รอยเตอร์ - บริษัทการลงทุนแห่งจีน ( China Investment Corporation) หรือ CIC ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งมูลค่า 482,000 ล้านดอลลาร์ หันมาเน้นการลงทุนในเอเชียมากขึ้น หลังจากถูกชาติตะวันตกเล่นงานด้วยมาตรการกีดกันทางการค้า ขณะเดียวกันกองทุนก็หวังสร้างผลกำไรจากการลงทุนในภูมิภาค ที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วอย่างเอเชีย
นาย โหลว จี้เหว่ย ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ CIC ให้สัมภาษณ์ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน เกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทในอนาคตเมื่อวันเสาร์ (10 พ.ย.) ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ CIC ให้ความสนใจลงทุนในเอเชียมากขึ้นก็เนื่องจากจีนกำลังถูกชาติตะวันตกบางชาติใช้มาตรการกีดกัดทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยCIC รู้สึกว่า กำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากกว่านักลงทุนด้านการเงินรายอื่น ๆ ด้วยเหตุผลเช่น ความมั่นคงของประเทศ
นายโหลวยังระบุในการให้สัมภาษณ์ ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักว่า แม้ในเรื่อง ที่ไม่ใหญ่โตอะไร เขาก็จับได้ว่า ผู้คุมกฎของต่างชาติวิตกกังวลมากขึ้น เมื่อ CIC จับมือกับบริษัทจีนรายอื่น ๆ ในการเข้าซื้อกิจการ
ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับวอชิงตันยิ่งปีนเกลียวหนักขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จากการที่ประธานาธิบดี บารัก โอบาม่าตอบโต้จีนด้านการค้า รวมทั้งการสั่งห้ามบริษัทเอกชนของจีนรายหนึ่งสร้างกังหันลมใกล้กับฐานทัพแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ตลอดจนการยื่นฟ้ององค์การการค้าโลก หรือ WTO ว่า รัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของตน
นอกจากนั้น เมื่อเดือนที่แล้วคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯยังเตือนด้วยว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจมีการนำอุปกรณ์ ที่ผลิตโดยหัวเหว่ย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมสื่อสารรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และอุปกรณ์ของ ZTE บริษัทผู้ผลิตเลือดมังกรรายใหญ่อันดับ 5 มาใช้ในงานจารกรรม
ส่วนแคนาดาเองได้เลื่อนการตัดสินใจอนุมัติไปแล้ว 2 ครั้ง กรณีซีนุก (CNOOC) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกประเทศอันดับหนึ่งของจีน ยื่นประมูลซื้อกิจการของบริษัทเน็กเซน (Nexen) จำนวน 15,100 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าผู้ถือหุ้นเห็นชอบก็ตาม
ความวิตกเรื่องการเข้าซื้อกิจการของบรรดากองทุนความมั่นคั่ง เช่น CIC ทำให้ในปี 2551รัฐบาลทั่วโลกได้รับแนวทางปฏิบัติ ที่เรียกว่า กฎระเบียบแห่งซานดิเอโก (Santiago Principles) ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เป็นคนกลางจัดทำขึ้น เกี่ยวกับแนวทาง ที่กองทุนความมั่งคั่งพึ่งปฏิบัติ แต่การเข้าประมูลซื้อกิจการ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางยุทธศาสตร์โดยกองทุนความมั่งคั่งกลับเพิ่มมากขึ้น โดยกฎระเบียบแห่งซานดิเอโกคครอบคลุมไม่ถึง
นายโหลวยืนยันว่า CIC จะไม่เปลี่ยนยุทธศาสตร์การเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทจีน เพียงเพื่อบรรเทาความวิตกของผู้คุมกฎต่างชาติ
“เราจะหลีกเลี่ยงการลงุทนในประเทศที่ไม่ต้อนรับเรา ยังมีที่อื่นๆ ให้ลงทุนอีก” เขากล่าว
เอเชียเป็นตัวเลือก ที่CIC พอใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมีอัตราการเติบโตและการพัฒนารวดเร็วที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม แม้เอเชียเป็นเป้าหมายการลงทุน แต่สภาพตลาดทุนหลายแห่งที่นี่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร CIC จึงยังไม่สามารถโยกเงินลงทุนเข้ามามากนัก แต่จะค่อยๆ ลงทุนทีละโครงการอย่างระมัดระวัง
นายโหลวยังระบุด้วยว่า สำหรับในยุโรปนั้น อังกฤษเป็นตลาด ที่CIC สนใจ เนื่องจากมีการเปิดกว้างอย่างมากในภาคโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม CIC กำลังลดน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรและหุ้นของยุโรป เนื่องจากความเสี่ยง ที่ยังคงมีอยู่ และแผนฟื้นฟูจากวิกฤตหนี้สาธารณะยังไม่สามารถจูงใจนักลงทุนได้
ทั้งนี้ CIC มีหน้าที่สร้างผลกำไรให้แก่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน ซึ่งมีมากที่สุดในโลกถึง 3.29 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม CIC ประสบการขาดทุนร้อยละ 4 ของพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศในปี 2554 ขณะที่ผลกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 6.1 ในปีเดียวกัน เหลือ 48,400 ล้านดอลลาร์ แต่นายโหลวมั่นใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคตกับCIC