เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์/เอเอฟพี--นายโยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยอมรับว่า ตนประเมินการโต้ตอบของจีนผิดพลาด ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้ต่อกรณีซื้อเกาะเตี้ยวอี๋ว์ แม้จะมีท่าทีนุ่มนวลในทางการทูตแล้วก็ตาม
นายกฯ โนดะ ให้คำมั่นว่าจะ “ขยายการสื่อสาร” ในข้อพิพาทเหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์ หรือเซนกากุในภาษาญี่ปุ่น และเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 ก.ย.) ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์อาซาฮีของญี่ปุ่นด้วย ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่า เขาเริ่มมีท่าทีอ่อนลง หลังจากที่นายลีออน พาเน็ตตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เดินทางมาเยี่ยมทั้งญี่ปุ่นและจีน
“ผมคิดว่า การทำให้ข้อพิพาทกลายเป็นปัญหาระดับชาตินั้น จะทำให้เกิดการตอบโต้และความตึงเครียดไปยังบางพื้นที่ แต่มันกลับขยายวงกว้างไปมากกว่าที่ผมคาดไว้” โนดะกล่าว
นักวิเคราะห์ชาวจีน กล่าวว่า ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้ความกดดันในการลดท่าทีลง อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากที่พาเน็ตตามาเยือนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเหลียน เต๋อกุย รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยญี่ปุ่น สถาบันวิจัยวิเทศศึกษา เซี่ยงไฮ้ เผยว่า “โนดะเผยท่าทีอ่อนลง บางทีอาจเป็นเพราะพาเน็ตตาใช้อำนาจกดดันเขาไม่ให้ปลุกปั่นความตึงเครียดอีก”
ทว่า เมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) นายเวิน จยาเป่า นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวกับสมาชิกชุมชนชาวจีนในเบลเยี่ยมว่า “การซื้อเกาะเตี้ยวอี๋วของญี่ปุ่นเป็นเรื่องขำและดูตลก.....ในประเด็นสำคัญอย่างอธิปไตยเหนือดินแดน เราควรจะยืนหยัด และไม่อ่อนข้อใดๆ”
นักสังเกตการณ์ชาวจีนกล่าวว่า การหารือระหว่างตัวแทนของโนดะและเจ้าหน้าที่จีนนั้น ไม่น่าจะก่อให้เกิดแนวทางการฟันฝ่าอุปสรรคใดๆ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่เปลี่ยนใจในการซื้อเกาะฯ ส่วนฝ่ายรัฐบาลจีนก็จะไม่รอมชอมใดๆ เว้นเสียแต่ว่า ญี่ปุ่นยอมรับว่าอธิปไตยเหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์เป็นความขัดแย้ง และยินยอมที่จะหยุดความขัดแย้งนี้
ศาสตราจารย์โจว หย่งเซิง จากมหาวิทยาลัยต่างประเทศจีน กล่าวว่า “ตัวแทนจากญี่ปุ่นจะขอร้องจีนไม่ให้ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ และไม่ให้ส่งเรือตรวจการณ์ไปยังเกาะพิพาท นอกจากนั้น การหารือจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความหมายใดๆ ออกมา”
ทั้งสองชาติเริ่มมีการใช้มาตรการคลายความตึงเครียด โดยสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น อ้างแหล่งข่าวทางการทูตว่า พิธีรำลึกความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและญี่ปุ่น ครอบรอบ 40 ปี อาจจะจัดขึ้นในวันพฤหัสฯ หน้า (27 ก.ย.)
นักข่าวของหนังสือพิมพ์เซาท์เทิร์นวีคเอน เขียนลงในไมโครบล็อกว่า บันทึกฉบับพิเศษ 4 หน้า ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นในจีนนั้น ถูกยกเลิกตีพิมพ์ภายใต้แรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนพยายามยับยั้งความรู้สึกต่อต้านญี่ปุ่น
ในฮ่องกง สมาชิกในกลุ่มนักเคลื่อนไหวปกป้องเกาะเตี้ยวอี๋ว์ กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรทางทะเล ยังไม่ได้แจ้งเรื่องการระงับใบอนุญาตเรือไคเฟิง 2 ชั่วคราวจะถูกยกเลิกหรือไม่ ซึ่งเรือฯ นี้ พวกเขาวางแผนจะใช้แล่นไปเกาะฯ
นายเฉิน เมี่ยวเต๋อ ประธานกลุ่มนักเคลื่อนไหวปกป้องเกาะเตี้ยวอี๋ว์ของฮ่องกง กล่าวว่า พวกเขายังจะไม่แล่นเรือไป นับตั้งแต่มีเรือจากจีนและไต้หวันเข้าไปในบริเวณน่านน้ำเกาะเตี้ยวอี๋ว์
เรือจากไต้หวันแล่นเข้าใกล้เกาะเตี้ยวอี๋ว์
เอเอฟพีรายงาน วันนี้ (21 ก.ย.) มีเรือของนักเคลื่อนไหวจากไต้หวันแล่นเข้ามาร่วมกับเรือตรวจการณ์ของจีน 12 ลำ บริเวณน่านน้ำเกาะเตี้ยวอี๋ว์ และแล่นห่างจากเกาะฯ ราว 44 กิโลเมตร รวมทั้ง บนเรือดังกล่าวมีข้อความภาษาจีนเขียนว่า “ปกป้องเกาะเตี้ยวอี๋ว์” และ “ออกไปจากเกาะเตี้ยวอี๋ว”
โฆษกของยามฝั่งในโอกินาว่า ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า “เรือนี้ไม่ใช่เรือของรัฐ เรากำลังแจ้งเตือนเรือดังกล่าวไม่ให้เข้ามาในบริเวณน่านน้ำของเรา”
ตามกฎหมายสากล น่านน้ำอธิปไตยมีระยะทางห่างจากชายฝั่งราว 12 ไมล์ทะเล (ประมาณ 22 กิโลเมตร)
แถลงการณ์ระบุว่า มีเรือตรวจการณ์กว่า 13 ลำ จากเจ้าหน้าที่ทางทะเลและประมงของจีน ในบริเวณน่านน้ำเกาะพิพาท เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ก.ย.) เรือทั้งหมดแล่นด้านนอกพื้นที่ “ประชิด” ซึ่งห่างออกไปจากเขตน่านน้ำราว 12 ไมล์ทะเล
กระแสพิพาทกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ระหว่างจีนและญี่ปุน เริ่มคุกรุ่นขึ้นเมื่อญี่ปุนลงนามซื้อเกาะ 3 แห่งในบริเวณหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ที่มีทั้งหมด 5 เกาะ ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นขยายวงกว้างในหลายเมืองใหญ่ของจีน กินเวลากว่า 8 วัน จนเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) การประท้วงเริ่มคลี่คลาย
เกาะเตี้ยวอี๋ว์ตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก บริเวณน่านน้ำเกาะฯ เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญทางยุทธศาสตร์ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล
ฝ่ายจีนอ้างอธิปไตยเหนือเกาะฯ มาตั้งแต่ราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911) อย่างไรก็ตาม เกาะฯ ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในเวทีสากลว่า เป็นของญี่ปุ่นที่ได้ผนวกรวมเข้าไปในปีพ.ศ. 2438 ทำให้จีนและญี่ปุ่นพิพาทกรรมสิทธิเหนือเกาะฯ นี้มาจนถึงปัจจุบัน