xs
xsm
sm
md
lg

ค่ายรถแบรนด์ยุ่นตัดการผลิตในจีน หวั่นเหตุประท้วงต่อต้านญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รถยนต์ยี่ห้อนิสสันคันหนึ่ง จอดบนถนนในเซี่ยงไฮ้ ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น (โตโยต้าและนิสสัน) จะตัดการผลิตในจีน ซึ่งเป็นผลกระทบจากความขัดแย้งกรณีพิพาทเหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ภาพเมื่อ 26 ก.ย. (ภาพเอเอฟพี)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์/เอเอฟพี--ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นจะตัดการผลิตในจีน เนื่องจากความต้องการรถยนต์ญี่ปุ่นลดฮวบ ซึ่งทำให้ตัวแทนจำหน่ายต้องปิดตัวและยอดขายซบเซาลง จากกรณีพิพาทเหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์

นิสสันมอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นในจีน กล่าวว่า บริษัทต้องระงับการผลิตในจีนชั่วคราว โดยโรงงานรถยนต์ส่วนบุคคลตงเฟิงในจีน ซึ่งเป็นโรงงานร่วมทุน จะหยุดการผลิตตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. - 7 ต.ค. โดยบริษัทได้ประเมินจากสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ในปัจจุบัน และเป็นวันหยุดเนื่องในวันชาติจีน (1 ต.ค.)

“โรงงานเราจะเริ่มการผลิตอีกครั้งในวันที่ 8 ต.ค. หลังจากนั้น เราจะยังคงติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างต่อเนื่อง” โฆษกนิสสันกล่าว

หนังสือพิมพ์นิกเกอิ ธุรกิจรายวัน รายงานว่า โตโยต้าวางแผนว่า โรงงานหลักที่มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ซึ่งผลิตรถยนต์ได้ถึง 30,000 คัน/เดือน จะหยุดการผลิตเป็นเวลา 8 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (26 ก.ย.) และหลังจากนั้น จะมีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาทำการให้เหลือเพียงแค่ 1 กะ

ด้านโฆษกโตโยต้ามิได้ให้ข้อมูลใดๆ ต่อเรื่องนี้ เพียงแต่ให้ข้อมูลว่า “บริษัทจะออกแถลงการณ์ในวันพุธนี้ และบริษัทในเครือของเราในจีนกำลังปรับเปลี่ยนการผลิตตามความต้องการของตลาด นั่นเป็นเพราะความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นและจีนกระทบยอดขายรถยนต์ของเรา”

พนักงานฮอนด้าคนหนึ่ง เผยว่า ยอดขายรถยนต์ในจีนได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากข้อพิพาทเกาะฯ ขณะเดียวกัน โรงงานของซูซูกิในจีน ได้ลดช่วงเวลาทำงานจาก 2 กะ เป็น 1 กะ

การลดจำนวนการผลิตถือเป็นเรื่องปกติของโรงงานรถยนต์ในตลาดอิ่มตัว อย่างสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องลดราคาสินค้าจนขาดกำไร แต่กรณีผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในจีนลดการผลิตนั้น ถือเป็นสิ่งผิดปกติในตลาดที่ขับเคลื่อนการเติบโตภาคอุตสาหกรรมของโลกกว่าทศวรรษ และผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ยังเพิ่มกำลังการผลิต จนกระทั่งเกิดการชะลอทางเศรษฐกิจของจีนใน 2 - 3 เดือนที่ผ่านมาซึ่งเป็นสาเหตุให้มีการผลิตเกินกว่ายอดขาย

นักบริหารและนักวิเคราะห์ต่างกล่าวกันว่า ความไม่พอใจชาติญี่ปุ่นอาจกระทบถึงความต้องการรถยนต์ญี่ปุ่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งของอื่นๆ ในช่วงที่การเติบโตที่ชะลอตัวในจีนทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้งหมดต้องรับภาระหนัก

หวัง ปิน นักวิเคราะห์จากธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริลล์ ลินช์ กล่าวว่า ผลการตรวจสอบกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในมณฑลก่วงตง ตั้งแต่มีการประท้วง แสดงให้เห็นว่า ยอดขายตกลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ยอดขายรถยนต์แบรนด์เยอรมัน อเมริกันและเกาหลีใต้นั้นกลับกระเตื้องขึ้น

“ตัวแทนจำหน่ายเชื่อว่า กระแสต่อต้านรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นอาจจะมีต่อเนื่องยาวนานกว่าช่วงที่เคยเกิดความขัดแย้งครั้งก่อนเมื่อเดือนต.ค.2553” หวังกล่าว

เมื่อปีที่ผ่านมา (2554) โตโยต้าขายรถยนต์ได้กว่า 900,000 คันในจีน มาในปีนี้ (2555) จึงตั้งเป้ายอดขายให้ได้ถึง 1 ล้านคัน และ 1.8 ล้านคันภายในปี 2558

ตามข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งชาติจีน ในเดือนส.ค.ที่ผ่านกมา ก่อนเกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่น ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นถือส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ส่วนบุคคลในจีนราว 19 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า (ส.ค.) ที่มีส่วนแบ่งถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ผลกระทบจากความขัดแย้งกรณีเกาะเตี้ยวอี๋ว์ แผ่ขยายไปยังส่วนต่างๆ รวมถึง การค้าระหว่างจีนและญี่ปุ่น สายการบินของจีนและญี่ปุ่นที่ต้องตัดลดจำนวนเที่ยวบินระหว่างสองประเทศ และการตรวจสอบสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นของด่านศุลกากรจีนที่คุมเข้มมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทของญี่ปุ่น อาทิ พานาโซนิค และฮอนด้า ต่างลดจำนวนการผลิตในโรงงานที่จีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะเกรงความปลอดภัยของพนักงานและโรงงาน แต่ขณะนี้บริษัทญี่ปุ่นบางแห่งกลับมาเปิดทำการปกติแล้ว เช่น พานาโซนิค ได้เปิดทำการโรงงานแห่งสุดท้ายหลังจากปิดไป 3 แห่ง เมื่อวานนี้ (25 ก.ย.)

ทั้งนี้ กระแสพิพาทกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ระหว่างจีนและญี่ปุน เริ่มคุกรุ่นขึ้นเมื่อญี่ปุนลงนามซื้อเกาะ 3 แห่งในบริเวณหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ ที่มีทั้งหมด 5 เกาะ ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นขยายวงกว้างในหลายเมืองใหญ่ของจีน กินเวลากว่า 8 วัน จนเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา การประท้วงเริ่มคลี่คลาย

เกาะเตี้ยวอี๋ว์ตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก บริเวณน่านน้ำเกาะฯ เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญทางยุทธศาสตร์ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล

ฝ่ายจีนอ้างอธิปไตยเหนือเกาะฯ มาตั้งแต่ราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911) อย่างไรก็ตาม เกาะฯ ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในเวทีสากลว่า เป็นของญี่ปุ่นที่ได้ผนวกรวมเข้าไปในปีพ.ศ. 2438 ทำให้จีนและญี่ปุ่นพิพาทกรรมสิทธิเหนือเกาะฯ นี้มาจนถึงปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น