xs
xsm
sm
md
lg

มรดกที่ หู จิ่นเทา ทิ้งไว้ ประเทศจีนที่เรืองอำนาจ แต่เต็มไปด้วยสิ่งน่าวิตก

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในนามคณะกรรมการกลางพรรคฯ ชุดที่ 17  แถลงสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยที่ 18 ของพรรคคอมมิวนิตส์จีน วันที่ 8 พ.ย. ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง (ภาพ รอยเตอร์ส)
เอเอฟพี--หู จิ่นเทา ผู้กุมอำนาจสูงสุดแห่งจีนในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดี เป็นผู้นำที่ได้ตัดสินวาระต่างๆระหว่างทศวรรษที่สำคัญ โดยเป็นช่วงเวลาที่จีนได้ทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับสองของโลก และได้เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ประชาคมโลกมาแล้ว

แต่นายใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แดนมังกรที่กำลังลงจากอำนาจ ได้ทิ้งมรดกการปกครองแก่ทายาทตำแหน่งคือ สี จิ้นผิง ผู้ซึ่งเพิ่งขึ้นนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคฯไปในสัปดาห์นี้ มรดกที่หู จิ่นเทาส่งมอบแก่ผู้นำใหม่ ได้แก่ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนปัญหาแอบแฝงทางการเมือง

ผู้นำหู วัย 69 ปี ผู้ได้ขึ้นกุมหางเสือนาวารัฐจีนเมื่อสิบปีที่แล้ว อุปมาดั่งกระดาษที่ยังมีพื้นที่ว่างเปล่าอยู่มาก ทำให้หลายๆคนมีความหวังว่า เขาอาจขยับจุดยืนเอียงมาทางฝ่ายปฏิรูป และช่วยนำพาจีนคืบคลานสู่ทิศทางเสรีนิยมแม้ในระดับอ่อนๆก็ตาม

แต่ ณ วันนี้ ผู้นำคอมมิวนิสต์ดูจะกำมือกุมอำนาจไว้อย่างแน่นเหนียวมากกว่าในอดีต

คอร์รัปชั่นได้ระบาดไปทั่วทุกระดับทั้งในภาคธุรกิจและการเมือง ขณะที่การเติบโตเศรษฐกิจอย่างมหัศจรรย์ช่วยให้ประชาชนหลายร้อยล้านคนหลุดออกจากสภาพความยากจน สถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ และมลพิษในสิ่งแวดล้อม ก็ย่ำแย่ลงทุกวัน

อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตัน นครเซี่ยงไฮ้ กล่าวถึงการพัฒนาในช่วงสิบปีภายใต้การนำของหู ว่า “ในสิบปีที่ผ่านมา ผมมองว่ามีทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งยวด แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดปัญหามากมาย ผู้นำจะต้องคิดหาวธีการแก้ไข มิฉะนั้นแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็จะยิ่งซับซ้อน ยิ่งแก้ไขยาก และส่งผลที่ร้ายแรง ขณะนี้จีนต้องการผู้นำที่กล้าหาญ และพร้อมเสี่ยงในการเผชิญหน้ากับปัญหา”

สำหรับผู้นำหู นับเป็นผลผลิตของสันนิบาตเยาวชนพรรรคคอมมิวนิสต์ มีบุคลิกนิ่งดั่งท่อนไม้ ท่วงท่าเหมือนผู้จัดการธนาคาร ที่เข้าจัดการประเด็นต่างๆอย่างระมัดระวัง เขาร่ำเรียนและฝึกฝนอย่างวิศวกร ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในเขตตอนในที่ยากจนที่มิได้เจริญเติบโตฟู่ฟ่าเหมือนกับเขตการผลิตชายฝั่งทะเล ที่ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิงได้กำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

