ศึกพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ที่คู่กรณีฝ่ายจีนเรียกเตี้ยว์อี๋ว์ และญี่ปุ่นเรียกเซงกากุ ได้ปะทุเดือดเป็นที่ตื่นตะลึงของชาวโลกในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งในทะเลและบนบก(ในจีน) โดยเฉพาะการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นทั้งในมหานครและหัวเมืองต่างๆทั่วประเทศจีน หลายแห่งปะทุเป็นความรุนแรง มีการทุบทรัพย์สินต่างๆที่เป็นของญี่ปุน ทั้งรถยนต์ ร้านค้า ภัตราคาร จนกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นทั่วประเทศจีน หลายร้อยแห่ง ต้องปิดโรงงานหยุดกิจการชั่วคราว
ข้อพิพาทอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเตี้ยว์อี๋ว์ เป็นปัญหายืดเยื้อมานานหลายสิบปี เหตุกระทบกระทั่งในกรณีพิพาทฯนี้เริ่มร้อนระอุขึ้นในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อญี่ปุนประกาศแผนการซื้อเกาะ 3 แห่งในบริเวณหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ หรือเซงกากุ ซึ่งมีทั้งหมด 5 เกาะ และในวันที่ 11 ก.ย. ก็ได้ลงนามซื้อเกาะ 3 แห่งกับตระกูลคูริฮารา (Kurihara) ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของเกาะเหล่านี้ รัฐบาลยุ่นได้อนุมัติงบฯ 2,050 ล้านเยน หรือราว 816 ล้านบาท สำหรับการซื้อเกาะฯ
ความเคลื่อนไหวฯดังกล่าวสร้างความโกรธกริ้วแก่จีนมาก ทั้งรัฐบาลและสื่อในจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐ ต่างออกมาประณามรัฐบาลญี่ปุ่น ไม่เพียงดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว การซื้อเกาะฯนี้ ได้ยกระดับข้อพิพาทฯนี้เป็นประเด็นระดับชาติ วันเดียวกัน จีนก็ส่งเรือตรวจการณ์ 2 ลำ ไปยังหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ เพื่อแสดงอธิปไตยเหนือดินแดนพิพาท
นายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่า ก็ออกมากล่าวว่า “เกาะเตี้ยวอี๋ว์เป็น “ส่วนหนึ่งของดินแดนอธิปไตยจีน” และให้คำมั่นว่า จีนจะ “ไม่ถอยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว” ด้านกระทรวงกลาโหมก็ประกาศ “จะใช้มาตรการที่จำเป็น เพื่อรักษาอธิปไตยเหนือดินแดน”
ในวันศุกร์(14 ก.ย.) จีนได้ส่งเรือตรวจการณ์อีก 6 ลำ ไปยังบริเวณหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ และวันถัดมา อี๋ว์ จือหรง เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานบริหารกิจการมหาสมุทรแห่งรัฐ (State Oceanic Administration) และอดีตผู้นำนาวีแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุน อาซาฮี ชิมบุน ว่าจีนพร้อมเสี่ยง “ความขัดแย้งเล็กๆ” จะต้องขับไล่พวกกองกำลังยามฝั่งญี่ปุ่น (Japan Coast Guard) ออกไปจากน่านน้ำเตี้ยวอี๋ว์ของจีน โดย “ความขัดแย้งเล็กๆ” นี้ ดูมีนัยหมายถึง “การสู้รบระดับย่อมๆ”
ขณะที่อุณหภูมิการเผชิญหน้าในทะเลร้อนแรง สื่อจีนก็ร่วมต้านคู่กรณี โดยสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) มีหนังสือแจ้งให้สถานีบางช่อง ระงับการฉายโฆษณาสินค้าญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ขบวนประท้วงก็หลั่งไหลออกมาตามท้องถนนของเมืองต่างๆทั่วประเทศ จากกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว นครเซินเจิ้น ซีอัน เซินหยาง ฯลฯ การประท้วงมีทั้งชุมนุมหน้าสถานทูต หรือกงสุลญี่ปุ่นตามเมืองต่างๆ ชูป้ายรักชาติ ยืนยันเกาะเตี้ยวอี๋ว์เป็นจีน ตระโกรร้องคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุน
ที่หน้าสถานทูตญี่ปุนในนครหลวงปักกิ่ง ก็มีกลุ่มประท้วงนับพันคน มีการขว้างปาสิ่งของ และพยายามบุกเข้าไปในสถานทูต เจ้าหน้าที่ระดมกำลังยืนขวางและกั้นราวเหล็ก บางเมืองประท้วงกันรุนแรง โดยมีกลุ่มต่อต้านยุ่นบุกเข้าไปพังร้านค้าของคู่กรณี ทุบพังรถยนต์ จนต้องระดมตำรวจปราบจลาจลเข้ามาควบคุมสถานการณ์
