xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวบินไปจีน-ญี่ปุ่นโดนกระทบหนัก ผลพวงจากพิพาทเกาะเตี้ยวอี๋ว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ (JAL) หุ้นของ JAL ตกฮวบมาเกือบ 9 เปอร์เซ็นต์ในวันนี้ (25 ก.ย.) น้อยกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลกรณีข้อพิพาทเหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์ระหว่างจีนและญี่ปุ่น (ภาพเอเอฟพี)
รอยเตอร์ส/เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์--สื่อต่างชาติรายงาน (25 ก.ย.) สายการบินจากจีนและญี่ปุ่นถูกตัดและดีเลย์ เหตุจากข้อพิพาทเหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์ ในทะเลจีนตะวันออก และในวันเดียวกัน ตัวแทนฝ่ายจีนและญี่ปุ่นร่วมหารือกรณีข้อพิพาทเหนือเกาะฯ

สายการบินไชน่า อีสเทิร์น หนึ่งในสามสายการบินอันดับต้นๆ ของจีน เผยว่า เส้นทางการบินเซี่ยงไฮ้-เซนได ที่กำหนดให้เริ่มบินวันที่ 18 ต.ค.นี้ อาจถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารเบาบาง

โฆษกสายการบินไชน่า อีสเทิร์น ปฏิเสธที่จะตอบว่า เที่ยวบินที่ถูกเลื่อนออกไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ปะทุมากขึ้นระหว่างจีนและญี่ปุ่นหรือไม่ แต่เขาเตือนว่า สถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงกว่าเดิม

“ขณะนี้ สายการบินอื่นๆ ที่ไปญี่ปุ่น บินได้ตามปกติ แต่เราคาดว่าสายการบินเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบไปด้วย” โฆษกไชน่า อีสเทิร์น เขียนให้สัมภาษณ์ทางอีเมล์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส

ด้านบริษัทเจแปน แอร์ไลน์ จำกัด (JAL) กล่าวว่า ทางบริษัทอาจจะลดจำนวนเที่ยวบินไปจีนในแต่ละวันลง เหลือเพียง 3 - 10 เที่ยวบิน ซึ่งไม่รวมไปฮ่องกง นับตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. นอกจากนี้ ยังมีหนังสือพิมพ์นิคเคอิ ธุรกิจ รายวัน รายงานว่า JAL มีผู้ยกเลิกเที่ยวบินไปจีนแล้วถึง 12,000 ที่นั่ง ในระหว่างเดือนก.ย.และพ.ย. ซึ่งแบ่งเป็น บินออกจากญี่ปุ่น ยกเลิกแล้ว 5,500 ที่นั่ง และจากจีน 6,500 ที่นั่ง

นายเซจิ ทาคาโมโต้ โฆษก JAL กล่าวว่า “เที่ยวบินจีน-ญี่ปุ่นคิดเป็นมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของการขายเที่ยวบินนานาชาติ และกระทบต่อผลกำไรสุทธิของบริษัทฯ เล็กน้อย” เขายังกล่าวอีกว่า ปริมาณการจองใหม่นั้นลดลง และ JAL จะประเมินความต้องการในเดือนต.ค.นี้ จึงตัดสินใจว่าจะขยายการตัดเที่ยวบินไปถึงวันที่ 27 ต.ค.นี้หรือไม่

ออล นิปปอน แอร์เวย์ส (ANA) เผยว่า บริษัทฯ กำลังจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยโฆษก ANA กล่าวว่า “เรากำลังดำเนินการเท่าที่ทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยการตัดเที่ยวบิน แต่การประกาศตัดนั้นอาจเกิดได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับปริมาณการยกเลิกเที่ยวบิน”

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา หุ้นของไชน่า อีสเทิร์นที่จดทะเบียนในฮ่องกงนั้น ตกลง 1.6 เปอร์เซ็นต์ ผลกำไรการค้าหุ้นเทียบกับตลาดต่างประเทศชะลอตัวไป 0.7 เปอร์เซ็นต์

การเดินขบวนตามท้องถนนในเมืองใหญ่ของจีน ทำให้ห้างร้านบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในจีนต้องปิดกิจการชั่วคราว ส่งผลกระทบให้ราคาหุ้นของบริษัทญี่ปุ่นตกฮวบ
จัง จื้อจวิน รมว.ต่างประเทศจีน (ซ้าย) หารือร่วมกับ ชิคาโอะ คาวาย รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น (ขวา) เพื่อเจรจากรณีพิพาทเหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์ในทะเลจีนตะวันออก เมื่อวันที่ 25 ก.ย. (ภาพซินหวา)
จีน-ญี่ปุ่นเปิดการเจรจากรณีพิพาทเกาะฯ

สื่อจีนรายงาน ในวันนี้ (25 ก.ย.) นายจัง จื้อจวิน รมว.ต่างประเทศจีน เปิดประชุมหารือกับนายชิคาโอะ คาวาย รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น ในการเจรจาข้อพิพาทเหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์ ในกรุงปักกิ่ง

“จีนจะไม่ยอมให้ญี่ปุ่นกระทำการอยู่ฝ่ายเดียว ที่จะทำลายดินแดนอธิปไตยของจีน และญี่ปุ่นต้องทบทวนการกระทำของตนต่อกรณีซื้อเกาะฯ และให้ผู้นำของทั้งสองประเทศเข้าใจกัน ฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้มั่นคงแน่นแฟ้นดังเดิม” นายจังกล่าว

นอกจากนี้ จัง เรียกการซื้อเกาะเตี้ยวอี๋ว์ของรัฐบาลญี่ปุ่นว่าเป็น “การย่ำยีความจริงทางประวัติศาสตร์และระบบกฎหมายสากลที่ร้ายแรง”

ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายยังดำเนินการประชุมอยู่

นายยาซุฮิโกะ โอกุ ยามฝั่งญี่ปุ่นอ้างว่า พบเรือตรวจการณ์จีนหลายลำ แล่นเข้าไปในบริเวณน่านน้ำเกาะเตี้ยวอี๋ว์ รวมทั้งในเช้าวันนี้ มีเรือประมงไต้หวันกว่า 50 ลำ พร้อมด้วยเรือตรวจการณ์ไต้หวันอีก 10 ลำ แล่นเข้าไปบริเวณน่านน้ำเกาะพิพาท โดยไต้หวันอ้างกรรมสิทธิเหนือเกาะฯ และประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นกรณีซื้อเกาะฯ เช่นกัน

กระแสพิพาทกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ระหว่างจีนและญี่ปุน เริ่มคุกรุ่นขึ้นเมื่อญี่ปุนลงนามซื้อเกาะ 3 แห่งในบริเวณหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ที่มีทั้งหมด 5 เกาะ ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นขยายวงกว้างในหลายเมืองใหญ่ของจีน กินเวลากว่า 8 วัน จนเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา การประท้วงเริ่มคลี่คลาย

เกาะเตี้ยวอี๋ว์ตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก บริเวณน่านน้ำเกาะฯ เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญทางยุทธศาสตร์ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล

ฝ่ายจีนอ้างอธิปไตยเหนือเกาะฯ มาตั้งแต่ราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911) อย่างไรก็ตาม เกาะฯ ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในเวทีสากลว่า เป็นของญี่ปุ่นที่ได้ผนวกรวมเข้าไปในปีพ.ศ. 2438 ทำให้จีนและญี่ปุ่นพิพาทกรรมสิทธิเหนือเกาะฯ นี้มาจนถึงปัจจุบัน









กำลังโหลดความคิดเห็น