เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - รถไฟไฮสปีดสายยาวที่สุดในโลกจากกรุงปักกิ่ง-มหานครก่วงโจวเปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2555
นอกจากชาวจีนจะได้สัมผัสความรวดเร็วของการเดินทางราวกับเหาะได้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า รถไฟสายนี้ช่างเปิดให้บริการได้ในเวลาที่เหมาะเจาะอย่างที่สุดในยามที่เศรษฐกิจแดนมังกรกำลังมีความไม่แน่นอนและการเติบโต ที่ชะลอลง เพราะขาดแรงกระตุ้นใหม่ ๆ
นักวิชาการของจีนหลายคนเชื่อมั่นว่า รถไฟไฮสปีดสายใหม่นี้อาจอัดฉีดพลังงาน ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากเข้าสู่เศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองขนาดกลางหลายแห่ง ที่เคยพลาดการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกแรกไปอย่างน่าเสียดาย
ทว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้นยังต้องขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลกลางจะสามารถแบกรับภาระการเงินมหาศาลจากการก่อสร้างและการซ่อมบำรุงรักษาไหวหรือไม่อีกด้วย
นายเฉิน เถียน นักธรณีวิทยาการพัฒนาระดับภูมิภาคประจำสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติของสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งจีน เห็นด้วยกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่ว่ารถไฟความเร็วสูงสายนี้มีต้นทุนในการก่อสร้างสูง และอาจประสบการขาดทุนมหาศาล
“แต่เราจำเป็นต้องมีรถไฟสายนี้มากเท่า ๆ กับ ที่นักว่ายน้ำ ซึ่งกำลังจะจมน้ำต้องการเจ้าหน้าที่ยามชายฝั่งคอยช่วยเหลือ เพราะการขนส่งได้กลายเป็นเรื่องความเป็นความตายสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค” เขาระบุ
นายเฉินอธิบายว่า ภายหลังการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วในระยะกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เมืองใหญ่ไม่กี่แห่ง เช่นกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และนครก่วงโจว ซึ่งจีนได้ทุ่มเททั้งด้านงบประมาณและสติปัญญาในการพัฒนา กลับกลายเป็นเมืองที่สารพัดไปด้วยปัญหา ชาวเมือง ซึ่งเหนื่อยล้ากับปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษในอากาศ และราคาบ้าน ที่พุ่งพรวด อาจนึกถึงการไปเที่ยวพักผ่อนในวันหยุด หรือการใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ที่เล็กกว่าก็เป็นได้ หากสามารถย่นระยะเวลาในการเดินทางให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง ด้วยรถไฟ ซึ่งวิ่งได้เร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถไฟไฮสปีดสายปักกิ่ง-ก่วงโจวนอกจากแล่นผ่านเมืองเอกของ 4 มณฑล ได้แก่เมืองสือเจียจวงในมณฑลเหอเป่ย เมืองเจิ้งโจวในมณฑลเหอหนัน เมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย และเมืองฉังซาในมณฑลหูหนันแล้ว รถไฟสายนี้ยังแล่นผ่านเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กอีกกว่า 20 แห่ง เช่น ติ้งโจว ซิงไท่ เห้อปี้ ซู่ฉาง เยี่ยว์หยาง เหิงหยาง และเส้ากวน
ตลาดแรงงาน การท่องเที่ยว และผู้บริโภคในเมืองเหล่านี้ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์
การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงจะกระตุ้นให้บริษัทผู้ผลิตหลายรายพิจารณาเข้ามาสร้างโรงงาน ซึ่งเน้นการใช้แรงงานในเมืองเล็ก ๆ ตลอดเส้นทางรถไฟสายนี้ ขณะที่บริษัทท่องเที่ยวจะได้คิดค้นจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ
“การขับรถเป็นระยะทางไกล 1,000 กิโลเมตรบนถนนเป็นสิ่งอันตรายและน่าเบื่อหน่าย” นายเฉินกล่าว
“ ส่วนการเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารเป็นระยะทาง 1,000 กิโลเมตรก็เป็นเรื่องยุ่งยากและไม่แน่นอน เพราะเครื่องบินสายการบินของจีนมักเดินทางไม่ตรงตามตารางเวลา เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย เช่น พายุไต้ฝุ่น หรือพายุหิมะ”
แต่ด้วยรถไฟไฮสปีดสายนี้ ผู้อาศัยในกรุงปักกิ่งสามารถเดินทางไปถึงเมืองติ้งโจวได้ภายในเวลาราว 1 ชั่วโมง เมืองหานตานในเวลา 2 ชั่วโมง เมืองเจิ้งโจวในเวลา 3 ชั่วโมง และเสี้ยวกังในเวลาไม่ถึง 5 ชั่วโมง
“คนปักกิ่งสามารถกินอาหารเช้าที่บ้าน อาหารกลางวันในเหอหนัน และกลับมากินข้าวเย็นที่บ้านก็ยังได้” เขาพูดถึงข้อดีของรถไฟสายนี้
เมื่อเครือข่ายรถไฟไฮสปีดก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์บนแดนมังกรในทศวรรษหน้า รถไฟไฮสปีดไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงความคิดในการเดินทางของผู้คนได้อย่างลึกซึ้งแล้ว แต่มันยังอาจกลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนเติบโตครั้งใหม่ โดยเมื่อเข้าสู่ยุคของรถไฟไฮสปีด ขบวนรถไฟธรรมดาอาจดัดแปลงเป็นรถไฟบรรทุกสินค้ามากขึ้น และลดต้นทุนลงอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม นายหวังเ มิ่งซู่ รองหัวหน้าวิศวกรของไชน่าเรลเวย์ทันเนลกรุ๊ประบุว่า การก่อสร้างรถไฟไฮสปีดสายนี้ดำเนินไปอย่างยากลำบากและสิ้นเปลืองงบประมาณมาก โดยระยะทางเกือบ 1,000 กิโลเมตรของเส้นทางเป็นอุโมงค์ลอดภูเขา
แม้ไม่มีการเปิดเผยงบประมาณก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้อย่างเป็นทางการ แต่นายหวังคาดว่าจะต้องสูงกว่าอย่างมากจากการก่อสร้างรถไฟสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ระยะทาง 1,318 กิโลเมตร จำนวนกว่า 220,000 ล้านหยวน
ขณะที่อาจารย์เจ้า เจี้ยน นักเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่งเจียวทงเชื่อว่า รถไฟไฮสปีดสายใหม่นี้จะขาดทุนตั้งแต่วันแรกของการวิ่งให้บริการ
ค่าตั๋วสำหรับการเดินทาง 8 ชั่วโมงจากปักกิ่งไปก่วงโจวเริ่มต้นที่ 865 หยวน ซึ่งสูงเกือบ 2 เท่าของค่าตั่วสำหรับรถไฟธรรมดา ที่มีตู้นอนแบบพัดลม นอกจากนั้น ผู้คนมากมายบ่นทางอินเทอร์เน็ตว่า ไม่มีเงินซื้อตั๋วรถไฟไฮสปีดสายนี้
อาจารย์เจ้าระบุว่า แม้ตั้งราคาตั๋วสูงลิ่ว แต่ก็ไม่อาจบรรเทาภาระการเงินก้อนมหาศาล ที่นับวันจะเพิ่มพูนของกระทรวงการรถไฟได้เลย โดยกระทรวงพึ่งงบประมาณในการก่อสร้างเครือข่ายรถไฟไฮสปีดโดยตรงจากรัฐบาลกลาง นอกจากนั้น ยังกู้ยืมจากธนาคารของรัฐ แต่รายได้จากรถไฟไฮสปีดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏแสงแห่งความหวังรำไรเลยว่า จะมีมากพอสำหรับชดใช้หนี้สินก้อนโตได้