จนกระทั่งในวันจันทร์กลุ่มธุรกิจหลายร้อย ได้ปิดโรงงานและกิจการชั่วคราว ด้วยหวั่นว่าเหตุการณ์ยิ่งรุนแรง โดยเฉพาะในวันอังคาร (18 ก.ย.) เป็นวันครบรอบ 81 ปี ของวันรำลึกเหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นบุกจีนเมื่อปี 2474 (1931)
การต่อต้านญี่ปุ่นครั้งใหญ่นี้ที่ถูกกระตุ้นเร้าด้วยความรักชาติ ขนาดที่บางแห่งเข้าขั้นจลาจล สื่อจีนบางกลุ่มก็ผงะ และหันมาเสนอรายงานด้วยท่าทีอ่อนลง ลดความแข็งกร้าวแบบสายเหยี่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้ สื่อบางกลุ่มถึงกับเรียกร้องให้มีการเตรียมการทหารเพื่อปกป้องอธิปไตยเหนือเตี้ยวอี๋ว์
ความรุนแรงของการประท้วงที่มีข่าวถึงขนาดรุมทำชาวจีนที่ขับรถยนต์ญี่ปุน สองสามีภรรยาชาวญี่ปุนในฮ่องกงถูกทำร้าย เป็นต้น ทำให้สายตาของชาวโลกพุ่งไปที่ความรุนแรงไร้เหตุผลของกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่น ความรักชาติหรือลัทธิรักชาติในจีน ดูจะเลยเถิดมีภาพลักษณ์ไปในทางที่น่ากลัวยิ่ง
ขณะที่มหกรรมต่อต้านญี่ปุนเดือดพล่านมาถึงวันจันทร์(17 ก.ย.) หลายฝ่ายก็ยิ่งวิตกหวาดกลัว ด้วยวันที่ 18 ก.ย. คือ วันครบรอบ 81 ปี ของเหตุการณ์กองกำลังญี่ปุ่นยาตราทัพทัพเข้าแผ่นดินจีน 2474 (1931) ซึ่งเป็นหนึ่งในวันสุดขมขื่นของชาวจีน หวั่นความแค้นในอดีตจะโหมกระแสประท้วงเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก หากลัทธิรักชาติได้ “ผสมโลง” กับความแค้นในอดีต คงได้เห็น “วันสิ้นโลกอารยะกัน” และผู้นำคอมมิวนิสต์จะรับผิดชอบอย่างไร ในฐานที่ได้ปลูกฝังลัทธิรักชาติแก่เยาวชน โดยยืนยันเด็ดขาดว่า “ไม่ใช่ลัทธิรักชาติแบบผู้รุกรานญี่ปุ่น และฮิตเลอร์” ที่ก่อโศกนาฏกรรมแก่มนุษย์ชาติในอดีต ทั้งจลาจลวุ่นวายในบ้าน และผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในฐานะที่ทั้งสองฝ่ายเป็นยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชีย ที่โลกตะวันตกคาดหวังให้ช่วยฟื้นวกฤตเศรษฐกิจโลกในขณะนี้
...และแล้วจีนก็ดูเคลื่อนไหวอย่างเฉียบไว หน่วยพิทักษ์สันติราษฎร์ ได้แถลงขอร้องให้กลุ่มประท้วงร่วมมือเพื่อความสงบเรียบร้อย และไม่มีรายงานข่าวการประท้วงที่รุนแรงในวันพุธ(19 ก.ย.) ส่วนบริเวณน่านหมู่เกาะพิพาท จีนได้เพิ่มเรือตรวจการณ์เข้าไปอีก สื่อจีนอ้างยามฝั่งญี่ปุนเผยว่า ในเช้าวันพุธ(19 ก.ย.) พบเรือตรวจการณ์จีนทั้งหมด 14 ลำ และเรือตรวจการณ์ญี่ปุน 50 ลำ คุมเชิงกัน
ทั้งนี้ หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ในทะเลจีนตะวันออก เป็นดินแดนพิพาทกรรมสิทธิระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นเรียกหมู่เกาะพิพาทนี้ ว่า เซงกากุ ขณะที่ไต้หวันก็อ้างกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะนี้ในนามของสาธารณรัฐจีน เตี้ยวอี๋ว/เซงกากุ เป็นดินแดนที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ตั้งอยู่ตะวันออกของแผ่นดินใหญ่ ตะวันออกเฉียงของไต้หวัน ตะวันตกของเกาะโอกินาวา ตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่เกาะริวกิว
ในปี 2511 มีการค้นพบความเป็นไปได้ว่า อาจมีแหล่งสำรองน้ำมันในบริเวณหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรแร่ และการประมง สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐจีน (หรือไต้หวัน) ก็ได้เข้ามาอ้างกรรมสิทธิ จีนอ้างว่าเป็นผู้ค้นพบและดูแลหมู่เกาะนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ฝ่ายญี่ปุ่นควบคุมหมู่เกาะนี้มาแต่ปี 2438 (1895) เมื่อญี่ปุนยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯก็ได้เข้ามาดูแลปกครอง (2488-2515) ต่อมาวอชิงตันได้ถ่ายโอนอำนาจปกครองหมู่เกาะคืนแก่รัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2515.