เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - ผู้แทนรัฐบาลปักกิ่งในฮ่องกง จาง เสี่ยวหมิง เรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงผ่านกฎหมายความมั่นคงตามที่มาตรา 23 ของกฎหมายแม่บทระบุให้มีการประกาศออกมาบังคับใช้ ภายหลังเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกลางประสานงานฮ่องกงคนใหม่ ในขณะที่กลุ่มวิพากษ์วิจารณ์บางคนเกรงว่ากฎหมายแม่บทจะถูกนำมาใช้ กดขี่องค์กรที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และคุกคามกลุ่มเครือข่ายประชาธิปไตยในฮ่องกง ทั้งนี้กฎหมายความมั่นคงนี้ มีการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนมาหลายปี
วันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา จาง เสี่ยวหมิง (张晓明) อดีตผู้อำนวยการสำนักงานดูแลกิจการฮ่องกงและมาเก๊า (Hong Kong and Macao Affairs Office) เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกลางประสานงานฮ่องกง แทนเผิง ชิงหวาที่ดำรงตำแหน่งมาตลอด 9 ปี จาง วัย 49 นอกจากมีประสบการณ์รู้เส้นสนกลในบนเวทีการเมืองฮ่องกง มากกว่า 26 ปี มีความเข้าใจเป็นอย่างดีในเรื่องกฎหมายแม่บท รัฐธรรมนูญ และกิจการของฮ่องกงมากกว่าผู้อำนวยการคนอื่นๆ แล้ว ในวัยหนุ่มเขายังมีสนใจละครกว่างตง (กวางตุ้ง)เป็นพิเศษอีกด้วย (ช่วงทศวรรษที่ 80 ประเทศจีนเปิดกว้างและละครจากกวางตุ้งได้รับความนิยมอย่างมาก)
จาง เสี่ยวหมิง เริ่มต้นงานที่สำนักงานดูแลกิจการฮ่องกงและมาเก๊าแห่งคณะมุขมนตรีแห่งรัฐ ในปี 2529 หลังจากจบปริญญาโท สาขากฎหมายอาญาจากมหาวิทยาลัยประชาชนจีนปักกิ่ง ตลอดระยะเวลา 26 ปี ที่ผ่านมา เขาได้มีโอกาสคลุกคลีกับผู้อำนวยการหลายท่าน อาทิ ลู่ ผิง, เหลี่ยว ฮุ้ย และ หวาง กวงหยา และเพราะเขาเคยเป็นคณะกรรมการพิจารณากฎหมายแม่บท สังกัดคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ จึงทำให้หลายฝ่ายคาดหวังว่าเขาจะทำหน้าที่ได้ดีในการกำหนดวิธีการเลือกตั้งหัวหน้าคณะผู้บริหารโดยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ที่คาดกันว่าจะมีขึ้นปี 2560
ในปี 2539 เขาเป็นพยานในหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของฮ่องกง ร่วมกับลู่ ผิงในการหารือประเด็นต่างๆ ของฮ่องกง ก่อนที่ฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองจีนในปี 2540 และช่วงปี 2546 รัฐบาลเสนอญัตติมาตรา 23 เข้าสภานิติบัญญัติฮ่องกง (LegCo) ส่งผลให้เกิดความตึงเครียด ผู้คัดค้านเกรงว่าจะสูญเสียเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสนอความคิดเห็น ขณะนั้น จาง เสี่ยวผิงเป็นหัวหน้าหน่วยวิจัยของเหลี่ยว ฮุ่ย และได้เฝ้าติดตามความตึงเครียดที่รุนแรงขึ้นในสังคม และในวันที่ 1 ก.ค.ปีนั้น ผู้คนมากกว่าครึ่งแสนได้ออกมารวมตัวกันตามท้องถนนบนเกาะฮ่องกงเพื่อประท้วงมาตรา 23 เหตุการณ์นี้ดึงดูดความสนในของสื่อนานาชาติซึ่งผู้นำแผ่นดินใหญ่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด
