xs
xsm
sm
md
lg

สุดสับสนอลเวงในชีวิต อยู่มาตั้ง 66 ปีเพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็นผู้หญิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงพยาบาลก่วงหัวในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง - เอเจนซี่
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - เกิดเรื่องพิลึกกึกกือขึ้นในความคิดของชาวบ้านร้านช่องทั่วไป ทว่ามิได้พิสดารพันลึกจนหาเหตุผลไม่ได้ในวงการแพทย์

เมื่อชายชาวจีน วัย 66 ปี ผู้หนึ่งเกิดไม่สบายขึ้นมา โดยมีอาการท้องบวม เขาจึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แพทย์ตรวจอาการ จึงพบว่า อาการท้องบวมนั้นเกิดจากซีสต์ ที่อยู่ในรังไข่ของเขา

เขาเป็นผู้ชายแท้ ๆ จะมีรังไข่ได้อย่างไรกัน

กระทั่งแพทย์ได้เฉลยให้ฟังว่า จริง ๆ แล้วคุณเป็นผู้หญิงนะ ไม่ใช่ผู้ชาย !

สภาพการณ์ที่อุบัติขึ้นกับมนุษย์เพศเล่นตลกรายนี้มีสาเหตุมาจากโรคทางพันธุกรรม 2 ชนิด ซึ่งนาน ๆ ครั้ง จึงจะเกิดขึ้นร่วมกันเสียที

โรคแรกคือกลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome) ซึ่งส่งผลให้ผู้หญิงขาดลักษณะความเป็นเพศหญิงบางอย่าง รวมทั้งไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกด้วย

ตามปกติแล้วผู้ป่วยโรคนี้ยังมีรูปร่างหน้าตาเป็นผู้หญิง แต่สำหรับกรณีผู้ป่วยคนดังกล่าว ยังมีความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นจากภาวะ CAH (congenital adrenal hyperplasia) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการผิดปกติ ที่เกิดจากต่อมหมวกไต ทำให้ผลิตฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ จึงทำให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนผู้ชายนั่นเอง

มีการรายงานผู้ป่วยรายนี้โดยแพทย์ของโรงพยาบาลก่วงหัว ( Kwong Wah Hospital) และโรงพยาบาลควีนเอลิซาเบท ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้รักษาผู้ป่วยคนดังกล่าว และมีการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ฮ่องกง (Hong Kong Medical Journal) เมื่อวันอาทิตย์ (2 มิ.ย.)

“ หากให้คำนิยามแล้ว ผู้ป่วยคนนี้เป็นหญิง ซึ่งไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่เธอก็มีภาวะ CAH ซึ่งทำให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนอย่างผู้ชายคนหนึ่ง” Ellis Hon Kam-lun ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจีน (Chinese University) อธิบาย

“เป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นกรณีที่นาน ๆ ครั้งอย่างมาก ที่จะพบผู้ป่วยที่มีอาการ 2 ชนิดนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน และอาจจะไม่ได้เห็นอีกในอนาคตอันใกล้”

ชาวจีนวัย 66 ปีผู้นี้มีเชื้อสายเวียดนาม และเป็นเด็กกำพร้า เขามีเครา มีอวัยวะเพศชายขนาดเล็ก และไม่มีอัณฑะ รูปร่างสูง 1.37 เมตร มีประวัติของอาการปัสสาวะเล็ดราดมานาน และร่างกายหยุดเจริญเติบโต หลังจากเริ่มเป็นหนุ่มสาวเมื่ออายุ 10 ปี

หลังจากทราบความจริง เขาตัดสินใจ ที่จะเป็นผู้ชายต่อไป และอาจได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนเพศชายอีกด้วย

ตามรายงานทางการแพทย์ ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยแบบเดียวกันนี้เพียง 6 ราย โดยกลุ่มอาการเทอร์เนอร์จะพบในสตรีเฉลี่ย 1 ต่อ 2,500-3,000 คน

โดยปกตินั้น โครโมโซมเพศในหญิงจะเป็นแบบ XX ในชายจะเป็นแบบ XY ผู้ป่วยกลุ่มอาการเทอร์เนอร์มีเพียง X เดียว และจะมีลักษณะปรากฏเป็นเด็กผู้หญิง โดยอาการป่วยจะปรากฎ เมื่อผู้ป่วยมาถึงวัยแตกเนื้อหนุ่มสาว และจะไม่มีระดู

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้ป่วยกลุ่มอาการเทอร์เนอร์จะหาได้ยากมาก เนื่องจากแพทย์จะมีการตรวจครรภ์ของมารดา ก่อนคลอด และหากพบอาการผิดปกตินี้ในทารก ผู้ตั้งครรภ์มักจะเลือกทำแท้ง เนื่องจากโรคนี้อาจก่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งอาการปัญญาอ่อนตามมากับทารกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น