ไชน่าเดลี - ค่าแรงขึ้น แต่ส่งออกได้น้อย บริษัทจีนต่างประสบปัญหารุมเร้าบีบเค้นให้ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าหน้าที่การค้าต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์จีนเผยว่า ขณะนี้ยังมีหลายกลุ่มบริษัทกำลังปรึกษากันอย่างตึงเครียดเรื่องการโยกย้ายฐานที่มั่น
เจ้าหน้าที่ฯ ผู้ไม่เผยนามกล่าวว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของบริษัทผู้ลิตสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า หมวก กำลังตกอยู่ในภาวะกดดัน และต่างตัดสินใจว่าจะย้ายฐานการผลิตทั้งหมดหรือบางส่วนออกไปทำการผลิตนอกจีน เจ้าหน้าที่ฯ เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า "ปรากฏการณ์ย้ายฐานอุตสาหกรรมครั้งใหญ่"
ประเทศที่หมายปลายทางที่บริษัทจีนเหล่านี้จะไปตั้งรกราก หนีไม่พ้นกลุ่มสมาชิกชาติอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ฯ ย้ำว่า การโยกย้ายครั้งนี้จะกลายเป็นกระแสที่ต่อเนื่อง ให้บริษัทผู้ผลิตที่เน้นแรงงานเป็นหลักต่างโยกย้ายตาม ๆ กันไป
นายเหลียง ซื่ออี๋ว์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ประจำสภาการพาณิชย์จีนเพื่อการส่งออกและนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เชื่อมั่นว่ากระแสการโยกย้ายนี้เกิดขึ้นจริง ผู้ผลิตจำนวนมากต่างย้ายทั้งหมดหรือบางส่วนของฐานการผลิตไปยังนอกประเทศ
ขณะที่เจ้าหน้าที่การค้าต่างประเทศฯ เผยว่า แม้ว่าการย้ายฐานจะส่งผลให้คนตกงานจำนวนหนึ่ง แต่ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ด้านบวก เพราะถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลจีนจะได้ยกระดับอำนาจด้านอุตสาหกรรมและเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเสียที แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีนฉบับที่ 12 เรียกร้องต้องการให้มีการผลิตสินค้าชั้นดีมากขึ้น
ผลดีอีกประการคือ ผู้ประกอบการส่งออกจะได้ปีกกล้าขาแข็ง มองเห็นโอกาสในการประคับประคองตัวให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติปัญหาทั้งภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดในตลาดส่งออกสินค้าจีนในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ขณะนี้อัตราค่าจ้างแรงงานจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 15 เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ในทุกปี ทำให้ผู้ประกอบการกำไรหด และส่งผลให้บางบริษัทถึงกับล้มละลายไปไม่รอด
ตัวเลขของกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมจีน จากเดือนก.ค. ถึงเดือนมิ.ย.ในปีนี้ อัตราค่าแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นโดยประมาณอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ใน 16 มณฑลของจีน ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในเซินเจิ้นขณะนี้อยู่ที่ 1,500 หยวนต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นสถิติสูงสุดบนแผ่นดินจีน
ขณะที่ชาติกำลังพัฒนาในอาเซียน ค่าแรงงานยังไม่สูงนัก สำหรับเวียดนามแรงงานเพื่อการผลิตมีค่าแรงต่อเดือนในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 600 หยวน ซึ่งเป็นค่าแรงเมื่อสิบปีที่แล้วในเขตตงกวน แหล่งการผลิตใหญ่บริเวณลุ่มแม่น้ำไข่มุกหรือจูเจียงของจีน
ประเทศในอาเซียนบางประเทศ ซึ่งรวมถึงเวียดนามด้วย ต่างขยายนโยบายยินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติในแผ่นดินตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจีน ขณะนี้ผู้ผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าอาภรณ์ต่างขนย้ายการผลิตจากเขตสามเหลี่ยมแม่น้ำไข่มุกไปยังชาติอาเซียนแล้ว
เซียว อี้ว์จิง ผู้จัดการบริษัทจงซานเหลียนเฉิง โค เผยว่า การจัดงานไชน่าอิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ตเมื่อครั้งที่ผ่านมา ไม่ช่วยให้บริษัทของเขามีลูกค้านานาชาติมารับซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นแต่ประการใด ผู้ซื้อต่างหันไปซื้อสินค้าจากกลุ่มชาติอาเซียนแทน ดังนั้นทำให้บริษัทจำต้องย้ายฐานไปยังอาเซียน เซียวชี้ว่า จะย้ายไปกัมพูชา เนื่องจากค่าแรงถูกกว่าถึงสี่เท่า
ปรากฏการณ์โยกย้ายครั้งนี้ไม่จำเพาะแต่บริษัทจีนเท่านั้น บรรษัทข้ามชาติที่ทำงานในจีนต่างก็หันหัวเบนหางย้ายออกไม่แพ้กัน อาดิดาสปิดโรงงานในซูโจว มณฑลเจียงซู ซึ่งมีแรงงาน 160 คน ขณะที่ไนกี้ปิดโรงงานรองเท้าในในซูโจวเมื่อสามปีที่แล้ว
นอกจากปัญหาค่าแรงงานสูง จะทำให้บริษัทประสบภาวะขาดทุนแล้ว ยังส่งผลให้การลงทุนทางตรงต่างประเทศในช่วงเดือนที่ผ่าน ๆ มาของจีนมาได้รับผลกระทบตกต่ำไปด้วย
ผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินสหรัฐฯ แคปิตัล บีซีเนส เครดิต เผยผลการสัมภาษณ์บริษัท 40 แห่งว่า พวกเขามีแผนการย้ายโรงงานออกจากจีนไปตั้งฐานในต่างแดน อาทิ เวียดนาม ปากีสถาน บังกลาเทศ และฟิลิปปินส์
นายหัว เจียงกั๋ว ผู้อำนวยการสำนักวิชาการจีนด้านความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผู้ใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์จีนเผยว่า การย้ายฐานไปยังชาติอาเซียนนั้นมีความชัดเจนและเข้าใจได้ จีนยังคงเป็นชาติที่ผู้ประกอบการต้องการมาลงทุนอยู่ เนื่องจากมีตลาดภายในที่ใหญ่ บรรยากาศการลงทุนดี ตลอดจนแรงงานฝีมือก็มีจำนวนมาก
หัวย้ำว่า ขณะนี้มีโรงงานกำลังย้ายฐานจากแถบเมืองชายทะเลของจีน เข้าสู่แถบตะวันตกของประเทศมากขึ้น อาทิ ซัมซุง ได้ประกาศทำธุรกรรมลงทุนระหว่างประเทศใหญ่สุดในปีนี้ว่าจะตั้งฐานที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซีของจีน
เฉิน เจียนผู้จัดการบริษัทสิ่งทอสาขาใหญ่ที่ฝัวซาน เผยว่า แรงงานราคาถูกในอาเซียนอีกไม่นานก็ต้องปรับแพงขึ้นเช่นเดียวกัน มันเป็นกระแสที่เคยเกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่ผ่านมา บรรดาบริษัทในฮ่องกงและไต้หวันต่างย้ายฐานมาตั้งแถบลุ่มน้ำจูเจียงกันเป็นทิวแถว เนื่องจากแรงงานราคาถูก แต่ตอนนี้ค่าแรงก็ปรับตัวแพงขึ้นเป็นวัฏจักร ไม่อาจหลีกเลี่ยง