เอเยนซี - ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนความขัดแย้งกรณีพิพาทหมู่เกาะเตี้ยวอี่ว์ ระหว่างจีนและญี่ปุ่นจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม พร้อมกล่าวว่า จีนจะเสียโอกาสในการรับรู้ แสดงความเห็นฯ หลังไม่ส่งผู้ว่าการธนาคารกลางเข้าร่วมการประชุมฯ
สื่อจีนรายงาน (11 ต.ค.) คำแถลงของนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ว่า จีนจะเสียโอกาสในการรับรู้ แสดงความเห็น รวมถึงคำชี้แนะเกี่ยวกับประเด็นสำคัญทางด้านการเงินการธนาคารต่างๆ จากการประชุมครั้งนี้ หลังไม่ส่งผู้ว่าการธนาคารกลางเข้าร่วมการประชุมไอเอ็มเอฟที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ
ก่อนหน้านี้ รายงานข่าว อ้างคำแถลงของนางคริสติน ลาการ์ด (10 ต.ค.) ว่า ทั้งจีนและญี่ปุ่นเป็นกำลังสำคัญที่โลกจะต้องพึ่งพา เพื่อฉุดดึงเศรษฐกิจให้พ้นจากวิกฤติ โดยความเห็นของคริสติน มีขึ้นหลังจากที่จีนงดส่งผู้บริหารระดับสูงมาร่วมประชุมฯ และหลังจากที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ลดตัวเลขคาดการเศรษฐกิจของทวีปเอเชียลงมาจากร้อยละ 6.9 ในเดือนเมษายน เป็น 6.1 ขณะเดียวกันก็เอดีบีก็ เตือนว่าการสภาพหนี้ของยุโรปยังคงหนักหนา เช่นเดียวกับการตัดงบประมาณของสหรัฐฯ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า กำลังส่งสัญญาณหายนะมายังเอเชีย ที่แม้คราวนี้ โลกจะยังไม่ถึงขั้นช็อก แต่ก็มีผลต่อการเคลื่อนไหลของทุนในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเตือนความขัดแย้งกรณีพิพาทหมู่เกาะเตี้ยวอี่ว์ ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 3 ของโลก จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม
เมื่อวานนี้ (10 ต.ค.) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงยืนยันว่า จีนจะไม่ส่งผู้ว่าการธนาคารกลางเข้าร่วมการประชุมไอเอ็มเอฟที่ประเทศญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ โดยญี่ปุ่นได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี มีเจ้าหน้าที่ทั่วโลกเดินทางเข้าประชุมราว 20,000 คน ซึ่งโดยธรรมเนียมแล้ว แต่ละชาติ รวมทั้งจีนจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดเป็นผู้นำคณะเข้าร่วมการประชุมสำคัญระดับนี้ แต่ครั้งนี้กลับส่งเพียงรองผู้ว่าการธนาคารกลาง และผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเท่านั้น อันเสมือนเป็นการประท้วง หลังความสัมพันธ์จีน - ญี่ปุ่น ตกต่ำลงจากการที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิโกะ โนดะ แถลงอย่างเป็นทางการว่ารัฐบาลได้ซื้อหมู่เกาะเซนกากุ (เตี้ยวอี่ว์) จากเอกชนผู้ถือสิทธิครอบครอง และรัฐบาลจีนได้ประท้วงด้วยการส่งเรือตรวจการณ์และเรือประมงเข้าไปยังน่านน้ำหมู่เกาะดังกล่าว
รายงานข่าวกล่าวว่า รัฐบาลทั้งสองได้ปล่อยให้กระแสชาตินิยมในประเทศลุกฮือขึ้นมาในช่วงเดือนก่อน ขณะที่ประชาชนจีนจำนวนหนึ่งได้บุกเข้าทำลายร้านค้าของชาวญี่ปุ่น และคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุด ผู้ผลิตยานยานพาหนะรายใหญ่ๆ เช่น โตโยต้า มอเตอร์ส ก็ต้องประสบปัญหายอดขายตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยรายงานเผยยอดจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าในจีนตกฮวบลงร้อยละ 40 เทียบกับปีก่อนหน้า โดยไฟแนนเชียลไทมส์ เผยว่า สัดส่วนตลาดรถยนต์ที่ญี่ปุ่นครองอยู่ร่วงจากร้อยละ 26.6 ในปี พ.ศ. 2552 มาเป็น ร้อยละ 22.8 ปล่อยให้ค่ายผลิตรถยนต์เยอรมนี แซงหน้าไปได้เป็นครั้งแรก
เช่นเดียวกับบริษัทเดินเรือญี่ปุ่น ที่รายงานว่าศุลกากรจีนได้หน่วงชะลอกระบวนการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น สายการบินญี่ปุ่นตัดลดเที่ยวบินไปจีน หลังการท่องเที่ยวจีนประกาศเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น จนทำให้ผู้โดยสารยกเลิกตั๋วไปหลายหมื่นคน นอกจากนี้ จีนยังเลื่อนการพบปะหารือการตั้งเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วย
