เอเยนซี - จีน เผย (9 ก.ค.) ภาพกองเรือจีนซ้อมรบในทะเลใกล้ซ่านโถว (ซัวเถา) ในมณฑลกวางตุ้ง ขณะญี่ปุ่นเผยสมุดปกขาวกลาโหม ย้ำร่วมมือสหรัฐฯ ป้องเขตน่านน้ำ
สื่อเกี่ยวกับกิจการทหารเรือจีน เผย (9 ก.ค.) ภาพกองเรือจีนจำนวนกว่า 10 ลำ ปฏิบัติการซ้อมรบในทะเลใกล้ซ่านโถว (ซัวเถา) มณฑลกวางตุ้ง ในวันเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น คู่ขัดแย้งน่านน้ำของจีน ได้รับรองรายงานสถานการณ์ความมั่นคงของญี่ปุ่น หนา 450 หน้า อันประมวลร่างและจัดทำหลังเหตุพิพาทในการอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ของจีน (เซนกากุของญี่ปุ่น) โดยรายงานฯ ระบุ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฝ่ายจีนเป็นผู้ละเมิดน่านน้ำและน่านฟ้าญี่ปุ่น มีการกระทำอันอาจเป็นอันตรายและจุดชนวนเหตุการณ์ให้เลวร้ายขึ้น อาทิ ข่มขู่และล็อกพิกัดปืนใหญ่เล็งเป้าหมายเรือญี่ปุ่น
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า มีสถานการณ์จากหลายปัจจัยที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของญี่ปุ่น ซึ่งบางอย่างเริ่มมีความชัดเจน รุนแรงมากขึ้น อันเป็นเหตุมาจากความพยายามของจีน ที่จะอ้างสิทธิเหนือดินแดนตามหลักการของตนเอง แม้ขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่ พร้อมทั้งย้ำว่า จีนควรต้องยอมรับและทำตามหลักสากล ขณะที่ รายงานฯ ยังคงได้ชี้แจงสาเหตุของการร่วมมือกับชาติพันธมิตรสหรัฐฯ เหมือนเช่นเคยว่า ไว้เพื่อป้องกันอธิปไตยจากการละเมิดของจีน และการที่มีกองทหารอเมริกันประจำอยู่ในญี่ปุ่น จะช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดวิกฤติการณ์ในภูมิภาค และยังทำให้หลายประเทศในภูมิภาคนี้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น
ทั้งนี้ หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ในทะเลจีนตะวันออก เป็นดินแดนพิพาทกรรมสิทธิระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นเรียกหมู่เกาะพิพาทนี้ ว่า เซงกากุ ขณะที่ไต้หวันก็อ้างกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะนี้ในนามของสาธารณรัฐจีน เตี้ยวอี๋ว/เซงกากุ เป็นดินแดนที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ตั้งอยู่ตะวันออกของแผ่นดินใหญ่ ตะวันออกเฉียงของไต้หวัน ตะวันตกของเกาะโอกินาวา ตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่เกาะริวกิว
ในปี 2511 มีการค้นพบความเป็นไปได้ว่า อาจมีแหล่งสำรองน้ำมันในบริเวณหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรแร่ และการประมง สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐจีน (หรือไต้หวัน) ก็ได้เข้ามาอ้างกรรมสิทธิ จีนอ้างว่าเป็นผู้ค้นพบและดูแลหมู่เกาะนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 แต่ถูกฝ่ายญี่ปุ่นรุกรานและยึดเอาหมู่เกาะนี้ไปตั้งแต่ปี 2438 (1895) เมื่อญี่ปุนยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ ก็ได้เข้ามาดูแลปกครอง (2488-2515) แต่เวลาต่อมา วอชิงตันกลับไม่ส่งคืนเกาะนี้ให้จีน แต่ได้ถ่ายโอนอำนาจปกครองหมู่เกาะแก่รัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2515 อันเป็นการขัดกับ "แถลงการณ์ไคโร" เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2486 ที่ จีน สหรัฐอเมริกาและอังกฤษร่วมกันประกาศ อย่างชัดเจนว่า ให้ญี่ปุ่นคืนดินแดนของจีนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง
รายงานข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 เมษายน กระทรวงกลาโหมของจีน ก็ได้ออกสมุดปกขาว รายงานสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยกล่าวพาดพิงสหรัฐฯ ว่า ลดทอนความมั่นคงในภูมิภาค จากความพยายามขยายอิทธิพลภายใต้นโยบาย Asian Pivot ซึ่งต้องการแผ่อำนาจเข้ามาในเอเชียมากขึ้น ทั้งด้านความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจ โดยประเด็นสำคัญ ในรายงานดังกล่าว กระทรวงกลาโหมจีน ระบุว่า ชาติตะวันตกที่ไม่เป็นมิตร มีความพยายามที่จะสร้างพันธมิตรการทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และขยายกองกำลังฯ ทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคตึงเครียดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการปรับยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแปลงให้จีนเป็นไปตาม ประเทศตะวันตก และแบ่งแยกจีนออกจากกัน
สมุดปกขาวของจีนเมื่อเดือนเม.ย. ยังได้ชี้ว่า ญี่ปุ่นกำลังสร้างปัญหาในประเด็นหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ด้วยการส่งเครื่องบินรบและเรือลาดตระเวนประจำการเข้าสู่พื้นที่เช่นเดียวกับจีน ซึ่งในครั้งนั้น นายหยาง ยู่วจวิ่น โฆษก กระทรวงกลาโหมจีน ได้แถลงฯ ว่า เป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาความสัมพันธ์ และไม่เอื้อให้เกิดสันติภาพในภูมิภาค
รายงานฯ ของจีนระบุว่า นโยบาย Asian Pivot ของสหรัฐฯ จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านกองกำลังสหรัฐฯ ในภูมิภาค อาทิ ภายในปี พ.ศ. 2563 กองเรือรบกว่าร้อยละ 60 ของสหรัฐฯ จะย้ายมาประจำการในภูมิภาคนี้ โดยจะประจำการที่ประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ขณะเดียวกัน ในประเทศฟิลิปปินส์ ก็จะมีกองกำลังภาคพื้นดินสหรัฐฯ เช่นเดียวกับที่เมืองดาร์วิน ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย จะมีนาวิกโยธินกว่า 2,500 นายจะเข้าประจำการฯ และอีก 78,000 นาย กำลังประจำการอยู่ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
(**หมายเหตุ : ในกรณีเปิดช่องแสดงความคิดเห็นฯ ทีมงานมุมจีน ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น ที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข่าวฯ ใช้คำหยาบคาย ระราน ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ และขอความร่วมมือผู้อ่าน ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นฯ ร่วมตรวจสอบข้อความที่ไม่เหมาะสมได้ โดยการกดปุ่ม "แจ้งลบ")