xs
xsm
sm
md
lg

พม่าค่าเช่าที่ดินพุ่ง โรงงานผู้ผลิตจากฮ่องกงส่ายหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทัศนียภาพนครย่างกุ้งของพม่า - เอเจนซี่
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักลงทุนฮ่องกง ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจพิเศษปากแม่น้ำจูเจียงของจีน ปรารถนาเจาะตลาดแรงงานราคาถูก ที่มีเหลือเฟือในพม่า แต่ที่ดินสำหรับตั้งโรงงาน ซึ่งราคากระเพื่อมสูงขึ้น กำลังเป็นปัญหาท้ายทายให้ต้องคิดหนัก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภาพัฒนาการค้าแห่งฮ่องกง (TDC) ได้เป็นผู้นำคณะเดินทางไปพม่า พร้อมกับผู้แทน 160 คนจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ อาทิ สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม ชิ้นส่วนรถยนต์ การบรรจุหีบห่ออุตสาหกรรมชุบโลหะด้วยไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานและการเงิน

การเดินทางเริ่มต้นด้วยความคาดหมายที่สูงว่า จะพบโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ แต่สุดท้ายเกือบคว้าน้ำเหลว ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากค่าเช่าที่ดินที่แพงมาก และปัญหาเรื่องการจ่ายกระแสไฟฟ้า ที่ไม่แน่นอนของพม่า

ค่าเช่าโรงงานในเขตอุตสาหกรรมหล่าย ทาร์ยาร์ (Hlaing Thar Yar Industrial Zone) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อันดับ 2 ในนครย่างกุ้ง พุ่งขึ้นร้อยละ 20-30 ในช่วงปีที่แล้ว เป็นตารางเมตรละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ซึ่งคณะผู้เดินทางของฮ่องกงระบุว่า พอ ๆ กับค่าเช่าบนแผ่นดินใหญ่

นายปีเตอร์ โฮ กรรมการบริษัท CS Marketing ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดเครื่องแบบสำหรับบริษัทภาคอุตสาหกรรม ระบุว่า การเปิดประเทศของพม่าดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามา แต่ขณะนี้นักลงทุนจากฮ่องกงไม่มีความสำคัญกับพม่ามากที่สุดในยามที่พม่ากำลังหาทางพัฒนาเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของตน

ด้านนายอู เต็ง อ่อง ( U Thein Aung) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของพม่ากล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตของฮ่องกงมาสายไป ในกรณีที่ต้องการร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนในท้องถิ่น เพื่อครอบครองพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับการตั้งโรงงานในนครย่างกุ้ง

กลุ่มบริษัทของญี่ปุ่น ซึ่งนำโดยบริษัทมิตซูบิชิ ได้ครองส่วนแบ่งร้อยละ 49 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวะ (Thilawa) เมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว หรือ 2,342 เฮกตาร์ ( ราว 14,286 ไร่) ซึ่งกว้างกว่าหล่าย ทาร์ยาร์ถึง 4 เท่า โดยบริษัท ที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ได้รับสิทธิ์ยกเว้นการเก็บภาษีชั่วคราวระยะ 5 ปี และมาตรการจูงใจอื่น ๆ

ในปีที่แล้ว การลงทุนโดยตรงในพม่า (FDI) มีจำนวนทั้งสิ้น 41,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งราวร้อยละ 15 มาจากฮ่องกง โดยรองจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเข้าไปลงทุนร้อยละ 34 และไทยร้อยละ 23

ค่าแรงโดยเฉลี่ยในพม่าอยู่ระหว่างละ 80 - 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ขณะที่ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) สูงกว่า 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม การจ่ายกระแสไฟฟ้าในพม่ามีเป็นช่วง ๆ โดยจ่ายให้วันละ 5 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่เหลือ ทางโรงงานต้องพึ่งเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าของตนเอง ซึ่งราคาสูงกว่าค่าไฟ ที่จ่ายตามปกติถึงร้อยละ 15

อย่างไรก็ตาม นายเฟร็ด แลม ผู้อำนวยการบริหารของสภาพัฒนาการค้าแห่งฮ่องกงมองว่า แม้ค่าเช่าที่ดินที่แพงในพม่าเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์สำหรับบริษัทผู้ผลิต แต่ระบบสาธารณูปโภค ที่ยังคงล้าหลังของพม่า จะสร้างโอกาสมหาศาลสำหรับนักลงทุน ดังนั้น ในการเดินทางไปพม่าคราวหน้า ทาง TDC จะนำมืออาชีพด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าไปด้วย เพราะโอกาสการลงทุนมีความเป็นไปได้อย่างมากทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น