สแตนดาร์ด แอนด์พัวร์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือฯ ได้เผยเมื่อวันพุธ (10 ต.ค.) ว่า ถ้าปัญหาการเมืองระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ทวีความตึงเครียดมากขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคของญี่ปุ่น และแน่นอนว่ากระทบต่อบรรดากิจการต่างๆ ของญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นและจีน เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก มีมูลค่าการค้าระหว่างกันราว 3.4 แสนล้านดอลลาร์ ต่อปี ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ลงทุนในจีนมากที่สุด ขณะที่จีนก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และยังเป็นเจ้าหนี้สาธารณะรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นด้วย ในมูลค่าถึง 2.3 แสนล้านดอลลาร์
เมื่อเดือนก่อน หลังจากที่เกิดการประท้วงญี่ปุ่นในจีน จนสร้างความเสียหายให้กิจการญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิโกะ โนดะ เตือนว่าการลงทุนของญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีน และถ้าหากมีความขัดแย้งบานปลาย จนทำให้มีการชะลอการลงทุนย่อมเสียหายต่อเศรษฐกิจจีน จนทำให้เกิดการโต้คารมกันช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีน นายหยัง เจี่ยฉือ แถลงต่อที่ประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่า ญี่ปุ่นได้ "ขโมย" หมู่เกาะเตี้ยวอี่ว์ ไปจากจีนในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น พ.ศ. 2438 และการถือครองสิทธิ นั้นขัดกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นการกระทำที่คุกคามอธิปไตยจีน
ด้าน คาซูโอะ โกดามะ ทูตฯ ญี่ปุ่น ก็ยืนยันว่า มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศที่ยืนยันชัดเจนว่าเป็นดินแดนของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมาก่อนสงคราม ในปี 2438 และเพิ่งจะมาในช่วง 30 กว่าปีมานี้เอง ที่จีนกับไต้หวันอ้างสิทธิ์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยอ้างสิทธิเหนือเกาะฯ นี้เลย
รายงานของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ระบุว่า สหรัฐฯ ไม่เคยยอมรับอธิปไตยของญี่ปุ่นเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ โดยสหรัฐฯ ยอมรับเพียงอำนาจของรัฐบาลญี่ปุ่นเหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์ หลังจากลงนามข้อตกลงแก้ไขโอกินาว่า (Okinawa Reversion Agreement) ในปี 2514 เพียงช่วงเดียวเท่านั้น และสหรัฐฯ ไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายความขัดแย้งพิพาทชิงน่านน้ำในทะเลจีนตะวันออกระหว่างจีนและญี่ปุ่น
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้แจงในระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ ขอเป็นกลางในปัญหาพิพาทหมู่เกาะระหว่างจีนและญี่ปุ่น แม้ว่าในประวัติศาสตร์รัฐบาลสหรัฐฯ เคยเป็นผู้คืนเกาะเหล่านี้ให้แก่ญี่ปุ่นไปแล้วก็ตาม โดยยืนยันว่า การส่งคืนอำนาจการปกครองเกาะให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่นนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์เหนือเกาะของทุกฝ่ายในขณะนี้
รายงานข่าวกล่าวว่า ในระบบทุนนิยมนี้ หากการพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจของจีนและญี่ปุ่น หากไม่สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งหมู่เกาะฯ พร้อมๆ กับที่สภาพหนี้ของยุโรปยังคงหนักหนา และในต้นปีหน้า สหรัฐฯ ยังจะต้องตัดงบประมาณมหาศาลอีก ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอน เช่นเดียวกับอดีต “มหาวิกฤตเศรษฐกิจ” (The Great Depression) ที่เริ่มจากตลาดหุ้นวอลสตรีทแตก ก่อนที่จะลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจจริงจนทำให้จีดีพีหดตัวถึงร้อยละ 30 และบานปลายข้ามทวีปไปทุกประเทศทั่วโลก