xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงเกาะฯ ทำบริษัทญี่ปุ่นคิดหนักถอยทัพการลงทุนจากจีน

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

กลุ่มผู้ประท้วงชาวจีนช่วยกันพลิกรถยนต์ยี่ห้อญี่ปุ่นที่นครก่วงโจวเมื่อวันที่ 15 ก.ย.(ภาพ-เอเยนซี่)
ASTVผู้จัดการออนไลน์—ศึกพิพาทกรรมสิทธิหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ที่จีนเรียก เตี้ยวอี๋ว์ และญี่ปุ่นเรียกเซนกากุ ครั้งล่าสุดที่เริ่มระอุจากเดือนก.ค. อันสืบเนื่องจากรัฐบาลแดนปลาดิบประกาศซื้อเกาะเล็กเกาะน้อยในหมู่เกาะพิพาท ฝ่ายคู่กรณีจีนก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กองทัพประชาชนแห่เดินขบวนประท้วงทั่วประเทศ กลุ่มธุรกิจทั้งโรงงานผลิตสินค้า ห้างร้าน และอื่นๆที่เป็นของญี่ปุ่น ตกเป็นเป้าโจมตี ทั้งกระแสคว่ำบาตรสินค้าคู่อริ บางแห่งบานปลายเป็นจลาจล ทำลายทรัพย์สินกันอย่างไร้เหตุผล แม้ขณะนี้การต่อต้านญี่ปุ่นในจีนดูทุเลาลงแล้ว แต่ก็ยังมีการคุมเชิงกันโดยต่างฝ่ายระดมเรือรบสรรพาวุธ ข่มขู่กันรอบหมู่เกาะเจ้าปัญหา

ในต้นเดือนต.ค. มีรายงานยอดขายรถยนต์ของค่ายโตโยต้ามอเตอร์ในจีนเดือนก.ย. ทรุดฮวบราวร้อยละ 40 ต่อมาก็มีรายงานจากสื่อยุ่น ว่าโตโยต้า มอเตอร์ ลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในจีนปีนี้

ศึกชิงเกาะระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจแห่งเอเชียหนนี้ ทำเอากลุ่มทุนญี่ปุ่นในจีนต้องคิดหนักทบทวนแผนการลงทุนที่จีน โดยมีแนวโน้มว่าบางกลุ่มจะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น ในวันพุธ(24 ต.ค.) Reuters Corporate Survey ก็ได้เผยผลการสำรวจ ที่รวบรวมจากการสัมภาษณ์ในไม่กี่สัปดาห์มานี้ โดยสัมภาษณ์กลุ่มผู้บริหารในอุตสาหกรรมต่างๆจากภาคอิเลคทรอนิกส์ไปยันโรงงานผลิตเสื้อผ้า

จากตัวเลขหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่น ระบุตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา กลุ่มบริษัทญี่ปุ่นนำขบวนโดยผู้ผลิตสินค้าอิเลคทรอนิกส์ เช่น พานาโซนิก ตามด้วยกองทัพผู้ผลิตรถยนต์ ทั้งนิสสัน มอเตอร์ และโตโยต้า มอเตอร์ รวมทั้งซับพลายของบริษัทเหล่านี้ ได้ทุ่มเทเม็ดเงินทุน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สร้างโรงงานในประเทศจีน
กลุ่มผู้ประท้วงหน้าห้างจัสโก้ชูป้าย “ไอ้ยุ่นออกไปซะ” (ภาพ เอเอฟพี)
การลงทุนจากแดนอาทิตย์อุทัยในจีน โดยบริษัทมากกว่า 20,000 ราย สร้างงานกว่า 1.6 ล้านตำแหน่ง ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นก็ได้ตักตวงผลประโยชน์จากต้นทุนการผลิตที่ต่ำ นอกจากนี้ ตลาดทุกภาคในจีนจากรถยนต์ไปถึงเครื่องสำอาง ก็โตวันโตคืน

แต่ศึกชิงเกาะคราวนี้ ทำให้กลุ่มบริษัทญี่ปุนต้องกุมขมับคิดหนัก การสำรวจรอยเตอร์ส ได้ถามความเห็นในการใช้จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตระยะกลาง และบริษัทญี่ปุ่นร้อยละ 37 ก็ตอบคำถามนี้ ว่าพวกเขามีความระมัดระวังมากขึ้น

เกือบครึ่งของผู้ผลิตญี่ปุนคาดการณ์ว่ายอดขายในปีการเงินนี้จะลดลง นอกจากนี้ในการสอบถามอีกชุด ร้อยละ 24 บอกว่าพวกเขากำลังพิจารณาชะลอหรือลดการลงทุนในจีน ร้อยละ 18 บอกว่า พวกเขากำลังพิจารณาย้านฐานการผลิตไปประเทศอื่น

“จีนเป็นที่ที่สะดวกมาก แต่สถานการณ์ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปแล้ว ความสะดวกกำลังเลือนหายไป” โยชิฮิสะ อิจิริ วัย 65 ปี ประธาน แบรนด์เสื้อผ้า Honeys บอก

“การเดินขบวนประท้วงญี่ปุ่นครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ผมคิดว่าบริษัทญี่ปุนจะลำบากกันมากขึ้นในการประสบความสำเร็จในจีน” ฮิซาโยชิ ฮาชิโมโต อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการศึกษานโยบายญี่ปุน (National Graduate Institute for Policy Studies) กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่น 267 ราย ที่ตอบการสำรวจฯ มีความเห็นเช่นเดียวกัน

