xs
xsm
sm
md
lg

จนท.ยอม “ขอโทษ” … กรณีกักตัวแม่เข้าค่ายแรงงาน หลังร้องเรียนคดีลูกสาวถูกค้าประเวณี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางถัง ฮุ่ย แม่ผู้เรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกสาวที่ถูกลักพาตัวไปค้าประเวณี (ภาพ - เอเอฟพี)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - เจ้าหน้าที่ยอมเอ่ยปากขอโทษนางถัง ฮุ่ย คุณแม่ชาวจีนที่ถูกลงโทษส่งเข้าค่ายแรงงานเมื่อปลายปี 2555 ฐานสร้างความวุ่นวาย หลังเธอพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกสาวที่ถูกข่มขืนและค้าประเวณีมาตั้งแต่ปี 2549

รายงานข่าวกล่าวถึง การปรากฏตัวของนายเจี่ยง เจี้ยนเซียง ตัวแทนทางกฎหมายของค่ายแรงงานประจำเมืองหย่งโจว มณฑลหูหนัน ณ ศาลสูงประชาชน เมื่อวันอังคาร (2 ก.ค.) ที่ผ่านมา โดยเขาได้กล่าวกับศาลว่า “ขอแสดงความเสียใจและขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นการกระทำที่ไม่ได้คำนึงถึงความมีมนุษยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม”

นายเจียง ยังได้กล่าวต่อศาลอีกว่า “ความไม่เหมาะสมดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย”

ทว่า นางถัง ฮุ่ย กล่าวกับเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งว่า “ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรออกมามากมายแค่ไหน มันก็ไม่ได้แตกต่างกันอยู่ดี”

การพิจารณาคดีในวันดังกล่าว (2 ก.ค.) เป็นคดีการฟ้องร้องค่ายแรงงานของนางถัง ฮุ่ย ให้ชดเชยค่าริดรอนอิสรภาพของเธอเป็นเงินจำนวน 1,463.85 หยวน (ประมาณ 7,320 บาท) และค่าปลอบขวัญ 1,000 หยวน (ประมาณ 5,000 บาท) พร้อมหนังสือแสดงความขอโทษอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคดีที่ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง จบลงโดยไร้การประกาศคำตัดสิน ซึ่งศาลได้ชี้แจงผ่านหน้าเว็ปไซต์ทางการว่า “จะประกาศและเผยแพร่คำตัดสินในเร็ววัน”
ขณะการพิจารณาคดีที่นางถัง ฮุ่ย ฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากค่ายแรงงานประจำเมืองหย่งโจว มณฑลหูหนัน เมื่อวันอังคาร (2 ก.ค.) ที่ผ่านมา (ภาพ - เหรินหมิน)
ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2549 เด็กหญิงเล่อ เล่อ ลูกสาววัยเพียง 11 ปีของถัง ฮุ่ย ถูกหลอกให้ไปค้าประเวณี ซึ่งบีบบังคับเยี่ยงทาส โดยภายในเวลา 3 เดือน ต้องให้บริการลูกค้า 100 กว่าครั้ง และหลังจากตามหาลูกสาวจนเจอ ถัง ฮุ่ยได้เข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจเมืองหย่งโจวตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2549 ทว่า สถานีตำรวจปฏิเสธรับทำคดี กระทั่งถัง ฮุ่ยดึงดันอย่างสุดกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจถึงลงบันทึกคดีไว้เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2550

ต้นเดือนมิ.ย. 2555 ศาลหูหนาน ตัดสินประหารชีวิตสองผู้ต้องหากระทำการลักพาตัว จำคุกตลอดชีวิต 4 ราย และจำคุก 15 ปี 1 ราย กระนั้น ด้วยหัวอกของผู้เป็นแม่ ถัง ฮุ่ย ได้พยายามเรียกร้องให้มีบทลงโทษที่รุนแรงกว่านี้ แต่เธอกลับถูกควบคุมตัวด้วยเหตุที่ว่า “ทำลายระเบียบอันดีของสังคม” และ “สร้างผลร้ายต่อสังคม” ยังเหตุให้วันที่ 2 ส.ค. 2555 ค่ายแรงงานเมืองหย่งโจวลงโทษเธอด้วยการให้เข้ารับการ ‘สัมมนา’ ในค่ายแรงงานเป็นเวลาถึง 18 เดือน อย่างไรก็ดี กระแสต่อต้านของสังคมทำให้ทางรัฐต้องยกเลิกคำตัดสินดังกล่าวภายหลังการควบคุมตัวได้เพียง 9 วันเท่านั้น

ระบบ "การอบรมสัมมนาในค่ายแรงงาน" (Re-education through labor) เริ่มขึ้นเมื่อปี 2500 ระบบฯนี้ให้อำนาจตำรวจกักขังผู้ต้องหาในค่ายที่ว่านี้เป็นเวลาถึง 4 ปี โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการไต่สวนหรือพิจารณาคดีในศาลแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น