เอเยนซี - จีนประกาศมาตรการกระตุ้น ศก. อีก แต่จำกัดขนาดเป็นโครงการสนับสนุนกิจการขนาดย่อม ด้วยการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดค่าธรรมเนียมผู้ส่งออก เพิ่มช่องทางจูงใจนักลงทุนเอกชนในโครงการรัฐ
สื่อต่างประเทศรายงาน (25 ก.ค.) ว่า ผู้นำจีนพิจารณามาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจหลังชะลอตัวต่อเนื่องหวั่นซบยาว นับเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนครั้งล่าสุด และสะท้อนความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ
รายงานข่าวกล่าวว่า สภาแห่งชาติจีนประกาศพิจารณาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดย่อมนี้ ประกาศ เมื่อค่ำวันที่ 24 ก.ค. ว่า จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบาย 3 เรื่อง ได้แก่ การยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดค่าธรรมเนียมผู้ส่งออก เพิ่มช่องทางจูงใจนักลงทุนเอกชนในโครงการรัฐ
สำหรับ การยกเลิกภาษีชั่วคราวนั้น จะยกเลิกมูลค่าเพิ่มและภาษีการดำเนินงานของธุรกิจขนาดย่อม (มียอดขายต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 หยวน โดยสภาฯ ระบุว่า มาตรการงดเว้นภาษี จะเริ่มมีผลตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจมากกว่า 6 ล้านราย รวมถึงพนักงานของกิจการเหล่านี้กว่า 10 ล้านคน
ในส่วน ลดค่าธรรมเนียมผู้ส่งออกนั้น รัฐบาลจะลดค่าธรรมเนียมในการจัดการให้กับผู้ส่งออก ซึ่งรวมถึงการยกเลิกค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบการส่งออกสินค้ราโภคภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการอนุญาตให้ง่ายขึ้น อีกทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการตรวจสอบทางศุลกากรสำหรับสินค้าภาคการผลิตอื่นๆ
ขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น รัฐบาลประกาศสร้างช่องทางจูงใจบรรดานักลงทุนเอกชน ให้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายรางรถไฟ รวมถึงจะมีการออกพันธบัตรเพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญฯ แสดงความเห็นว่า แม้ว่าจะการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้ จะจำกัดขนาด แต่นับเป็นการยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ล่อแหลมสุ่มเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจีน และมีความแตกต่างจากมาตรการกระตุ้นใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551 โดยครั้งนี้ จะเน้นการปฏิรูปเพื่อลดการแทรกแซงของรัฐบาล และเปิดพื้นที่ให้บริษัทต่างๆ มีอิสระในการดำเนินการมากขึ้น เป็นการกระตุ้นในเชิงอุปทาน ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนี้ มาตรการนี้ยังนับว่าจะส่งผลโดยตรงในขอบเขตที่ชัดเจนกว่า และยังมีผลในทางเพิ่มความเชื่อมั่นด้วย
เอชเอสบีซี โฮลดิงส์เผยวันที่ 24 ก.ค. ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีน (PMI) ในเดือนก.ค. อยู่ที่ระดับ 47.7 ลดลงจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 48.2 ซึ่งเป็นการหดตัวต่ำสุดในรอบ 11 เดือน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรมนุษยน์ พบว่า ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงครึ่งปีแรก กลับพบว่าตลาดแรงงานของจีนยังมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แม้แรงกดดันด้านการจ้างงานยังคงอยู่ในระดับสูง
ข้อมูลจากกระทรวงฯ พบว่า ในปีนี้ รัฐบาลได้ตั้งเป้าสร้างงานใหม่ อย่างน้อย 9 ล้านตำแหน่ง และกำหนดอัตราว่างงานรายปีให้อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 4.6 ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแล้วที่ 7.25 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานในเมือง อยู่ที่ร้อยละ 4.1