ในการสัมภาษณ์อีกชุด ผู้บริหารหลายคน รวมทั้ง อิจิริ ประธาน Honeys บอกว่า พวกเขาเล็งแผนการลงทุนใหม่ไปยังเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตลาดที่ยังไม่ถูกเจาะอย่างพม่า

อิจิริ ต้องการให้บริษัทของเขาลดการพึ่งพิงจีน ซึ่งขณะนี้ร้อยละ 90 ของสินค้า Honeys ผลิตในจีน โดยขั้นแรกต้องกระจายความเสี่ยง ตอนนี้ Honeys เริ่มผลิตสินค้ายอดฮิตคือสกินนี่ยีนส์ ในพม่า

ผู้ผลิตยางรถยนต์ Toyo Tire & Rubber ก็ว่ากำลังคิดเปลี่ยนแผนลงทุนที่ตอนแรกพุ่งเป้าไปยังจีน เบนเข็มมาที่มาเลเซีย
ในต้นเดือนต.ค. มีรายงานยอดขายรถยนต์ของค่ายโตโยต้ามอเตอร์ในจีนเดือนก.ย. ทรุดฮวบราวร้อยละ 40
กลุ่มนักวิเคราะห์และผู้บริหารกล่าวว่ากลุ่มธุรกิจกลุ่มแรกที่จะย้ายออกจากจีน คือกลุ่มอุตสาหกรรมเบาและมีผลตอบแทนต่อหน่วยต่ำ ส่วนผู้ผลิตที่ยอดขายขึ้นกับตลาดจีน อย่างเช่น รถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ดูไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากชะลอการผลิต และเฝ้าหวังว่ากระแสต่อต้านญี่ปุนจะสลายไป

“สินค้าที่ผลิตในจีน สำหรับขายตลาดภายใน จะยังคงอยู่ต่อไป แต่กลุ่มสินค้าที่ทำเพื่อส่งออก ก็จะลดลง” อิซามุ วาคามัตสึ ผู้เชี่ยวชาญเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่ง Japan External Trade Organisation กล่าว

กลุ่มบริษัทญี่ปุ่น อาทิ Honeys ตามด้วยพานาโซนิก เอ็นอีซี และชาร์ป เริ่มยกขบวนเข้ามาลงทุนที่จีนในต้นทศวรรษที่ 1990 เพราะจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ ประชากรมหาศาล มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ในสมัยนั้นผู้ผลิตสิ่งทอถ้าไม่อยากเจ็งก็ต้องไปจีน แต่ตอนนี้ เงื่อนไขในจีนเปลี่ยนไป สถานกาณ์ค่าแรงงานในจีนกำลังถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับ Honeys เริ่มลงทุนในจีนเมื่อปี 1990 ค่าแรงคนงานตัดเย็บเสื้อผ้า อยู่ที่ราวเดือนละ 65 เหรียญสหรัฐ ประมาณ 1 ใน 7 ของค่าแรงปัจจุบัน

จากคำบอกเล่าของตัวแทนบริษัท โรงงาน ห้างร้านญี่ปุนหลายแห่งต้องหยุดทำงานในช่วงที่การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นกำลังร้อนแรง และเมื่อคนงานในโรงงานแคนนอน และคาสิโอ คอมพิวเตอร์ กลับมาทำงาน ก็เรียกร้องค่าแรงสูงขึ้น

“ค่าแรงในพม่า เท่ากับ 1 ใน 5 ของค่าแรงจีน” อิจิริ กล่าว และว่าพม่ายังไม่เรียกเก็บภาษีส่งออกสำหรับสินค้าเสื้อผ้า เหมือนที่จีน

แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารบริษัทก็ได้ชี้อุปสรรคในช่วงแรกของการย้ายการลงทุนออกจากจีน คือ ต้องรอเวลาหลายปีกว่าที่ปัจจัยต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะครบครันเหมือนที่จีน ยกตัวอย่าง บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน ยามาอิชิ อิเลคทรอนิกส์ (Yamaichi Electronics) สร้างสายการผลิตใหม่สำหรับผลิตตัวเชื่อม (connectors) ในประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2010 เพื่อที่จะกระจายความเสี่ยงในจีน แต่ก็พบสิ่งที่ขาดพร่องไป “ในเซินเจิ้น ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ทั้งหมดอยู่ในเขตเดียวกัน ผู้ผลิตญี่ปุน ผู้ผลิตจีน... ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณต้องการอยู่ที่นั่น ไม่เหมือนที่ฟิลิปปินส์” ผู้บริหารของยามาอิชิคนหนึ่ง กล่าว โดยไม่ระบุตัวตนเนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว

อิจิริ ซึ่งไปตั้งโรงงานไปที่พม่า ก็เห็นด้วยว่า ปัจจัยรับรองการผลิตที่อื่นไม่ครบครันเท่าจีน อิจิริคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกเป็นสิบปีกว่าที่ฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีประสิทธิภาพเท่าจีน แต่เขาก็เตรียมใจอดทนรอ “สำหรับกระดุม และซิป มีเพียงที่จีนเท่านั้นที่ทำได้ในราคาถูก เนื่องจากวัตถุดิบต่างๆอยู่ที่นั่น สินค้าทุกชิ้นประกอบรวมกันที่นั่น”
กำลังโหลดความคิดเห็น