xs
xsm
sm
md
lg

‘ความชิงชังทางเชื้อชาติศาสนา’ถูกใช้เป็น‘นโยบาย’ในพม่า (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Racial hatred as policy in Myanmar
By Brian McCartan
05/04/2013

ภาวะความตึงเครียดระหว่างผู้คนต่างเชื้อชาติและศาสนาในพม่า ได้ถูกระบอบปกครองเผด็จการทหารในอดีตทำให้กลายเป็นเรื่องถาวรติดตรึงแน่นหนา และยังคงก่อให้เกิดความเดือดดาลคลั่งไคล้ขึ้นมาได้เป็นระยะๆ จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน เรื่องนี้จึงเป็นความเสี่ยงอันสำคัญอีกประการหนึ่งในการดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในแดนหม่อง ทั้งนี้ความรุนแรงอันบ้าคลั่งได้ปะทุขึ้นในเดือนที่แล้วที่เมืองเมกติลา นับเป็นเหตุจลาจลต่อต้านชาวมุสลิมขนาดใหญ่ครั้งแรกที่ปะทุขึ้นภายนอกรัฐยะไข่ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา และก็สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนเชื้อชาติศาสนาต่างๆ กำลังย่ำแย่เลวร้ายลง สภาพการณ์เช่นนี้หมายความว่าความหวังที่พม่าจะสามารถดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างกว้างขวางต่อไปนั้น ยังคงเป็นตกอยู่ในท่ามกลางความไม่แน่นอน ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ดูเหมือนจะพลาดโอกาสที่จะเร่งยุติอาการความหวาดกลัวคนต่างชาติซึ่งได้ครอบงำประเทศนี้ตลอดช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนานทีเดียว

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างชุมชนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพม่าเมื่อไม่นานมานี้ คือสิ่งซึ่งตอกย้ำให้เห็นความเสี่ยงที่ว่า ประเด็นปัญหาทางด้านเชื้อชาติและศาสนาที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลายนั้น สามารถที่จะกลายเป็นอุปสรรคเครื่องถ่วงรั้งอย่างยาวไกล ของการดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมาในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้ ขณะที่ระบอบปกครองเผด็จการทหารในอดีต จะต้องถูกประณามกล่าวโทษ ในฐานะที่ทำให้ความคลั่งไคล้ในเรื่องเชื้อชาติและศาสนากลายเป็นความรู้สึกที่ถาวรติดตรึงแน่นหนา ทว่าพวกนายทหารที่บัดนี้ได้ถอดเครื่องแบบหันมาเป็นนักการเมืองแล้วจำนวนมาก รวมทั้งพวกฝ่ายค้านที่ได้เรียกร้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมายาวนาน ขณะนี้มีโอกาสแล้วที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์อันสำคัญยิ่งยวดเหล่านี้เสียใหม่

ความรุนแรงซึ่งปะทุขึ้นในเมืองเมกติลา (Meiktila) ทางภาคกลางของพม่าเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นเหตุจลาจลต่อต้านชาวมุสลิมขนาดใหญ่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นภายนอกรัฐยะไข่ (Rakhine State) นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ทั้งนี้ตามตัวเลขที่แถลงโดยเจ้าหน้าที่ทางการ ในระหว่างความรุนแรงอันบ้าคลั่งคราวนี้ มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อยที่สุด 42 คน และมีมัสยิด, บ้านเรือน, ตลอดจนร้านค้าจำนวนมากถูกเผาถูกทำลาย ยังมีผู้คนอีกหลายสิบรายที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และอีกหลายพันหลายหมื่นคนอยู่ในสภาพไร้ที่พำนักอาศัย

ทางการพม่าได้ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินในเมืองเมกติลา และเมืองเล็กเมืองน้อยอื่นๆ ที่อยู่รายรอบจำนวนมาก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม อันเป็นการตัดสินใจทางการบริหารซึ่งทำให้กองทัพสามารถยกกำลังเข้าไปฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยได้ แต่ถึงแม้มีการดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว การจลาจลก็ยังคงแผ่ลามออกไปสู่เมืองเล็กเมืองน้อยอื่นๆ ทั้งในเขตมัณฑะเลย์ (Mandalay Division) เอง และในเขตพะโค (Bago Division) ซึ่งอยู่ต่อลงไปทางใต้ ความรุนแรงได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจวบจนกระทั่งถึงวันที่ 29 มีนาคม หลังจากมีบ้านเรือนและมัสยิดจำนวนมากถูกเผาทั้งในเมืองเตตออน (Tatkon). ยาเมธิน (Yamethin), เลไว (Lewei), กโยบินก็อค (Gyobingauk), ออกโป (Okpo), มินฮลา (Minhla), มอนโย (Monyo), และ ปาดิกอน (Padigon)