แต่ก็เพราะการสนับสนุนของเติ้งนั่นเอง หูจึงได้ทะยานขึ้นมาเป็นผู้นำระดับสูงสุด ตอนที่หูกินตำแหน่งสูงสุดเป็นนายใหญ่พรรคฯและประมุขรัฐ ผลข้างเคียงจากการพัฒนาเศรษฐกิจกำลังออกฤทธิ์อย่างเต็มที่ การปฏิรูปเศรษฐกิจทำให้คนงานหลายสิบล้านคน ต้องสูญเสียงานในวิสาหกิจรัฐ
เด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เจ้อเจียง กำลังนั่งหน้าจอยักษ์ถ่ายทอดคำปราศรัยของ หู จิ่นเทา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดี ระหว่างเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยที่ 18 ของพรรคคอมมิวนิตส์จีน วันที่ 8 พ.ย.(ภาพ รอยเตอร์ส)
การเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่แปดเปื้อนด้วยมลพิษมากที่สุดชาติหนึ่งของโลก และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็เกิดเหตุเจ้าหน้าที่รัฐฉกฉวยคดโกงผลประโยชน์จากประชาชน จนเกิดการประท้วงนับหมื่นกรณีในแต่ละปี

ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ หูได้พยายามปรับนโยบายเพื่อให้เกิดการเติบโตที่สมดุล โดยเรียกร้อง “การพัฒนาที่เป็นวิทยาศาสตร์” เพื่อช่วยเหลือเขตยากจนในชนบท และปฏิรูปภาคบริการสังคม ตลอดจนฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

แต่กระนั้นก็ตาม ความไม่เท่าเทียมในสังคมก็เข้าใกล้ “ขีดอันตราย” แล้ว จากรายงานสำนักคลังสมองของหน่วยงานที่เชื่อมโยงกับรัฐในเดือนส.ค. และยังมีเสียงเตือนเข้มจากภายในพรรคฯว่าบางปัญหาเลวร้ายน่ากลัวมาก ทายาทตำแหน่งผู้นำของหู จะต้องขึ้นกุมอำนาจท่ามกลางแรงกดดันให้มีการปฏิรูปรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่พึ่งพิงอย่างเหนียวแน่นกับการส่งออกและการลงทุน

ด้านกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ก็ชี้ว่าจีนผูกตัวเองกับเศรษฐกิจต่างชาติมากขึ้นๆ ความวุ่นวายด้านการเงินในต่างแดนจึงฉุดการเติบโตของจีนให้ชะลอลงในปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญต่างก็แนะนำให้ปรับเศรษฐกิจที่มีดุลยภาพโดยให้การบริโภคภายในประเทศเข้ามาบทบาทมากขึ้น แต่กลุ่มนักสังเกตการณ์ได้ชี้ว่าความระแวดระวังในการนำ และการใช้วิธีตัดสินปัญหาต่างๆด้วยฉันทามติ หน่วงรั้งการตัดสินแก้ไขปัญหาอย่างกล้าหาญ

“กลุ่มผู้นำภายใต้การนำของหู มิใช่นักปฏิรูปที่มุ่งตอบสนองตลาดอย่างกว้างขวางและเป็นสากล ซึ่งต้องการคนที่มีวิสัยทัศน์หยั่งรู้ถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน” William Overholt นักวิจัยแห่งวิทยาลัยรัฐประศาสนศาสตร์เคนเนดี (Kennedy School of Government) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดว่าจุดด่างพร้อยในประวัติการนำของหู คือความล้มเหลวในการเรียกร้อง “สังคมสมานฉันท์” คำขวัญสร้างความเป็นหนึ่งเดียวแห่งจีน ดูมัวหมองด้วยความวุ่นวายในสังคมไม่หยุดหย่อน และเหตุรุนแรงในเขตชนกลุ่มน้อยระหว่าง 2-3 ปีมานี้

Steve Tsang ผู้อำนวยการแห่งสถาบันนโยบายจีน (China Policy Institute) ของมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม ชี้ว่ารัฐบาลของหู มีความน่าเชื่อถือในรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์ช็อกจากภายนอก “แต่พวกเขาไม่ได้ทำให้คืบหน้าไปเท่าไหร่นักในสิ่งที่พวกเขาลั่นวาจาว่าจะทำ”.
กำลังโหลดความคิดเห็น