรวง และหน่วยงานอื่น
บรรดาผู้ที่มีรายชื่อในโผเลื่อนยศยังรวมทั้ง พล.ร.ท.เตีย วิญ (Tea Vinh) นายพล 3 ดาวคนหนึ่งในกองทัพเรือ ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ ของ รมว.กลาโหม กับอดีตผู้บัญชาการของกองกำลังเขมรแดงอีก 2 คน คือ พล.ท.แอล วันสะรัฐ (El Vansarath) กับ พล.ท.ซกเพียบ (Sok Peap)
รายหลังเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้สื่อข่าวทั้งไทย และเทศในช่วงปี พ.ศ.2525-2532 ครั้งเป็นผู้บัญชาการระดับกองพลของฝ่ายกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรแดง) ปฏิบัติการที่บริเวณชายแดนบ้านคลองน้ำใส ทางตอนใต้ อ.อรัญประเทศ
ซกเพียบ นำกองกำลังเข้าร่วมกับรัฐบาลฝ่ายฮุนเซน หลังจากเกิดความแตกแยกถึงขั้นแตกหักในหมู่ผู้นำเขมรแดงด้วยกันในช่วงปี 2540-2541 เมื่อกลุ่มเอียงสารี กับเคียวสมพร แตกคอกับปีกทหาร และซอนแซน (Son Sen) รัฐมนตรีกลาโหมถูกสังหาร ทำให้ตาม็อก (Ta Mok) ผู้บัญชาการคนหนึ่งยึดอำนาจการนำจากกลุ่มโปลโป้ท จับผู้นำสูงสุดเป็นเชลย และนำขึ้นไต่สวนในศาลที่ตั้งขึ้นเองเมื่อปี 2540
โปลโป้ท ถูกควบคุมตัวในเขตป่า อ.อันลองแวง (Anlong Veng) จ.อุดรมีชัย ในปัจจุบัน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
พล.อ.ดอนฮัก (Dom Hak) นายทหารที่อื้อฉาวมากที่สุดคนหนึ่งของกองทัพที่เคยถูกจับกุมได้แบบคาหนังคาเขาเกี่ยวกับกับการค้ายาเสพติดเมื่อปี 2546 และถูกศาลสั่งปล่อยตัวในเวลาต่อมาเนื่องจาก “มีหลักฐานไม่เพียงพอ” ก็อยู่ในโผนายพลเอกครั้งนี้ด้วย เช่นเดียวกับ พล.ท.ชินปร (Chhin Por) อดีตผู้บัญชาการตำรวจกรุงพนมเปญ และ พล.ท.เคียงสาวุธ (Khieng Savuth) อดีตผู้บัญชาการกำลังสารวัตรทหารแห่งชาติ
เมื่อปี 2540 พล.ท.สาวุธ เคยถูกอดีตทูตฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติกล่าวหาว่า เป็นผู้ต้องรับผิดชอบต่อปฏิบัติการโหดร้ายทารุนต่อประชาชน กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหลากหลาย ทูตสิทธิมนุยชนยูเอ็นคนเดียวกันได้เรียกร้องให้รัฐบาลฮุนเซนยุบหน่วยงานดังกล่าวนี้
พล.ท.ชุม สุชาติ (Chhum Socheat) โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่เคยร่ำไห้ออกโทรทัศน์ระหว่างการแถลงข่าวเกี่ยวกับการปะทะกับฝ่ายไทยที่ชายแดนด้านปราสาทตาเหมือน ต้นปี 2554 มีชื่อในบัญชีเลื่อนยศครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
พล.อ.เตียบัญ ประกาศในปี 2554 ว่า จะไม่มีการเลื่อนชั้นยศนายพลเอกในกองทัพสักระยะหนึ่ง เนื่องจาก “มีมากเกินไปแล้ว” ซึ่งตามตัวเลขเมื่อปี 2553 กัมพูชามีนายทหารระดับนายพลทุกชั้นจำนวนกว่า 2,200 นาย มากกว่านายพลในกองทัพอันมหึมาของสหรัฐฯ ราว 1,500 นาย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า บรรดาผู้ที่ได้รับเลื่อนยศชั้นอย่างรวดเร็วนั้นจำนวนมากเป็นลูกหลานของผู้มีอำนาจ ก่อนการเลือกตั้งเดือน ก.ค.2556 มีนายทหารหลายร้อยนายได้รับเลื่อนยศขึ้นเป็นระดับนายพล ซึ่งรวมทั้งบุตรชายของฮุนเซน 2 คน คือ ฮุนมาเน็ต (Hun Manet) กับฮุนมานิต (Hun Manit) ที่ได้รับชั้นยศใหม่เป็นนายพลโท กับนายพลจัตวา ตามลำดับ.