การจลาจลระลอกนี้ บังเกิดขึ้นภายหลังเมื่อปีที่แล้วได้มีความรุนแรงปะทุขึ้นนานหลายสัปดาห์ในรัฐยะไข่ ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ และส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 150 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญามุสลิม ( Muslim Rohingya) มีนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นของสื่อจำนวนมาก เพ่งเล็งความสนใจไปที่รายงานข่าวหลายๆ ชิ้นซึ่งระบุว่าพวกผู้ก่อเหตุบางคนไม่ได้เป็นชาวบ้านที่พำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เกิดการโจมตีเหล่านี้ และดังนั้นจึงบ่งบอกให้เห็นว่า ความรุนแรงอาจจะถูกโหมกระพือจากตัวแสดงที่มาจากภายนอก

แต่สิ่งที่มีความชัดเจนยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ บทบาทของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีพระสงฆ์สำคัญๆ หลายต่อหลายรูป ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในทางต่อต้านชาวมุสลิมกันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับบทบาทของพระสงฆ์ในเหตุการณ์ความรุนแรงในเมืองเมกติลา ซึ่งปรากฏภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นพระสงฆ์ห่มจีวรหลายรูปกำลังกวัดแกว่งอาวุธในมือ และลงมือกระทำการรุนแรงต่างๆ เหล่านี้จึงกำลังเพิ่มความเสี่ยงที่การเข่นฆ่าสังหารหมู่เช่นนี้จะแผ่ลามออกไปอีก เนื่องจากพระสงฆ์นั้นมีบทบาทความเป็นผู้นำอันสูงยิ่งในสังคมพม่า

จุดสำคัญก็คือ ความรุนแรงเมื่อเร็วๆ นี้ในเมืองเมกติลาและที่อื่นๆ ทางภาคกลางของพม่า ไม่ได้มีเป้าหมายอยู่เพียงแค่ที่ชาวมุสลิมในท้องถิ่นที่เกิดเหตุเท่านั้น หากแต่มีจุดมุ่งหมายพุ่งไปที่ชุมชนชาวมุสลิมโดยรวมของประเทศ ชาวมุสลิมในพม่านั้นมีจำนวนคิดเป็นประมาณอย่างน้อยที่สุด 4% ของประชากรทั้งหมด หรือหากคำนวณออกมาเป็นตัวเลขแล้วก็มีมากกว่า 2 ล้านคน ผู้คนเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวอาศัยตามชุมชนในเขตเมืองใหญ่และเมืองน้อย แต่ก็มีชาวมุสลิมในพม่าจำนวนที่สำคัญจำนวนหนึ่งพำนักอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ตามชนบท

อันที่จริงแล้ว การแบ่งแยกเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิม ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในพม่า ต้นตอสำคัญที่สุดอยู่ในสมัยที่อังกฤษเข้ามายึดครองทั้งพม่าและอินเดียเป็นอาณานิคม แล้วเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้นำเอาชาวอินเดียเข้ามาอยู่ในแดนหม่อง เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการบริหารปกครอง โดยที่คนเหล่านี้จำนวนมากเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ครั้นเมื่อชาวพม่าซึ่งส่วนมากที่สุดเป็นชาวพุทธเกิดความรู้สึกว่าพวกตนกำลังพ่ายแพ้สูญเสียให้แก่ชาวอินเดีย จึงเริ่มเกิดความรู้สึกต่อต้านชาวอินเดีย ซึ่งในกรณีนี้ก็กลายเป็นความรู้สึกต่อต้านคนมุสลิมไปด้วย โดยที่นอกจากพวกซึ่งเข้ามาช่วยงานด้านบริหารปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษแล้ว ยังมีชาวมุสลิมอินเดียคนอื่นๆ จำนวนมากอพยพติดตามมา แล้วทำการสร้างเนื้อสร้างตัวตั้งธุรกิจด้านต่างๆ , ทำงานในฐานะเป็นกุลีผู้ใช้แรงงาน, หรือไม่ก็เคลื่อนย้ายเข้าไปพำนักในหมู่บ้านชาวมุสลิมต่างๆ ที่มีอยู่แต่เดิมในเขตชนบท เพื่อจับอาชีพทางการเกษตร