Vicent Lo Hong-shui ประธานแห่ง Shui On group ผู้คุ้นเคยกับจางเสี่ยวผิงตั้งแต่ปี 2543 กล่าวว่า จาง เสี่ยวผิง เป็นคำตอบที่ถูกต้องในตำแหน่งนี้ เพราะขณะที่ปัจจุบันคณะกรรมการบริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงภายใต้การนำของเหลียง เจิ้งอิง เผชิญปัญหาท้าทายอย่างหนัก จางไม่เพียงจับความรู้สึกคนฮ่องกงเก่ง ทั้งยังนำนโยบายของปักกิ่งมาอธิบายต่อคนเหล่านี้ได้
Chan wing-kee นักธุรกิจผู้ใกล้ชิดรัฐบาลแผ่นดินใหญ่ยกย่องจาง เสี่ยวหมิง ว่าเป็นคนฉลาดและนักปฏิบัติ “ครั้งหนึ่งเขาเคยมาธุระในกว่างตงและถามว่าสามารถจัดทัวร์หนึ่งวันไปสวนลิ้นจี่ของผมในตงกวนให้เขาและเพื่อนร่วมงานได้ไหม วันต่อมาพวกเราก็ออกเดินทางโดยรถแวนเก่า 14 ที่นั่ง กลางทางเกิดเสียงระเบิดขึ้นจากยางหลังที่แตก และจาง เสี่ยวหมิงคนนี้ก็ออกไปเปลี่ยนยางอยู่ข้างทาง...” จาง เสี่ยวหมิงจะเป็น “แรงขับ” ให้ฮ่องกง ผู้ปกครองรุ่นใหม่ในปักกิ่งมีอายุน้อยกว่าคนรุ่นก่อนและกระบวนทัศน์ใหม่ๆจะทำให้นักการเมืองรุ่นเก่าต้องลงจากเวทีไป
Cheng yiu-tong ที่ปรึกษาผู้บริหาร (Executive Councillor) เห็นว่าเป็นเรื่องเร็วไปที่จะตัดสินว่าจาง เสี่ยวหมิง เป็น “สายเหยี่ยว”หรือ “สายพิราบ” แต่หวังว่าเขาจะนำเรื่องใหม่ๆ ไปสู่ปักกิ่ง อย่างไรก็ดี ถ้ารัฐบาลกลางตัดสินใจที่จะกระชับอำนาจฮ่องกง เขาก็ไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากดำเนินการตาม และเพราะเหตุเดียวกันนี้ Lauren Ho คอลัมนิสต์ประจำสื่อชั้นนำของฮ่องกง เซาท์ ไชน่ามอร์นิ่ง โพสต์ จึงเปรียบจาง เสี่ยวหมิง ว่าเป็นเสมือน “พจนานุกรมเดินได้” ที่มุ่งเน้นทำงานการเมืองให้กับรัฐบาลจีนเป็นหลัก
อนึ่ง สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่า ได้กำชับพ่อเมืองฮ่องกง เหลียง และคณะรัฐบาลฮ่องกง ในหกประเด็นหลักด้านความเป็นอยู่ “ปัญหาการเงินโลกยังไม่ยุติ เศรษฐกิจกำลังเผชิญภาวะเสื่อมถอย รัฐบาลฮ่องกงต้องเอาใจใส่และแก้ปัญหาในหกประเด็นหลักด้านความเป็นอยู่ อาทิ การจ้างงาน สิ่งแวดล้อม ราคาสินค้า ที่อยู่อาศัย ความยากจน และประชากรผู้สูงอาย”
ทั้งนี้ Johnny Lau Yui-siu ผู้ติดตามสถาณการณ์จีนกล่าวว่า “ปัญหาหกประการที่นายกฯเวินพูดถึงเป็นความขัดแย้งซึ่งฝังรากลึกในฮ่องกง และยังไม่ได้รับการแก้ไขถูกจุด นายกฯเวิน พูดถึงปัญหาแบบผิวเผิน โดยที่ไม่ได้ลงลึกถึงปัจจัยและผลกระทบต่างๆ ที่เป็รอุปสรรคต่อการบริหารจัดการของ เหลียง”