ในระหว่างสมัยแห่งการปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลปะทุขึ้นอยู่เป็นระยะๆ โดยครั้งที่โดดเด่นเตะตาที่สุดคือในปี 1930 เมื่อกรรมกรท่าเรือชาวอินเดียที่ทำการสไตรก์นัดหยุดงานได้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง แล้วเป็นเหตุให้พวกคนงานชาวพม่าที่ได้รับการว่าจ้างทำงานแทนอยู่ ต้องตกงานเป็นแถว การจลาจลคราวนั้นมีน้ำเสียงในทางต่อต้านชาวมุสลิมอย่างเด่นชัด และแพร่ขยายออกไปตามพื้นที่ต่างๆ จำนวนหนึ่งทั่วประเทศ เหตุการณ์จลาจลอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1938 ถึงแม้มีจุดมุ่งหมายมุ่งต่อต้านรัฐบาลเจ้าอาณานิคมอังกฤษ แต่ก็ใช้การก่อความรุนแรงเล่นงานชาวมุสลิมมาเป็นเป้าหมายตัวแทน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นรุกรานเข้ายึดครองพม่าอยู่ช่วงระยะหนึ่งนั้น ด้วยความหวาดกลัวว่าคนเชื้อชาติพม่าอาจจะก่อเหตุแก้แค้น ก็ได้เป็นสาเหตุทำให้ชาวอินเดียจำนวนหลายหมื่นคนทีเดียวอพยพหลบหนีกลับไปยังแดนภารตะ

กระทั่งในเวลาหลังจากที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948 แล้ว พอถึงปี 1962 ซึ่งฝ่ายทหารก่อการรัฐประหารยึดอำนาจนั้น ก็ยังเจือด้วยเหตุผลความหวาดกลัวคนต่างชาติอย่างแรงกล้า และตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีถัดมาแห่งการปกครองของทหาร ความรู้สึกหวาดกลัวคนต่างชาติเช่นนี้เอง ยังได้ทำหน้าที่เพิ่มพูนความรับรู้ความเข้าใจต่อชุมชนชาวมุสลิมอย่างชนิดเป็นไปในทางติดลบ ในระหว่างเวลาดังกล่าว ธุรกิจจำนวนมากถูกบังคับโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของชาติ และชาวเอเชียใต้จำนวนหลายแสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม ได้ถูกบีบคั้นให้ต้องหลบหนีไปยังดินแดนปากีสถานตะวันออก ที่ปัจจุบันกลายเป็นประเทศเอกราช นั่นคือ บังกลาเทศ ตลอดระยะเวลาเหล่านี้ ในภาษาพูดของท้องถิ่น คำว่าประชากรชาวอินเดียในพม่า และคำว่าประชากรชาวมุสลิมในพม่า กลายเป็นคำที่แทบจะมีความหมายอย่างเดียวกันไปเลย

ภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารในปี 1962 บ่อยครั้งที่ในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ชาวมุสลิมถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงโดยมุ่งที่จะให้ย้อนประหวัดถึงการที่พม่าถูกปกครองเป็นเมืองขึ้นในยุคอาณานิคม และการที่พม่าถูกต่างชาติกดขี่ขูดรีด ทั้งนี้ในขณะที่มีชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งพำนักอาศัยสืบลูกสืบหลานอยู่ในพม่ามาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว แต่จำนวนมากทีเดียวเข้ามาในระหว่างที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม ชาวมุสลิมในพม่าส่วนมากที่สุดเป็นลูกหลานสืบเชื้อสายอย่างน้อยก็บางส่วนจากชาวเอเชียใต้ ถึงแม้เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุคน ก็มีการแต่งงานข้ามเชื้อชาติจำนวนมากมาย จนกระทั่งชาวมุสลิมเยอะทีเดียวในพม่าทุกวันนี้ เป็นพวกเชื้อชาติผสม

ชาวมุสลิมในพม่าส่วนข้างมากที่สุดในเวลานี้เป็นผู้ที่ถือกำเนิดในพม่า ตลอดจนมีบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคนที่เกิดในแดนหม่องเช่นเดียวกัน เนื่องจากพวกเขาพูดภาษาพม่า เมื่อถูกถามส่วนใหญ่จะบอกว่าพวกตนเป็นชาวมุสลิมพม่า อย่างไรก็ตาม การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลที่กระทำกันมายาวนาน ได้กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกต่อต้านคนมุสลิมในทั่วทั้งประเทศ โดยที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หลายหลาก มักดูถูกดูหมิ่นคนมุสลิมว่าเป็นชาวต่างชาติผู้บุกรุกเข้ามาแข่งขันแย่งชิง และไร้การศึกษา

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ bpmccartan1@gmail.com

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น